แม้แต่ละครอบครัวจะมีวิธีการเลี้ยงลูกที่แตกต่างกัน แต่เชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการทำให้ลูกเป็นคนดีและมีทักษะการใช้ชีวิตที่ครบถ้วนรอบด้าน แต่ด้วยสภาพแวดล้อมต่างๆรวมถึงวิธีการเลี้ยงตามสัญชาติญาณที่บางครั้งอาจเป็นการลดประสิทธิภาพกลายเป็นการเลี้ยงลูกเชิงลบโดยไม่รู้ตัว
วันนี้ HELLO! Education จึงมีวิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวกจากหนังสือ ‘เลี้ยงบวก ลูกบวก’ ที่ได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งเขียนโดย ‘พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร’ หรือ ‘คุณหมอโอ๋’ กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เจ้าของเพจ ‘เลี้ยงลูกนอกบ้าน’ ที่มีผู้ติดตามทางเฟซบุ๊กกว่าหกแสนคนทีเดียว
การเลี้ยงลูกเชิงบวกคืออะไร
คุณหมอโอ๋ ได้ให้คำนิยามของการเลี้ยงลูกเชิงบวกว่า คือการเลี้ยงลูกด้วยความเข้าใจทางพัฒนาการสมองของมนุษย์ พยายามทำให้สมองส่วนอารมณ์นิ่ง เพื่อให้เด็กได้ใช้สมองส่วนการคิดวิเคราะห์ให้มากขึ้น
วิธีการเลี้ยงลูกเชิงบวก
1.เลี้ยงด้วยการฝึกให้เด็กคิด แทนการสั่ง
2. ใช้วิธีการตั้งคำถาม เช่นลูกทำน้ำหก เราก็แค่ถามเขาว่าจะทำยังไงดี ลูกฝึกคิดโดยที่ไม่ต้องมีอารมณ์
3. เปิดพื้นที่ให้แสดงอารมณ์ด้านลบได้ แต่ต้องฝึกวิธีจัดการ เช่น เมื่อลูกโกรธแล้วปาของ แทนที่เราจะดุลูก การเลี้ยงลูกเชิงบวกคือการมองผ่านพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก ไปสู่เรื่องของความรู้สึก เราอาจจะเข้าไปบอกว่าแม่เข้าใจที่หนูรู้สึกโกรธที่น้องมาแย่งของ เด็กก็จะเริ่มรู้สึกเย็นลง เพราะรู้สึกว่าเราเข้าใจเขา เมื่อสมองส่วนอารมณ์สงบ สมองส่วนคิดวิเคราะห์ก็จะเริ่มทำงาน ให้เราสอนลูกว่าเราโกรธได้นะ แต่การปาของนั้นทำไม่ได้ ถ้าหนูโกรธให้มาฉีกกระดาษตรงนี้ มาขยำลูกบอล ควรให้เด็กแสดงออกมาอย่าเก็บเอาไว้ หากเด็กโตหน่อยก็อาจจะใช้วิธีให้หายใจช้าๆ ทำให้เขาเห็นความโกรธ รู้จักจัดการความโกรธได้

หลักการเลี้ยงลูกเชิงบวกด้วยแนวคิด 5 L
LOVE
แม้ความรักจะเป็นเรื่องพื้นฐาน แต่ปัญหาส่วนของพ่อแม่รักหลายครอบครัวคือรักแต่แสดงออกไม่เป็น บางคนรักแล้วตามใจ บางคนรักแล้วสงสาร ขัดใจไม่ได้ไม่อยากให้ลูกผิดหวัง รวมถึงการที่เด็กหลายคนเติบโตมากับพ่อแม่ที่ทำงานเหนื่อยแล้วบอกว่าทำเพื่อลูก แต่จริงๆแล้วเด็กสะกดคำว่ารักผ่านเวลาคุณภาพ คือ เวลาที่มีปฏิสัมพันธ์เชิงบวกกับลูก เล่นกับเขา ให้เขารู้สึกว่าเขามีตัวตน ให้เขามีความหมาย นั่นคือการแสดงออกทางความรักที่ถูกต้อง
LEARN
สมองของเด็กนั้นจะพัฒนามากในช่วง 6-7 ปีแรกของชีวิต เป็นช่วงที่เซลล์ประสาทกำลังเพิ่มจำนวน ซึ่งพ่อแม่มีหน้าที่ช่วยเพิ่มศัยกภาพของลูกได้ผ่านการเล่นทุกชนิด เช่น การอ่านนิทาน การปีนต้นไม้ การเล่น การมีปฎิสัมพันธ์กัน จะช่วยพัฒนาสมองมาก
LIMIT
เป็นการฝึกวินัยเชิงบวก ให้ลูกเรียนรู้ด้วยเหตุผล พ่อแม่ต้องบอกลูกว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ ทำให้ลูกอยู่ในกฎกติกาที่ตกลงร่วมกัน
LET THEM GROW
บางครั้งก็ต้องปล่อยให้ลูกเรียนรู้จากความผิดของตัวเองบ้าง ฝึกให้ลูกเติบโต ปล่อยให้เขาโตขึ้นในวิถีที่เขาเป็นตัวเอง เลี้ยงให้เข้ามีชีวิตเป็นของตัวเอง
LET IT BE
เรื่องบางเรื่องไม่สามารถคอนโทรลได้ด้วยความสัมพันธ์ เรื่องบางเรื่องก็ต้องปล่อยให้เขาได้เรียนรู้ L ตัวสุดท้ายตัวที่ห้าคือ Let it be การปล่อยวางอย่างเข้าใจ พ่อแม่ต้องบอกตัวเองไว้เสมอ ลูกไม่ใช่ของเรา ชีวิตเป็นของเขา พ่อแม่มีหน้าที่แค่คอยช่วยเหลือให้เขาเติบโต ไม่ใช่ควบคุม
Souce : TKparkchannel
Photo Credit : Unsplash (Sebastian Leon Prado/ Mathilde Langevin)