Home > Education > 5 หนังสือแนะนำสำหรับผู้(ต้องการ)พิชิตวิชาคณิตศาสตร์

ใครๆก็อาจคิดว่าอัจฉริยภาพด้านคณิตศาสตร์ควรมาจากการเคี่ยวกรำทำโจทย์โดยใช้ลูกคิดตามสไตล์สถาบันคุมง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ความสามารถด้านตัวเลขก็สามารถเริ่มต้นจากการอ่านได้เช่นกัน เริ่มกันที่ ชรูติ โคธารี (Shruti Kothari) ศิษย์เก่าโรงเรียนบางกอกพัฒนาเป็นแชมป์เหรียญทองในการแข่งขันคณิตศาสตร์ United Kingdom Mathematics Trust (UKMT) 7 สมัยซ้อน ตั้งแต่ปี 2003–2010 และมีทักษะวิชาเคมีในระดับ 1 ใน 10 ของประเทศไทย อีกทั้งยังเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยในเครือ Ivy League สาขาวิชาคณิตศาสตร์อีก แน่นอนว่าทักษะทางด้านตัวเลขของเธอย่อมอยู่ในระดับยอดเยี่ยม แต่น้อยคนที่จะรู้ว่า เธอเก่งเลขเพราะเธอเป็นคนชอบอ่านชอบเขียนนี่เอง

ชรูติ โคธารี ศิษย์เก่าโรงเรียนบางกอกพัฒนาและมหาวิทยาลัยบราวน์

“การอ่านเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมฉันถึงได้เก่งเลขค่ะ” ชรูติกล่าว “เพราะการอ่าน ทำให้ฉันสามารถมองภาพเรื่องราวออกตั้งแต่ต้นจนจบ”

ปัจจุบัน ชรูติ ในวัย 27 ปี ถือครองปริญญาตรีสองใบในสาขาคณิตศาสตร์และวิชาคลาสสิค จากมหาวิทยาลัยบราวน์ (Brown University) และยังได้รับปริญญาโทอีกหนึ่งใบในปี 2017 ทางด้านวรรณคดี สาขาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ (Masters of Letters in Creative Writing) จากมหาวิทยาลัยเซนต์แอนดรูว์ (St. Andrews) ในสก็อตแลนด์ ทุกวันนี้เธอทำงานสอนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ควบคู่ไปกับการเป็นนักข่าว ชรูติมีเรื่องมากมายที่อยากจะพูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ที่คิดว่าภาษาอังกฤษเป็นเพียงวิชาเสริม ‘ทักษะ’ ซึ่งสำคัญสำหรับการพูดคุยกับชาวต่างชาติและการทำคะแนน SAT ให้ดีเท่านั้น แต่เธอเชื่อว่า จะวิชาเลขหรือภาษา “ทั้งสองวิชาแทบจะไม่ต่างกันเลย”

“คณิตศาสตร์ก็คือภาษาแขนงหนึ่ง เหมือนกับภาษาอังกฤษ” ชรูติกล่าว “ยิ่งสามารถใช้ภาษาที่ว่าได้อย่างคล่องแคล่วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งพิสูจน์สิ่งต่างๆ ได้มากขึ้น แก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น วางแผนงานหรือเขียนโปรแกรมได้ดียิ่งขึ้น เช่นเดียวกันกับภาษาอังกฤษ เพราะการที่คุณสามารถควบคุมการเขียนของตัวเองได้ จะทำให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจและเห็นภาพเกี่ยวกับเรื่องที่คุณเขียนได้”

กุญแจสำคัญคือการทำความเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างโครงสร้าง รายละเอียด และเข้าใจผู้อ่านให้ได้เสียก่อน

“ในการพิสูจน์ของคณิตศาสตร์มักมีโครงสร้างอยู่ โดยเฉพาะเมื่อข้อพิสูจน์ของคุณยากขึ้นเรื่อยๆ” ชรูติกล่าว “คุณจำเป็นจะต้องมีพื้นฐานความรู้ที่แน่นพอ ไม่ใช่แค่เพื่อให้ผู้อ่านสามารถตามติดข้อพิสูจน์ได้ แต่เพื่อให้คุณแน่ใจว่าจะไม่มีช่องโหว่ด้วย ทักษะไวยากรณ์ภาษาอังกฤษนี่แหละซึ่งมีส่วนช่วยให้ทักษะไวยากรณ์คณิตศาสตร์ของฉันดีขึ้น”

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่า การอ่านไม่ใช่เพียงสิ่งเดียวที่ช่วยเสริมสร้างทักษะดังกล่าว เพราะเกมส์หรือปริศนาอย่าง ตัวต่อเลโก้ หรือ ซูโดคุ ก็ได้รับการออกแบบมาให้เด็กได้พัฒนาทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ เพราะเป็นการบังคับให้ต้องคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลเพื่อเอาชนะโจทย์ยากๆ ในทางอ้อม

 

และอีกหนึ่งสาวเก่ง ดร. ณัฏฐ์ภัทร์ ชาญเชาวน์กุล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนามนุษย์ (Human Development) และจิตวิทยา (Psychology) จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอส แองเจลิส ได้กล่าวว่า การอ่านและเขียน โดยเฉพาะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ เป็นทักษะสำคัญที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เมื่อคิดถึงการศึกษาของลูกๆ

ดร. ณัฏฐ์ภัทร์ ชาญเชาวน์กุล ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการพัฒนามนุษย์ และจิตวิทยา

นอกเหนือจากการพัฒนาทางด้านภาษาแล้ว การอ่านและการเขียนยังช่วยให้เด็กๆ ได้รู้จักการตระหนักถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ การทำงานภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด และการตระหนักถึงข้อเท็จจริงที่ว่า การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ สามารถมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ได้อย่างมหาศาล” แน่นอนว่า ผู้ที่เป็นนักเขียนย่อมรู้ดีถึงความสำคัญของการใส่เครื่องหมายลูกน้ำคั่นในประโยค เช่นวลีที่ว่า “let’s eat, grandpa.” ที่หมายถึง “ทานข้าวกันเถอะค่ะ คุณตา” (แต่ถ้าหากใส่เครื่องหมายวรรคตอนผิดที่ก็จะกลายเป็น “let’s eat grandpa” ที่หมายถึง “ทานคุณตากันเถอะค่ะ” แทน)

ท้ายที่สุดแล้ว ทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องของการสื่อสารนั่นเอง “แม้กระทั่งในวิทยาศาสตร์ ภาระงานอันหนักหน่วงครึ่งหนึ่งก็คือการเขียนบันทึกการทดลอง” ชรูติกล่าว “ถ้าคุณไม่สามารถเขียนรายงานที่ดีได้ การทดลองของคุณจะมีความหมายอะไร เพราะถ้าหากการทดลองคือการพิสูจน์อะไรบางอย่าง และไม่ว่าจะสามารถพิสูจน์ได้หรือไม่ก็ตาม คุณจำเป็นที่จะต้องรายงานผลการทดลองนั้นๆ ด้วย ซึ่งถ้าหากไม่สามารถสื่อสารผลลัพธ์นั้นออกมาได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ มันก็ไม่มีความหมายอะไรทั้งนั้น”

ถ้าหากคุณผู้ปกครองกำลังมองหาหนทางในการเพิ่มพูนทักษะการอ่านเขียนของบุตรหลานแล้วล่ะก็ ควรเริ่มต้นจากการอ่านเป็นอันดับแรก ซึ่งทางเราก็มีรายการหนังสือแนะนำทั้งหมด 5 เล่ม ที่เหมาะสำหรับให้คุณพ่อคุณแม่และน้องๆ ได้อ่านไปพร้อมกัน และยังสามารถถกประเด็นกันในระหว่างมื้อค่ำได้อีกด้วย

 

  1. For One More Day โดย Mitch Albom

ชีวิตของ ชาร์ลี เบเน็ตโต ได้พังทลายลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่พ่อของเขาหันหลังให้กับครอบครัวและจากไป เขารู้สึกว่าพอแล้วกับชีวิต ทั้งโดนลูกสาวกีดกันออกจากชีวิตในครอบครัว ทั้งปัญหาเสพติดสุรา ยิ่งไปกว่านั้นก็ยังตกงานอีก

ด้วยความที่ไม่มีอะไรจะเสีย ชาร์ลีจึงกลับไปเยี่ยมเยียนบ้านเก่าของเขา แล้วพบว่าแม่ผู้เสียชีวิตไปแล้วของเขาให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ชาร์ลีก้าวเข้าไปในบ้าน และได้กลับมาใช้ชีวิตในช่วงเวลาหนึ่งวันกับแม่ที่รักผู้จากไป ในช่วงเวลาหนึ่งวันนั้น ชาร์ลีได้ค้นพบกับเรื่องราวที่จะทำให้เขาต้องกลับมาคิดทบทวนถึงความสัมพันธ์ระหว่างพ่อและแม่ และเหตุผลที่ว่าทำไมชีวิตของเขาถึงได้ดิ่งลงเหวเช่นนี้

  1. Stitches โดย David Small

เมื่อสมอลล์อายุได้ 14 ปี เขาได้เข้ารับการผ่าตัดที่เอาเนื้อร้ายรวมถึงเส้นเสียงออกไป เนื่องจากได้รับสารกัมมันตภาพรังสีอย่างต่อเนื่องจากงานของพ่อ ผู้ประกอบอาชีพเป็นรังสีแพทย์ ในขณะที่สมอลล์ค่อยๆ เปิดเผยเรื่องราวในวัยเด็กอันระทมทุกข์อย่างหมดเปลือกในงานเขียนบันทึกประสบการณ์ชีวิตของเขาเล่มนี้ ผู้อ่านก็จะเกิดการตั้งคำถามในใจถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว และหนทางที่พวกเขาใฝ่หาเพื่อหลบลี้จากโลกภายนอก

  1. The Joy Luck Club โดย Amy Tan

เมืองซานฟรานซิสโก ปลายปี 1980 ในช่วงเวลาสี่เดือนหลังจากที่แม่ของจูนจากไป เธอได้รับการขอร้องให้มาแทนที่ของแม่ในวงไพ่นกกระจอก ที่ซึ่งแม่ของเธอได้เข้าร่วมมาเป็นเวลาสี่สิบปี ในวงไพ่ที่รายล้อมไปด้วยเพื่อนชาวจีนของแม่ จูนได้ค้นพบว่าครั้งหนึ่งแม่ของเธอได้แต่งงานกับนายพลจากพรรคก๊กมินตั๋ง และถูกบีบบังคับให้ต้องออกจากเมืองในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง แล้วความสิ้นหวังก็ทำให้เธอต้องทิ้งลูกสาวฝาแฝดสองคนไว้เบื้องหลัง

ในเล่มนี้ กลุ่มคุณแม่ชาวจีนและลูกสาวสัญชาติอเมริกันจะค่อยๆ ได้เรียนรู้ที่จะเข้าใจ และยอมรับกันและกัน

  1. Highly Illogical Behavior โดย John Corey Whaley

ลิซ่าต้องการเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในหลักสูตรจิตวิทยาที่ดีเป็นอันดับสอง (เธอพยายามไม่หวังสูงเกินไป) ท่ามกลางการแข่งขันนั้น เธอจะทำให้ตัวเองโดดเด่นขึ้นมาได้อย่างไร

คำตอบของเธออยู่ที่ โซโลมอน เด็กชายวัย 16 ปี ผู้เป็นโรคกลัวผู้คน และสามารถอยู่กับบ้านโดยไม่ต้องออกไปไหนเลยได้อย่างสบายๆ ถ้าเพียงแต่ลิซ่าจะสามารถ “รักษา” โรคนั้นของเขาได้ เธอก็จะได้รับตั๋วเที่ยวเดียวไปมหาวิทยาลัยในฝันอย่างแน่นอน

  1. The Number Devil โดย Hans Magnus Enzensberger

โรเบิร์ตเกลียดวิชาเลข จนกระทั่งได้พบกับเจ้าปิศาจตัวเลข ผู้แนะนำให้เขาได้รู้จักกับโลกแห่งทฤษฎีทางคณิตศาสตร์ ลำดับฟีโบนัชชี และตัวเลขที่ปรากฏอยู่ในรูปสามเหลี่ยม ไม่ว่าทักษะทางคณิตศาสตร์ของคุณอยู่ในระดับไหน เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ คุณจะได้รับความเพลิดเพลินไปกับการหาผลลัพธ์และตัวเลขเศษส่วนอย่างแน่นอน

 

นอกเหนือจากการอ่านแล้ว หากคุณพ่อคุณแม่สนใจให้ลูกได้พัฒนาทักษะการเขียนมากขึ้น เดือนธันวาคมนี้ ทางบริษัทคริมสัน เอ็ดดูเคชั่นและคุณชรูติจะเริ่มสอนวิชาการเขียนเชิงสร้างสรรค์ในภาษาอังกฤษ เพื่อพัฒนาทักษะการเล่าเรื่องและฝึกกระบวนการทางความคิดของนักเขียนวัยเยาว์ หากสนใจเรียน ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Creative Writing: Storytelling หรือติดต่อคริมสัน เอ็ดดูเคชั่น 092 912 1717 ค่ะ

 

………………..
เครดิต: บริษัท คริมสัน เอ็ดดูเคชั่น https://www.crimsoneducation.org/th-en
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.