เพราะความที่เป็นลูกสาวคนเดียวทำให้คุณเบอร์ดี้ผ่านการเลี้ยงดูแบบเข้มงวดมาก่อนในวัยเด็ก เธอเล่าว่าครั้งแรกที่ได้เดินสยามก็ตอนเรียนม.สามแล้ว ปาวา นาคาศัย ทายาทอดีตนักการเมือง
“สมัยนั้นคุณแม่ออกจะหัวโบราณนิดหนึ่งค่ะ เพราะเราเป็นลูกสาวด้วย เลยอยากเลี้ยงเราให้เป็นเด็กไทยมากกว่าเด็กฝรั่ง เบอร์ดี้จึงเข้าเรียนโรงเรียนไทยตั้งแต่เด็ก เรียนประถมที่สาธิตมศว.ประสานมิตร ก็เรียนมาเรื่อยๆ จนไปต่อมัธยมที่สาธิตปทุมวัน โดยมีคุณแม่ช่วยวางแนวทางให้ จนถึงระดับมหาวิทยาลัยถึงได้ให้สิทธิ์เราเลือกเอง”
จากไลฟ์สไตล์ของคุณเบอร์ดี้ในตอนนี้ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเธอต้องชอบสายศิลป์แน่นอน แต่ในเวลานั้นคุณแม่อยากให้เรียนสายวิทย์ เพราะคงจะดีกับลูกสาวมากกว่าในอนาคต
“ตอนเด็กๆ อยากเรียนศิลป์-ภาษา แต่คุณแม่อยากให้เรียนวิทย์-คณิต เกรดจึงไม่ถึงทำให้ต้องสอบใหม่หมด เพื่อสมัครเข้าแผนกวิทย์-คณิตให้ได้ ซึ่งสุดท้ายก็ติดนะคะ แต่พอจะเลือกเรียนจริงๆ ก็ขอแม่ว่าเรียนศิลป์-คำนวณดีกว่า วิทย์-คณิตเราไม่ได้ใช้แน่นอน เพราะเราไม่อยากไปทางนั้นเลย อีกอย่างเพื่อนสนิทเราทุกคนอยู่ศิลป์-คำนวณกันหมด”
ไม่ชอบเรียนเกี่ยวกับตัวเลข แต่คุณเบอร์ดี้ก็มีวิธีเอาชนะและกลายเป็นสนุกกับมันจนได้
“ความสนุกเกิดจากการที่เราได้ลองตั้งใจจริงๆ ไม่วอกแวก แล้วลองฝึกลองทำด้วยความเข้าใจ พอฝึกเรื่อยๆ เราก็ค่อยๆ ทำได้ พอทำได้ปุ๊บก็สบายและกลายเป็นสนุกกับโจทย์ เห็นโจทย์ปุ๊บ คิดออก อีกอย่างตั้งแต่ม.สี่ เบอร์ดี้ตั้งใจจะเข้าจุฬาฯให้ได้ด้วยค่ะ เรื่องนี้เป็นแรงผลักดันเหมือนกันว่าต้องทำให้ได้ คุณแม่กับคุณครูที่สอนพิเศษบอกไว้ว่า ถ้าเราทำดีตั้งแต่ม.สี่เราจะสบาย ตอนอยู่ม.ต้น เราเห็นตัวเองแล้วว่าเราไม่ตั้งใจ พอถึงม.สี่ก็เลยลุยเลย แล้วก็ต้องเจออะไรที่เราไม่ค่อยชอบ อย่างจำนวนจริง พวกกราฟ เซ็ต โดยเฉพาะตรีโกณ แต่กลายเป็นว่าพอไปเรียนเศรษฐศาสตร์ต้องใช้ตรีโกณ (หัวเราะ) อะไรที่ไม่ชอบ ได้เรียนในคณะเศรษฐศาสตร์หมดเลย”
แม้จะเริ่มต้นจากความไม่ชอบ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาก็สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามและความมีวินัยในตัวเองของคุณเบอร์ดี้ เมื่อจะเข้ามหาวิทยาลัย ความรอบคอบทำให้ต้องมีการวางแผน
“เบอร์ดี้สอบเข้าเศรษฐศาสตร์ภาคอินเตอร์ก่อนเพื่อนเลยค่ะ พอได้แน่ๆ ทีนี้ก็มีเวลาว่าง เลยไปสอบแอดมิชชั่นด้วย ขอคุณแม่เรียนพิเศษเพื่อสอบโดยเฉพาะ เบอร์ดี้อยากเรียนนิเทศ แต่คุณแม่ขอให้เลือกนิติเป็นอันดับแรก สุดท้ายก็ได้นิติมา แม่ก็อยากให้เรียนนิติ เพราะเห็นว่ามีอาชีพติดตัวแน่ๆ แต่เบอร์ดี้ขอเลือกเศรษฐศาสตร์ น่าจะมีความสุขกับการเรียนกว่า คุณแม่ก็เลยโอเค
“ตอนแรกก็เครียดนะคะ จากตำราภาษาไทย เราต้องใช้ตำราภาษาอังกฤษ แล้วเป็นศัพท์เฉพาะของเศรษฐศาสตร์ด้วย เปิดดูศัพท์เกือบทุกหน้า แต่พอจำได้แล้วก็ไม่ยาก พอพื้นฐานได้ ปีต่อๆมาก็สบาย อะไรที่พลิกแพลงก็ทำได้หมด”
การเป็นเด็กกิจกรรม มีส่วนสร้างบุคลิกความเป็นผู้นำให้กับคุณเบอร์ดี้ เธอเล่าว่าเธอทำกิจกรรมเยอะมากตั้งแต่สมัยมัธยม
“เป็นเชียร์ลีดเดอร์ค่ะ ทั้งซ้อมลีดน้องและเป็นลีดเอง ทำกีฬาสี ทำสแตนด์ เคยเป็นประธานชมรมคหกรรม เป็นคนจัดทริปให้รุ่นน้อง ทำกิจกรรมให้รุ่นน้อง ช่วยคิดกันกับเพื่อนแล้วก็กระจายงานให้เพื่อนช่วยกัน ตรงนี้ทำให้เราได้ความเป็นผู้นำมา
“เบอร์ดี้จะมาสายบู๊หน่อย เมื่อก่อนก็เคยลงหาเสียงกับคุณพ่อคุณแม่ เรื่องความแข็งแกร่งเบอร์ดี้จะได้จากคุณพ่อ เขาเลี้ยงเรามาเหมือนเด็กผู้ชาย พาไปตกปลา ไปเดินป่า เหมือนเป็นเด็กผู้ชายในร่างหญิง และคุณพ่อดุค่ะ เขาจะบอกว่าเราต้องสู้ ต้องทำนั่นทำนี่ให้ได้ แต่อย่างอื่นสปอยล์นะคะ เบอร์ดี้ว่าเรื่องบู๊นี่คงเพราะเขาอยากได้ลูกผู้ชาย แต่น้องชายเรา ไม่ยอมทำ (หัวเราะ) รายนั้นเขาติดเกม คุณพ่อเลยมาลงที่เรา
อย่างที่เล่าไว้ว่าไลฟ์สไตล์ของคุณเบอร์ดี้มีความเป็นเด็กสายศิลป์ เมื่อเรียนจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ภาคอินเตอร์แล้ว เธอจึงเลือกทำงานด้านศิลปะบ้าง จนกลายเป็นธุรกิจที่ “Parva Collection” ที่กำลังไปได้สวยกับสายแฟชั่นที่ชอบเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว เมื่อถามว่าเสียดายไหมกับช่วงเวลาที่เรียนมหาวิทยาลัยโดยที่ไม่ได้เอาความรู้นั้นมาใช้ คุณเบอร์ดี้บอกว่าไม่เลย
“อย่างน้อยเราก็ได้พื้นฐานธุรกิจ การมองเศรษฐกิจ พื้นฐานการคำนวณมา เรื่องแฟชั่นเราชอบของเราอยู่แล้ว ถ้าจะเรียนจริงๆ ก็คงไปได้เร็ว ซึ่งก็คิดว่าจะไปเรียนต่อด้านนี้อยู่ สิ่งที่เคยเรียนมาก็เป็นพื้นฐานที่จะมาช่วยเสริมเราอยู่แล้ว”
…………………………………………………………………………………………….
ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ใน HELLO! Education 2017 วางแผงพร้อม HELLO! ปีที่ 12 ฉบับที่ 9 วันนี้ที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ