Home > Education > สิ่งที่ไม่ควรพูดหากไม่อยากทำร้ายลูกทางอ้อม

การสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน และการใช้คำพูดในเลี้ยงลูกก็เช่นกัน หากไม่อยากทำร้ายลูกทางอ้อมด้วยถ้อยคำที่คุณ “ไม่ได้ตั้งใจ” มาหาทางลบประโยคเหล่านี้ออกจากพจนานุกรมส่วนตัวออกเถอะ ถ้าไม่อยากทำร้ายลูกๆ ของคุณเอง

.

“หยุดร้องไห้เดี๋ยวนี้”
การปล่อยให้เด็กๆ ร้องไห้และแสดงออกถึงอารมณ์และความคับข้องใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญ พวกเขาควรจะรู้สึกว่าการแสดงออกว่ากำลังมีความสุข โศกเศร้า โกรธ ฯลฯ นั้นเป็นเรื่องธรรมดา และในเมื่อเรายังไม่บอกผู้ใหญ่ให้หยุดร้องไห้เลย แล้วทำไมเราถึงต้องห้ามไม่ให้เด็กๆ ร้องไห้ด้วยล่ะ

.

“ทำคะแนนสอบครั้งนี้ได้ดีแต่ทำไมไม่ทำให้ได้อย่างนี้ไปตลอดล่ะ”
ฟังดูเหมือนการตบหัวแล้วลูบหลังเพราะคำชมที่ตามมาด้วยคำว่า “แต่” ในทันทีนั้นเป็นการเน้นย้ำไปที่แง่ลบมากกว่าแง่บวก แทนที่คำชมนั้นจะช่วยผลักดันให้ลูกมีแรงใจมากขึ้น ทุกสิ่งกลับถูกลดทอนลงด้วยคำว่า “แต่” เพียงคำเดียว

“อย่ากินเจ้านั่นสิ มันจะทำให้ลูกอ้วนนะ”
เมื่อถึงเวลาฝึกให้ลูกกินอาหารที่ดีมีประโยชน์ เราควรเน้นไปที่ประโยชน์และรสชาติที่อร่อยของอาหารมากกว่าการพูดถึงน้ำหนักตัวในแง่ลบ การวิจารณ์เรื่องน้ำหนักตัวจะยิ่งลดทอนความภาคภูมิใจในตัวเองของลูกลงและทำให้เขากังวลกับรูปร่างมากเกินไป

.

“โอ๊ย แม่อ้วนจัง ต้องลดน้ำหนักแล้ว”
บางวันคุณอาจรู้สึกว่าตัวเองช่างอ้วนเผละเสียเหลือเกิน แต่ความจริงคือคุณนั้นคือคนที่สวยและเยี่ยมยอดสุดๆ ในสายตาลูก และพวกเขาก็อยากจะโตขึ้นมาเหมือนคุณ แต่เมื่อคุณวิพากษ์วิจารณ์รูปร่างของตัวเอง นั่นไม่เพียงลดคุณค่าในตัวคนที่พวกเขารักและชื่นชมลง แต่ยังเป็นการสอนพวกเขาให้รู้สึกแย่กับรูปร่างตัวเองในอนาคตได้

“ไม่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่เลย”
บางเรื่องที่แสนจะจิ๊บๆ สำหรับคุณอาจเป็นเรื่องใหญ่มหึมาสำหรับลูกก็ได้ การบอกลูกว่ามันไม่ใช่เรื่องใหญ่จึงเป็นการไม่ยอมรับอารมณ์ความรู้สึกของลูก และเพิ่มความมาคุให้กับอารมณ์ที่ไม่ดีของลูกอยู่แล้วด้วยการทำให้เขารู้สึกอับอายเมื่อคุณมองว่าเขารู้สึกมากไปเองอีกด้วย พูดง่ายๆ ว่าประโยคนี้ไม่ควรพูดไม่ว่ากับเด็กหรือผู้ใหญ่เลยด้วยซ้ำไป

.

“ทำไมต้องให้บอกซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยนะ”
ถ้าคุณต้องบอกให้ลูกทำอะไรสักอย่างนับสิบครั้ง ถึงเวลาต้องกลับมาหาวิธีสื่อสารที่ได้ผลแบบใหม่เสียที เพราะการจิกลูกซ้ำๆ นั้นไม่เคยได้ผลดี เด็กๆ นั้นเลือกที่จะรับฟังและจะปิดหูใส่คุณได้ทันที ลองพยายามถามคำถามเปิดให้มากขึ้นเพื่อจะได้รู้ถึงเหตุผลเบื้องลึกดีกว่า

“โตแล้ว ไม่ต้องกลัว”
เพราะเด็กก็คือเด็ก จะอายุเท่าไหร่ก็มีความรู้สึกกลัวได้ การบอกไม่ให้เขากลัวเพราะเขาโตแล้วเท่ากับว่าเราไม่รับฟังความรู้สึกของเขา ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าพูดไปผู้ใหญ่ก็ไม่ฟังหรอก

.

“เลิกทำตัวเป็นเบบี๋ซะที”

อย่าคาดหวังว่าเด็กจะต้องทำตัวเป็นผู้ใหญ่เลย เพราะเด็กก็คือเด็ก แต่ถ้าเขาเริ่มทำตัวงอแงเหมือนเด็กเล็กๆ ควรดูสถานการณ์ตรงหน้านั้นให้ดีว่ามีอะไรทำให้เขาไม่สบายใจ กระวนกระวาย หรือกลัวบ้างไหม แทนที่จะต่อว่าให้เขาอับอาย หันมาฟังความรู้สึกของเขาจะดีกว่า

“ลูกทำมันไม่ได้หรอก!”
การพูดแบบนี้สะท้อนว่าเราไม่เชื่อมั่นในตัวเขาหรือคิดว่าเขาไม่เก่งหรือดีเท่าคนอื่น แต่เด็กๆ ต้องการที่จะรู้ว่าพ่อแม่รักและเชื่อมั่นในตัวเขา เราจึงควรพูดถึงสิ่งที่ลูกทำได้ แทนที่จะเน้นสิ่งที่เขาทำไม่ได้

“แน่ใจนะว่าจะทำได้”
จริงอยู่ที่คุณอาจพูดคำนี้ด้วยความเป็นห่วง กลัวลูกเจ็บตัวหรือได้รับอันตราย แต่การถามซ้ำถึงการตัดสินใจของเขาอาจทำให้ลูกคิดว่าคุณคิดว่าเขาไม่ฉลาดหรือไม่มีความสามารถพอที่จะทำอะไรใหม่ๆ ได้ ถ้าพูดบ่อยๆ อาจทำให้ลูกมีอาการ “ปีเตอร์แพน ซินโดรม” นั่นคือการกลัวที่จะโตขึ้นนั่นเอง

.

“ฉลาด/เก่งจริงๆ ลูกแม่”
ฟังดูเหมือนเป็นคำชมที่ดี แต่ถ้าใช้บ่อยเกินไปจะทำให้เด็กคิดว่าสิ่งที่เขาได้มานั้นเกิดจากพรสวรรค์ไม่ใช่ความพยายาม และอาจทำให้เด็กเริ่มหลีกเลี่ยงสถานการณ์บางอย่างที่เขาไม่แน่ใจว่าจะทำได้ดีหรือไม่เพราะไม่อยากถูกมองว่าเขาไม่เก่งหรือไม่ฉลาดนั่นเอง แทนที่จะใช้คำชมแบบนี้ ลองเปลี่ยนเป็นการผลักดันลูกด้วยการพูดว่า “ลูกพยายามอย่างหนักจนทำมันได้จริงๆ!” หรือ “พ่อรู้ว่าลูกทำได้ถ้าลูกไม่ละความพยายาม”

……………………………………………………………………………………….

Cr. Photo :  www.pixabay.com

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.