Home > Education > เชฟยีสต์ นกุล กวินรัตน์ หนึ่งในพลพรรคนักปรุง

หนุ่มหล่อเครางามที่มาสอนทำอาหารให้กับผู้ชมทางบ้าน ในรายการพลพรรคนักปรุง เชฟยีสต์ นกุล กวินรัตน์ ผู้สร้างสีสันให้กับวงการอาหารของประเทศไทยมาให้ผู้ชมเพลิดเพลินมาระยะหนึ่ง แต่กว่าเขาจะเป็นเชฟยีสต์ได้อย่างทุกวันนี้ เขาต้องผ่านอะไรมาบ้าง และจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้เขาตัดสินใจทำอาหารอย่างเป็นจริงเป็นจังคือเมื่อไร และอย่างไร เรามาร่วมค้นและคั้นชีวิตเขากันดีกว่า

เชฟยีสต์เรียนจบจากโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียลมาอย่างเด็กธรรมดาสามัญผมไม่ใช่เด็กเรียน แล้วก็ไม่ได้เรียนเก่งเขาบอกกับเราด้วยน้ำเสียงราบเรียบ  เวลาว่างก็เล่นกีฬากับเพื่อน แม่ผมเปิดร้านขายอุปกรณ์เบเกอรี่ ทุกวันเขาไปทำงานกัน วันหยุดเหลือผมอยู่บ้านคนเดียว เพราะพี่สาวผมมักจะเรียนพิเศษ ผมก็เลยต้องทำอาหารกินเอง ก็เริ่มจากต้มมาม่าใส่ไข่ หรือดูว่ามีอะไรในตู้เย็นก็ใส่ลงไป บางทีก็เปลี่ยนเป็นผัดมาม่าบ้าง

เชฟยีสต์นำประสบการณ์ที่ได้จากฝรั่งเศสมาปรับใช้กับอาหารไทย

พอมี YouTube ก็เริ่มดูช่องที่เขาสอนทำอาหาร แล้วก็ชอบดูรายการแข่งขันทำอาหารอย่าง Hell’s Kitchen กับ Masterchef เพราะดูแล้วสนุก ตอนนั้นก็เริ่มสนุกกับการทำอาหารแล้วครับ ระหว่างที่เรียนมหิดล หลักสูตรนานาชาติ ทางด้านการท่องเที่ยวการโรงแรม ผมได้ฝึกงานในครัวของโรงแรมของมหาวิทยาลัย ก็ยืนหั่นยืนสับทั้งวัน ซึ่งผมชอบรู้สึกสนุกดี แต่ฝึกงานเสร็จก็ไม่ได้คิดอะไร

Big Turning Point

จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาหักเหเส้นทางชีวิตมายังเส้นทางสายอาหาร ก็เมื่อเขาสะอึกอยู่ตลอดเวลาเป็นเวลานานหลายเดือน

ผมสะอึกเสียจนแม่เดินผ่านห้องนอนผมตอนเช้าแล้วได้ยินผมสะอึก ทั้งที่ผมนอนหลับไม่รู้เรื่อง ไปหาหมอหลายแห่งก็ไม่หาย สุดท้ายไปหาหมอแมะเขาบอกว่าระดับฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ เขาเขียนรายการอาหารที่ห้ามกินมาให้ แล้วก็สั่งอาหารให้กินแทนยาซึ่งแต่ละมื้อไม่เหมือนกันเลย เป็นเมนูแปลกๆ ทำให้ผมต้องจ่ายตลาดเองทุกวัน หลังเลิกงานก็เตรียมของเสร็จเที่ยงคืนตีหนึ่งทุกคืนก็ไม่ท้อ  เช้ารีบทำใส่กล่องทัปเปอร์แวร์เอาไว้สำหรับทานสามมื้อ ทำได้เดือนหนึ่งก็หายเลย

ความชอบที่เป็นแพสชั่นในการขับเคลื่อนชีวิตของเชฟยีสต์ นั่นก็คือการทำอาหาร

หลังจากหายดี ผมรู้สึกศรัทธาในอาหารทันที อยากทำอาหารต่อไป และเริ่มสงสัยว่าเราน่าจะชอบงานนี้  คิดว่าเราน่าจะทำเป็นอาชีพได้ ตอนนั้นผมอายุ 20 กว่าแล้วก็ไม่รู้ว่ามันช้าไปหรือเปล่าที่จะไปเริ่มเรียน และหัดทำอาหารฝรั่ง เพื่อจะได้เอาเทคนิคมาใช้กับอาหารไทยที่เราชอบกิน เพราะค่าใช้จ่ายในการเรียนทำอาหารที่เมืองไทยกับเมืองนอกไม่ต่างกันเลย แล้วเป็นความฝันของผมที่อยากไปใช้ชีวิตต่างแดนสักช่วงหนึ่ง ก็เลยลองถามเพื่อนๆก็ถามคนฝรั่งเศสให้ เขาแนะนำ FERRANDI Paris ซึ่งเป็นโรงเรียนทำอาหารชื่อดังของฝรั่งเศส

เขาตัดสินใจบินไปเรียนโดยมีพื้นฐานทางภาษาฝรั่งเศสแค่งูๆปลาๆ และเป็นประสบการณ์ที่โหดสมใจ

เชฟที่สอนดุมากครับ เหมือนเขาพยายามเตรียมความพร้อมให้เราสำหรับการทำงานจริง เพราะร้านอาหารที่โน่นบ้ากว่านั้นอีก (หัวเราะ) แต่รวมๆแล้วสนุกมากครับ ด้วยความที่ผมพูดภาษาฝรั่งเศสไม่ได้ ก็เลยได้เรียนทำแต่อาหารฝรั่งเศสแบบคลาสสิก และเพราะผมรู้จักแต่อาหารใน YouTube ไม่เคยชิม ก็จะไม่รู้ว่ารสชาติควรเป็นแบบไหน  เขาว่าดีก็ดีตาม

มีเวลาว่างเมื่อไรก็จะไปชิมร้านมิชลินกับเพื่อน เพราะอยากรู้ว่าเป็นยังไง ด้วยความที่เงินเรามีจำกัดจึงต้องทำงาน ผมเลยไปทำงานร้านคนลาวที่พูดไทยได้ ไปเสิร์ฟพักหนึ่งก็ขอเขาทำงานในครัวเพราะอยากฝึกหั่น ซื้อมาหั่นเองก็กินไม่หมด เสียดายของ แต่เจ้าของไม่ยอม จนตอนหลังผมต้องบอกว่าไม่เอาเงินก็ได้ ขอช่วยในครัว เขาถึงยอม

มิชลินสตาร์

หลังเรียนจบจาก FERRANDI Paris เขายังคงฝึกงานที่ร้านมิชลิน 1 ดาว ชื่อร้าน Les Tabletes ต่อไป

ตอนที่เขารับผมเข้าทำงาน ผมดีใจมากเลย แต่มารู้ความจริงทีหลังว่า ร้านพวกนี้จะใช้แรงงานของเด็กฝึกงานเป็นหลัก เพราะจะได้จ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามกฏหมาย สมัยนั้นเงินเดือนขั้นต่ำ 1,200 ยูโร แต่นักเรียนฝึกงานได้แค่ 357 ยูโร เด็กฝึกงานจึงถือเป็นแรงงานหลักของร้านมิชลินเลย

ขณะสาธิตการทำอาหารในรายการพลพรรคนักปรุง

บรรยากาศในครัวไม่ต่างจากรายการ Hell’s Kitchen เลย ที่เชฟกอร์ดอน แรมเซย์จะตะโกนด่าลูกน้อง ผมทำงานวันแรกก็เจอเลย แต่แรงกว่าสิบเท่า (หัวเราะ) การไม่รู้ภาษาเป็นปัญหามากสำหรับผม แต่ก็พยายามจับใจความเป็นคำๆว่าเขาพูดถึงอะไร หม้อ หัวหอม กุ้ง แล้วก็ต้องเดาว่าเขาจะให้ทำอะไร ช่วงแรกๆจะรู้เรื่องประมาณ 70-80% นอกนั้นใช้ภาษามือ แล้วถ้าเป็นเรื่องนอกเหนือจากงานครัว ผมจะคุยกับเขาไม่รู้เรื่องแล้ว

แต่เขาไม่ดูถูกเรา เพราะในครัวมีหลายสัญชาติมาก และพูดฝรั่งเศสได้หมด ยกเว้นผม ที่เขาจะดูถูกก็เพราะเราทำอะไรไม่เป็นมากกว่า แรงกดดันในครัวเยอะ ถ้ามีใครทำผิดก็จะโดนเชฟด่า เชฟจะอารมณ์ขึ้นๆลงๆมาก มาคุยเล่นช่วยเราปอกกระเทียม แต่พอเห็นเราปอกผิด เขาจะด่าตรงนั้นเลย เรียกว่าจะระเบิดลงเมื่อไรไม่รู้

ทำอยู่สามเดือนก็ขอเชฟอยู่ต่อ ก็เลยได้อยู่อีกสามเดือน สุดท้ายผมบอกไม่อยากฝึกงานแล้ว อยากทำงานต่อ จ้างผมหน่อย เขาก็จ้างและทำวีซ่าให้ ผมดีใจมาก ทำงานได้ประมาณปีกว่า สุดท้ายก่อนออกผมได้เป็น Chef de Partie ที่ไ้ด้เลื่อนตำแหน่งเร็ว เพราะคนเข้าออกเยอะมาก คนที่ออกย้ายไปทำร้านอื่น

ร้านมิชลินเป็น industry ที่ turnover สูงมาก เหตุผลที่ออกมีร้อยแปด อาจจะไม่ชอบเชฟ อยากไ้ด้เงินเดือนสูงขึ้น อยากหาประสบการณ์ หรือมีข้อเสนอที่ดีกว่า คุยกับเพื่อนเขาก็บอกว่าย้ายไปก็เจอแบบเดิม

สิ่งที่เรียนจาก FERRANDI Paris เป็นการเตรียมความพร้อมให้เราสำหรับการทำงานจริงมากกว่า เชฟที่สอนผมว่าดุแล้วนะ ชีวิตจริงดุยิ่งกว่า ทุกอย่างต้องเร็วต้องคิดล่วงหน้า จะมาเอ้อระเหยทำทีละอย่างไม่ได้ ตอนเรียนผมก็คิดทำไมต้องเคี่ยวเราขนาดนี้ จนไปฝึกงานถึงได้นึกขอบคุณเชฟที่สอน ไม่งั้นตายแน่ๆ (หัวเราะ) เพราะปกติผมทำอะไรช้า 

ระหว่างเป็นนักเรียนของ FERRANDI Paris

เป็นช่วงชีวิตที่สนุกมากครับเชฟเครางามบอกกับเราเพราะว่างก็ไปตระเวนกินร้านมิชลินอื่นๆ เรากินมื้อค่ำไม่ไหว ก็กินมื้อเที่ยงแทนเพราะถูก ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่คุ้มค่ามาก ที่จริงตอนแรกผมตั้งใจจะทำงานต่อไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่ายังไงเราต้องได้เลื่อนตำแหน่ง และเชฟมีแพลนจะเปิดร้านเพิ่ม และผมทำงานให้เขาแบบถวายชีวิตเลย ไม่เคยหยุด ไม่เคยสาย วันหยุดผมคนไม่พอผมก็ไปช่วย ถ้าทำงานกับเขาก็คงก้าวหน้า

แต่สุดท้ายเชฟยีสต์ก็ต้องกลับเมืองไทยจนได้

ที่กลับมาเป็นเรื่องบังเอิญมาก ผมขอกลับมาเยี่ยมพี่สาวอาทิตย์หนึ่ง แล้วกลายเป็นว่าต่อวีซ่าไม่ได้ ยื่นเรื่องไปสามรอบ ไม่ผ่าน ก็เลยต้องทิ้งทุกอย่างไว้ที่นั่น ส่วนใหญ่เป็นอุปกรณ์ครัวกับหนังสือ เสียดายมากเลย เพราะถ้าให้เขาส่งมามันไม่คุ้ม ผมก็เลยต้องได้แต่ทำใจ

การเรียนรู้ไม่เคยจบสิ้น

ปัจจุบันนอกจากเชฟยีสต์จะเปิดร้านคอหมูพระรามห้าบนถนนราชพฤกษ์ ที่ขายแต่เมนูหมูแล้ว เขายังสอนทำอาหารผ่านรายการทีวีชื่อพลพรรคนักปรุง เราขอให้เขาสรุปประสบการณ์ที่ผ่านมา ที่ทำให้เขาเป็นเชฟเต็มตัวได้อย่างทุกวันนี้

งานครัวคือชีวิตจิตใจของเชฟผู้ค้นหาตัวเองเจอในวัยเกือบสามสิบ

ผมว่าการศึกษากับประสบการณ์เป็นสิ่งสำคัญมาก แม้ว่าตอนเรียนผมจะไม่ชอบภาษาอังกฤษ แต่สุดท้ายแล้วมันส่งผลถึงวันนี้จริงๆ อย่างตอนอยู่ฝรั่งเศสผมก็ต้องพยายามฝึกภาษาด้วยตัวเองเพิ่มเติม

ส่วนเรื่องอาหารทุกวันนี้ผมก็ยังศึกษาอยู่ และจนชั่วชีวิตก็เรียนไม่จบหรอก นอกจากนี้ประสบการณ์ก็เป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเป็นการเตรียมให้เราแกร่งขึ้นเวลาเจอปัญหา ตราบใดที่เราไม่เจอปัญหาเราไม่รู้หรอกว่าประสบการณ์สำคัญ เราจะรู้ว่าต้องรับมือยังไง แก้ยังไง ประสบการณ์ทำให้เราโตขึ้น ไม่รู้สึก panic”

สำหรับเขาแล้ว การค้นพบตัวเองในวัยเกือบสามสิบถือว่าสายไปไหมไม่มีคำว่าสายเกินไป สำหรับการค้นพบความชอบของตัวเองหรอกครับเชฟหนุ่มตบท้ายคำพูดด้วยรอยยิ้ม

  

               

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.