ลูกไม่เชื่อฟัง กรีดร้อง โวยวาย พูดคำหยาบ.. คุณอาจจะคิดว่าลูกตั้งใจอาละวาดและทำพฤติกรรมเหล่านี้เพื่อพยายามทำให้คุณเป็นบ้า แต่จริงๆแล้วพฤติกรรมเหล่านี้อาจหมายความว่ามีบางสิ่งกำลังรบกวนจิตใจพวกเขาอยู่ ดังนั้นก่อนอื่น พ่อแม่ต้องตั้งสติเพื่อให้รู้ก่อนว่าอะไรเป็นสาเหตุของพฤติกรรมเหล่านั้น
เรามาดูกันว่า 5 สาเหตุหลักที่ให้ลูกไม่เชื่อฟัง และแสดงพฤติกรรมไม่ดี มีอะไรบ้าง

- ลูกถูกกระตุ้นโดยสภาพแวดล้อมมากเกินไปหรือเปล่า?
การที่ลูกแสดงพฤติกรรมบางอย่างไม่ว่าจะการกรีดร้อง กระทืบเท้า อาจเป็นการบ่งบอกว่าพวกเขาไม่รู้จะตอบสนองต่อสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมอย่างไร เช่น ความรู้สึกไม่สบายตัวจากอากาศที่ร้อน-เย็นเกินไป เสียงดังเกินไป แสงจ้าเกินไป หรืออาจจะยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เวลาครอบครัวใหญ่อยู่กันพร้อมหน้า มีทั้งเสียงพูดคุย เสียงทีวี เสียงวิ่งเล่นกัน ซึ่งเป็นการรบกวนลูก ดังนั้นแนะนำให้พ่อแม่อาจลองแยกให้ลูกเปลี่ยนห้องที่รู้สึกว่าสบายขึ้น เงียบขึ้น ก็จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ไปได้
- ลูกกำลังหิว ง่วง เหนื่อยล้า หรือว่าป่วย
เมื่อยังเด็ก ลูกจะไม่รู้หรอกว่าเวลาไหนเป็นเวลากิน เวลานอน พ่อแม่ก็เปรียบเสมือนนาฬิกาที่คอยบอกพวกเขาว่าถึงเวลาแล้ว เพราะฉะนั้น ลูกก็จะไม่มาคอยบอกคุณหรอกว่าพวกเขาเหนื่อยแล้ว ต้องการนอน หรือว่าพวกเขารู้สึกว่าป่วย แต่อาจจะแสดงออกมาในรูปแบบของการพูดจาแย่ๆ หรืออารมณ์ไม่ดีใส่คุณก็เป็นได้ ดังนั้น หากลูกต่อต้านเวลาที่คุณเรียกกินข้าว อยากให้คุณสังเกตดูว่าเป็นเพราะว่าเขาป่วย หรือเมื่อคืนเขานอนดึกเลยเหนื่อยและเพลียอยู่หรือเปล่า ถ้าใช่คุณก็แค่ต้องเข้าไปคุยกับเขาดีๆ ว่าลูกเพลียใช่ไหม ถ้าอย่างนั้น เดี๋ยวกินข้าวเรียบร้อยแล้ว ค่อยงีบนะจ๊ะ การพูดจากันดีๆแบบนี้จะช่วยให้ลูกสงบลง และกลับมาทำตามที่พ่อแม่บอก

- ลูกรู้สึกไม่มั่นคง ไม่ปลอดภัย
หากลูกของคุณมีพฤติกรรมที่คุณเองก็อธิบายไม่ได้ เช่น อยู่ดีๆ ก็ร้องไห้ เตะหรือตีอย่างบ้าคลั่ง สิ่งแรกที่ต้องทำคือการทำให้เขาสงบลงก่อน แล้วค่อยๆหาสาเหตุว่าทำไมลูกถึงทำเช่นนั้น เมื่อลูกอยู่ในอาการสงบ ให้พ่อแม่ค่อยๆคุยกับลูก ถึงความรู้สึกของพวกเขา คุณอาจจะได้คำตอบที่คาดไม่ถึง เช่น ลูกรู้สึกว่าตัวเองโง่ที่สุดในห้อง เพราะว่าตอบคำตอบวิชาเลขผิด และเมื่อคุณรู้ปัญหาแล้ว ก็ค่อยไปจัดการที่ต้นตอ
- ลูกไม่สามารถสื่อสารออกมาเป็นคำพูดได้
บางครั้งพฤติกรรมของเด็กอาจเกิดจากการที่พวกเขาไม่สามารถอธิบายปัญหาของเขาออกมาเป็นคำพูดได้ ดังนั้น คุณอาจจะเป็นฝ่ายเริ่ม โดยการถามคำถามก่อน เช่น ลูกจะมีปัญหาทุกครั้งที่คุณคุยโทรศัพท์ คุณอาจจะถามลูกว่า “เบื่อหรือคะลูก อยากให้แม่เล่นด้วยใช่มั้ย?” และให้คำอธิบายกับลูก ว่าทำไมคุณถึงต้องคุยโทรศัพท์ และครั้งต่อไปที่จะคุยโทรศัพท์ คุณอาจจะหากิจกรรมให้ลูกทำไปพลางๆ ก็ได้เช่นกัน หรือถ้าหากลูกมีพฤติกรรมที่น่าเป็นห่วง เช่น ลูกเลียพื้น คุณก็อาจจะต้องคุยกับลูกด้วยเหตุผล ว่าการเลียพื้นมันสกปรก และจะทำให้ลูกป่วยได้ นอกจากการถามคำถามและอธิบาย การแก้ปัญหาข้อนี้อีกวิธีหนึ่ง คือการฝึกทักษะทางด้านการสื่อสารให้กับลูก เพื่อให้เขาสามารถพูดสิ่งที่คิดออกมาได้

- ความเครียดของคุณ ทำให้ลูกเครียดด้วยเช่นกัน
การที่เด็กรับรู้สถานการณ์ความเครียดของผู้ใหญ่ และพวกเขาไม่สามารถทำอะไรกับมันได้ จะทำให้พวกเขาเครียดและแสดงพฤติกรรมไม่ดีออกมา เช่น เมื่อรู้ว่าคุณย่าป่วยหนักและนอนอยู่ที่โรงพยาบาล ลูกก็จะเริ่มวิตกกังวลและแปรเปลี่ยนออกมาเป็นความก้าวร้าวได้ ดังนั้น วิธีแก้ไขเรื่องนี้คือ หากต้องพูดคุยเรื่องเกี่ยวกับคุณย่า ก็ไม่ควรพูดให้ลูกได้ยิน หรือการเสนอให้ลูกสามารถช่วยเหลือเรื่องเล็กๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นการอบขนมไปเยี่ยมคุณย่า หรือว่าให้ช่วยแบ่งเบาภาระบางอย่าง ก็จะช่วยลดความวิตกกังวลได้ในระดับหนึ่ง และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นไปอีก พ่อแม่ควรสอนวิธีรับมือกับความเครียดที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต จะช่วยค่อยๆฝึกให้เด็กสามารถจัดการปัญหาต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้น
Credit : Parents.com
Image Credit : Pexels (Anna Shvets, Mohamed)