Home > Education > 5 สิ่งที่คุณทำได้ทุกวันเพื่อพัฒนาทักษะ STEM ให้ลูกรัก

นอกจากการอ่านออกเขียนได้แล้ว อีกหนึ่งทักษะที่พ่อแม่ควรจะปลูกฝังให้ลูกตั้งแต่ยังเด็กหากอยากให้ลูกรักประสบความสำเร็จเรื่องการเรียนและการใช้ชีวิตในภายหลังคือ STEM ซึ่งก็คือความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ (science) เทคโนโลยี (technology) วิศวกรรม (engineering) และคณิตศาสตร์​ (mathematics) นั่นเอง …ฟังดูอาจเหมือนแอดวานซ์ไปหน่อยที่จะสอนพื้นฐานของ 4 ศาสตร์นี้ให้ลูกตั้งแต่วัยเตาะแตะ แต่อย่าลืมว่าเด็กๆ นั้นมีความอยากรู้อยากเห็นและพร้อมสำรวจสิ่งใหม่ๆ เป็นทุนเดิม จึงไม่ใช่เรื่องยากอะไรที่พ่อแม่จะเริ่มปลูกฝังทักษะนี้ให้เขาได้ในทุกวัน

.

1. ฝึกเด็กๆ ให้ช่างสังเกต

กระตุ้นให้ลูกลองหัดสังเกตสิ่งรอบตัว เช่น อุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ดอกไม้ที่เปลี่ยนสี วิธีที่สิ่งต่างๆ เคลื่อนไหวเมื่อต้องลม จากนั้นแป่งปันสิ่งที่คุณสังเกตเห็นกับเด็กๆ โดยสอดแทรกคำอย่างเช่น สังเกต เฝ้าดู จับตามอง พบ เจอ ที่สะท้อนถึงการสังเกตการณ์ลงไปด้วยในบทสนทนา ความสามารถในการสังเกตนี้คือกระบวนการขั้นพื้นฐานที่สุดทางวิทยาศาสตร์นั่นเอง ก่อนนำไปสู่การตั้งสมมติฐานและรวบรวมข้อมูลจากการสังเกตการณ์ ซึ่งเมื่อได้ฝึกบ่อยๆ เด็กๆ จะเริ่มขยับจากการสังเกตสิ่งรอบตัวทั่วไป ไปสู่สิ่งที่มีรายละเอียดในเชิงวิทยาศาสตร์มากยิ่งขึ้น

.

2. กระตุ้นให้เด็กๆ อธิบายถึงสิ่งที่พวกเขาเห็นและทำ

ซักถามลูกให้บรรยายหรืออธิบายถึงสิ่งที่เขาเห็นหรือทำ เช่น ถ้าเขาเห็นเต่า ให้ถามเขาว่า เต่าสีอะไรรูปร่างเป็นอย่างไร ตัวใหญ่แค่ไหนหรือเวลาที่ลูกสร้างอะไรขึ้นมาสักอย่าง เช่น ต่อเลโก้หรือปั้นดินน้ำมัน ควรขอให้เขาอธิบายว่าเขากำลังทำอะไรอยู่ จากนั้นก็พูดทวนซ้ำสิ่งที่เขาเพิ่งบอกโดยใช้ศัพท์แสงที่หลากหลายและกว้างขึ้นเพื่อเพิ่มศัพท์ในคลังคำของเขาและสร้างความมั่นใจในการใช้ภาษาของเขาให้มากขึ้นด้วย

.

3. ถามว่า “อะไร” แทนที่จะเป็น “ทำไม

ถามคำถามที่มุ่งเน้นไปว่าลูกของคุณได้เห็นหรือทำอะไรแทนที่จะถามว่า “ทำไม” เพราะนั่นจะทำให้เด็กๆ มั่นใจที่จะตอบคำถามและรู้สึกได้ถึงความสำเร็จ ลองคิดดูสิว่า “เกิดอะไรขึ้นกับฟองสบู่” นั้นตอบง่ายกว่า “ทำไมฟองสบู่ถึงติดกัน” มากแค่ไหน และจะช่วยเปิดทางให้คุณกับลูกคุยกันต่อในเรื่องนี้ได้ เพราะเป้าหมายคือการต่อยอดบทสนทนาและนำไปสู่การเรียนรู้แทนที่จะเป็นการถามคำถามที่ปิดประตูใส่หน้าเพราะตอบไม่ได้ การหาคำตอบให้ “ทำไม” นั้นจะเกิดขึ้นได้ในภายหลังก็ต่อเมื่อเริ่มคุยด้วยคำถามที่ลูกตอบได้อย่างมั่นใจมากกว่า

.

4. นับเลขเป็นนั้นยังไม่พอ

ถ้าลูกนับเลขได้เจื้อยแจ้วแต่ไม่เข้าใจว่าตัวเลขแต่ละตัวนั้นแทนจำนวนของเป็นชิ้นๆ ได้ ถือว่ายังไม่พอ ซึ่งพ่อแม่สามารถช่วยพัฒนาเรื่องนี้ได้ด้วยการถามพวกเขา เช่น วันนี้ไปช้อปปิ้งมา ซื้อของมากี่ถุง หรือมีจดหมายกี่ฉบับในตู้จดหมาย อีกหนึ่งวิธีที่สนุกขึ้นคือการเล่นเกมกระดานที่ต้องทอดลูกเต๋าแล้วนับช่องเดินไปตามจำนวนที่ทอดได้ ซึ่งนอกจากจะสอนให้ลูกเข้าใจการนับจำนวนแล้ว ยังเป็นการละเล่นที่สนุกกันได้ทั้งบ้านด้วย

.

5. ส่งเสริมให้เด็กๆ คิดเรื่อง “พื้นที่” รอบตัวเขา

ชี้ชวนให้ลูกลองคิดว่าเขาอยู่ตรงไหนในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ถ้าพวกคุณกำลังดูแผนที่ของสวนสัตว์อยู่ ลองถามเขาว่าตอนนี้พวกคุณอยู่ตรงไหนแทนที่จะถามถึงบ่อฮิปโปหรือกรงลิงเท่านั้น หรือเวลาขับรถไปเรียนขี่ม้า ก็ลองให้เขาบอกทางว่าจะไปถึงที่นั่นได้อย่างไรหรือถ้าคุณไปที่ไหนเป็นประจำ เช่น บ้านคุณตาคุณยาย ลองให้เด็กๆ จำสถานที่ที่สามารถยึดเป็นแลนด์มาร์กได้ เช่นห้างสรรพสินค้าหรือปั๊มน้ำมัน และลองทดสอบว่าลูกสามารถจดจำบ้านของตัวเองจากรูปถ่ายที่ถ่ายจากถนนได้ไหม หรือลองให้เขาอธิบายว่าห้องนอนของเขาอยู่ตรงส่วนของบ้านเมื่อเดินไปจากห้องครัว

………………………………………………………………………………………………

www.gettyimage.com , www.pixabay.com

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.