Home > Education > Universities > 5 ปีแห่งการก่อตั้งหลักสูตรแพทย์นานาชาติ

คณะแพทยศาสตร์นานาชาติ แห่งสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า นับเป็นคณะแพทยศาสตร์ที่มีความเป็นนานาชาติแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งเมื่อแรกเปิดสร้างความแปลกใหม่ให้แก่วงการศึกษาไทย เพราะเป็นการเพิ่มทางเลือกแก่นักเรียนที่จบจากโรงเรียนนานาชาติในไทยให้มากขึ้น 

สำหรับเรื่องนี้ ศ.นพ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร คณบดีคณะแพทยศาสตร์นานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) บอกกับ HELLO! ถึงเรื่องดังกล่าวว่า 

“เหตุผลที่ก่อตั้งหลักสูตรนี้ เพื่อรองรับเด็กที่จบจากโรงเรียนนานาชาติก็ใช่ แต่ผมคิดว่าจริงๆแล้ววิชาแพทย์เป็น Global Profession การเรียนการสอนต้องใช้ศัพท์แสงเฉพาะที่เป็นภาษาอังกฤษอยู่แล้ว แต่การเปิดโรงเรียนแพทย์นานาชาติไม่ใช่แค่เรื่องของภาษา เราต้องสอนเรื่องอื่นด้วย เช่น Global Culture หรือวิธีคิดแบบนานาชาติ แล้วก็เรื่องของมาตรฐานสากล เพราะถึงแม้ว่าวิชาชีพแพทย์จะเป็นวิชาชีพที่เป็นสากล ก็อาจมีบริบททางวัฒนธรรมที่ต่างกันไป เราอยากให้นักเรียนแพทย์ของเราเข้าใจความแตกต่างของสิ่งเหล่านี้”

สร้างหมอนักวิจัย  

วัตถุประสงค์อีกอย่างของการก่อตั้งคณะนี้ขึ้นมา ก็คือการสร้างแพทย์ที่เป็นนักวิจัย  

บรรยากาศการเรียนก่อนยุคโควิด

“หลักสูตรแพทย์ทั่วไปกับของเราเป็นหลักสูตร 6 ปีเหมือนกันก็จริง แต่ตอนที่เราพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้เป็น Outcome Based Curriculum เป็นการออกแบบหลักสูตรโดยกำหนดลักษณะของบัณฑิตของเราไว้ 4 ข้อด้วยกัน 

“ข้อแรกคือความเป็นแพทย์ ตามที่แพทยสภากำหนด ข้อสอง ความสามารถด้านการวิจัย ข้อสาม เพิ่ม Soft Skill ที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การมีวิจารณญาณ การสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ เป็นต้น และสุดท้าย คือความเป็นสากล เข้าใจบริบทของสังคมโลก เข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม         

“ในเรื่องของการวิจัย ปีแรกเราจะให้เด็กปี 1 เรียนวิชาทั่วไปเป็นหลัก ปีที่ 2-3 เป็น Pre-Clinical ส่วนปีที่ 4 เราจะให้นักเรียนทำวิจัยเป็นหลัก จะดูแลคนไข้ที่เป็นผู้ป่วยนอก ซึ่งต่างจากที่อื่นซึ่งนักเรียนจะดูคนไข้บนวอร์ด ส่วนปีที่ 5-6 จะดูแลคนไข้ในวอร์ด และต้องทำวิทยานิพนธ์เพื่อใช้ประกอบการจบหลักสูตร” 

นักเรียนแพทย์ขณะกำลังคร่ำเคร่งกับการทดลองและวิจัย

เหตุผลที่ทางสจล.เน้นการทำวิจัย เนื่องจากที่ผ่านมาประเทศไทยเป็นประเทศที่มีชื่อเสียงเรื่องการแพทย์ 

“เราพูดถึงการที่ประเทศไทยจะเป็น Medical Hub ตลอดเวลา แต่ทั้งหมดเป็นเรื่องของการบริการ แต่ถ้าดูเทคโนโลยีเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งหมด เราแข่งกันว่าใครจะซื้อเทคโนโลยีมาใข้ได้ก่อนกัน ใครได้มาก็โฆษณาว่าเป็นแห่งแรกในประเทศ แต่จริงๆเป็นการสูญเสียอย่างมาก 

“ซึ่งปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราไม่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี แต่อยู่ที่วิธีคิด และระบบการจัดการมากกว่า และที่จริงเวลาเราวินิจฉัยผู้ป่วย ควรใช้วิธีคิดแบบนักวิจัย คือมีการตั้งสมมติฐาน และหาข้อมูลมาดูว่าการวินิจฉัยนั้นถูกต้องหรือไม่มากกว่า และเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ 

“โรงเรียนแพทย์ทุกแห่งของไทยต้องการให้นักเรียนแพทย์เป็นนักวิจัยด้วยนานแล้ว เพียงแต่ไม่มีการจัดเวลาในหลักสูตรให้กับการวิจัย ซึ่งจะให้เขาทำเป็นงานอดิเรกคงไม่ได้ เราไม่ได้บังคับนักเรียนว่าควรทำวิจัยเรื่องอะไร แล้วแต่ความสนใจของเขา และความรู้ทางการแพทย์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก เราควรต้องสอนให้เขารู้จักคิดเอง”

ในการเรียนรู้เรื่องกายวิภาคศาสตร์

รู้จักใช้ทักษะใหม่ในศตวรรษที่ 21 

ศ.นพ.อนันต์ ยังพูดถึงการสอนทักษะใหม่ให้แก่นักเรียนแพทย์ เนื่องจากการแพทย์ในยุคศตวรรษที่ 21 ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแล้ว หาเราก้าวไม่ทันโลก ก็ก้าวไม่ทันโรค 

“จากเทคโนโลยีต่างๆที่เข้ามา จากการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางสังคม ความต้องการของคน การเปลี่ยนแปลงของระบาดวิทยาของโรคต่างๆ วิธีการสอนแบบเดิมใข้ไม่ได้แล้ว นักเรียนแพทย์ที่จะจบจะต้องมีทักษะใหม่ 

“ปัญหาสำคัญคือเราไม่รู้ว่าทักษะใหม่ที่เกิดขึ้นคืออะไร สิ่งที่เราทำให้เขาได้คือ เราต้องทำยังไงถึงจะสร้างคนมารองรับทักษะใหม่ที่จะเกิดขึ้น เพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงทางบริบท 

“อีกส่วนคือเรื่องทักษะทางสังคม ตรงนี้เราอาจนึกภาพหมอแผนโบราณ ซึ่งรักษาแบบ Healing เป็น Healer เน้นการรักษาคนไข้เป็นหลัก ต่อมาความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ดีขึ้นเรื่อยๆ ก็เลยเปลี่ยนจากการรักษาคนไข้มาเป็นรักษาโรคเป็นหลัก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างหมอกับผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงไป 

คณาจารย์คณะแพทยศาสตร์นานาชาติ แห่งสจล.

“การหาหมอไม่ต่างอะไรจากการเอารถไปซ่อม หมอละเลยความเป็นมนุษย์ ซึ่งผมว่าถึงแม้เราจะมี AI หรือ Robot เราก็น่าจะปลูกฝังให้นักเรียนรักษาคนไข้มากกว่า มุ่งเน้นการแก้ความพิการหรือรักษาโรค” 

นอกจากนี้ยังมีการสอนนักเรียนแพทย์เรื่องโลกร้อน ซึ่งเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมทั้งเรื่องการความหลากหลายทางเพศ ฯลฯ ด้วย 

“คุณสมบัติของแพทย์ในยุคศตวรรษที่ 21 นั้น นอกจากเราจะสอนเรื่องทักษะแล้ว เรายังสอดแทรกเรื่อง Global Issue ที่ผ่านมาเราก็เชิญคนจาก UN Women มาคุยให้นักเรียนฟังเรื่อง Gender Equality, Domestic Violence และความหลากหลายทางเพศ หรือการเชิญคุณหมอที่ดูแลผู้ป่วยใกล้ตายมาคุยให้นักเรียนฟังเรื่องความตายว่าเป็นยังไง เพราะเด็กวัยนี้บางคนยังไม่เคยประสบการสูญเสียคนใกล้ชิดมาก่อน”

จะเรียนได้ต่อเมื่อผ่านด่านคัดเลือกสุดหิน 

ตามที่ทางคณะได้คำนวณสัดส่วนนักเรียนแพทย์ที่สามารถเข้าเรียนได้ เสนอทางแพทยสภาเอาไว้ราวปีละ 50 คน แต่ที่ผ่านมานักเรียนที่ได้รับการคัดเลือกกลับมีจำนวนเพียง 30 คน 

ฝึกซ้อมการแพทย์ในกรณีฉุกเฉิน

ในการเข้าเรียน นักเรียนจะต้องส่งผลคะแนนต่างๆ ที่ทางสถาบันกำหนด รวมทั้ง Personal Statement และ Recommendation Letter จากนั้นคณะกรรมการจะทำการจัดลำดับคะแนน และเชิญนักเรียนมาสัมภาษณ์เป็นจำนวนมากกว่าที่รับราว 2 เท่า 

“การสัมภาษณ์ของเราเป็น Multiple Mini Interview แบ่งห้องสัมภาษณ์เป็นห้องเล็กๆหลายห้อง แต่ละห้องมีอาจารย์ 3 คน โดยใช้คำถามชัดเจนรวม 5 สเตชัน สเตชันแรกเป็นเรื่องของ Critical Thinking สเตชันต่อมาเป็นเรื่อง Current Issue สาม เรื่อง Ethical Dilemma  สี่ Motivation ในการเรียนแพทย์ และสุดท้ายเรื่องทักษะทางการสื่อสาร แล้วนำคะแนนมาจัดลำดับอีกรอบหนึ่ง เพื่อหาผู้ที่สามารถเข้าเรียน”

อนาคตของ KMITL 

ภาพจำของสจล. ที่ผ่านมานั้น มีความโดดเด่นในเรื่องของวิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยีเป็นหลัก คณะแพทศาสตร์นานาชาติจึงเป็นความแปลกใหม่สำหรับสถาบันนี้ 

คณะแพทยศาสตร์นานาชาติในงานแข่งกีฬาของสถาบัน

“ตอนที่ผมมาเปิดคณะแพทย์ที่นี่ ผมบอกทุกคนที่นี่ว่าไม่อยากให้คิดว่าสจล.เปลี่ยนแนวทาง เพราะจริงๆการแพทย์ก็คือเทคโนโลยีนั่นแหละ เพียงแต่เป็นการประยุกต์ความรู้ที่สจล.มีมาใช้กับ Healthcare มากขึ้นเท่านั้นเอง 

“นอกจากนี้การแพทย์ในอนาคตจะเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือเลย จะมี Personalised Medicine ตลอดจนถึง Digital Medicine เราไม่ได้พูดถึงการรักษาโรค เราพูดถึง Digital Healthcare ทำยังไงถึงจะส่งมอบงานบริการทางการแพทย์ได้โดยที่ผู้ป่วยไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ซึ่งในอนาคตจะเป็นแบบนั้น”           

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.