สนามเด็กเล่นได้ถูกเแทนที่ด้วยแผ่นพลาสติกขนาดสี่เหลี่ยมจตุรัส ทั้ง 64 แผ่นสีขาวสลับสีดำอย่างกระดานหมากรุก นักเรียนประถมตัวน้อยต่างก็กระโดดโลดเต้นไปมาและเลี้ยงตัวอยู่บนกระดาน (อันที่จริงก็คือพื้น) นี่เป็นครั้งแรกๆที่พวกเขาเรียนรู้เรื่องการเล่นหมากรุกกัน เป็นกระบวนการสอนเล่นหมากรุกของจูดิท
จูดิท โพลการ์ นักเล่นหมากรุกหญิงชาวฮังกาเรียน ผู้ได้ตำแหน่งแกรนด์มาสเตตอร์หมากรุกด้วยวัยเพียง 15 ปี เธอริเริ่มพัฒนาวิธีการสอนเล่นหมากรุกตั้งแต่ปี 2012 ด้วยความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญและนักการศึกษา โดยพุ่งเป้าไปที่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพให้มากขึ้น และใช้การเล่นหมากรุกเป็นเครื่องมือการพัฒนาสมอง มากกว่าจะตั้งเป้าเพื่อให้เป็นแชมป์
เธอเรียกวิชานี้ว่าวิชาพละหมากรุก (ChessPE) ประกอบด้วยสนามเล่นหมากรุกสำหรับเด็กอนุบาล และ Chess Palace สำหรับเด็กโต ที่เป็นทางเลือกในการพัฒนาทักษะทั่วไป และกระตุ้นกระบวนการคิดที่มีตรรกะและสร้างสรรค์สำหรับพวกเขา
“หมากรุกสามารถพัฒนาทักษะต่างๆ อย่างเช่นกระบวนการคิดแบบองค์รวม มีการคิดวิเคราะห์หาเหตุผลอย่างเป็นระบบ ซึ่งกลายเป็นพื้นฐานของกระบวนการคิดที่ใช้ข้อมูลภาพเป็นพื้นฐาน” จูดิทกล่าว

หมากล้อมพัฒนาทักษะทางสมองได้ดีไม่แพ้หมากรุก
ใช่ว่าหมากรุกจะเป็นเกมส์การเล่นชนิดเดียวที่ช่วยพัฒนาสมอง เพราะการเล่นหมากล้อมก็มีประโยชน์ไม่แพ้หมากรุก การเล่นหมากล้อมเป็นประจำช่วยฝึกนิสัย ทัศนคติ ตลอดจนกระทั่งลับคมสัญชาตญาณให้เฉียบขาดมากยิ่งขึ้น
HELLO! Education รวบรวมผลดีของการเล่นหมากรุกและหมากล้อมไว้ดังต่อไปนี้
เพิ่มไอคิว มีงานวิจัยที่ให้นักเรียนในเวเนซูเอลาจำนวน 4,000 คน เล่นหมากรุกติดต่อกันเป็นเวลานาน 4 เดือน ปรากฏว่าไอคิวดีขึ้น
ความจำดีขึ้น มีการวิจัยในเยอรมันที่นำนักเล่นหมากรุกกับคนทั่วไป มาวัดปฏิกิริยาการตอบสนองของสมอง ปรากฏว่าคนทั่วไปจะใช้สมองแต่ละซีกไม่เท่ากัน แต่นักเล่นหมากรุกจะใช้สมองทั้งสองซีกพร้อมกัน และช่วยให้สมองได้ออกกำลังกาย เป็นการฝึกสมองไปในตัว ช่วยให้ความจำดีขึ้น เพราะต้องจดจำการเดินหมากทั้งของตัวเองและคู่ต่อสู้ ตลอดการเล่นให้ได้
สมาธิดีขึ้น เพราะต้องจดจ่อกับการเล่นตลอดเวลา เพื่อจะได้เดินหมากอย่างรอบคอบ ไม่อย่างนั้นอาจเพลี่ยงพล้ำได้ มีงานวิจัยในสหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน พบว่านักเล่นหมากรุกจะมีสมาธิจดจ่อกับงานตรงหน้ามากกว่า เป็นการแก้เรื่องสมาธิสั้นด้วย
รู้จักวางแผน นักเล่นหมากรุกที่ดีจะต้องสามารถวางแผนการเล่นก่อนว่า จะวางกลยุทธการเดินหมากอย่างไร และสามารถตัดสินใจได้อย่างเฉียบคมกว่าคนทั่วไปมากทีเดียว

เพิ่มความคิดสร้างสรรค์ สมองซีกขวาเป็นซีกที่เกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ มีงานวิจัยที่แบ่งเด็กเป็นกลุ่มย่อยๆ แล้วให้ทดลองทำกิจกรรมต่างๆ เป็นเวลานาน 32 สัปดาห์ ปรากฏว่าเด็กที่เลือกเล่นหมากรุกจะสามารถทำคะแนนด้านความคิดสร้างสรรค์ได้ดีกว่ากลุ่มอื่น และใช่แต่ความคิดสร้างสรรค์เท่านั้น แต่ในทักษะทางความคิดอื่นๆอีกด้วย
แก้ปัญหาตรงหน้าได้อย่างฉับไว การเดินหมากจำเป็นจะต้องพลิกแพลงเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเล่นได้ตลอดเวลา เพื่อไม่ให้คู่ต่อสู้จับทางได้
ทำให้ Dendrite เจริญเติบโตขึ้น Dendrite ซึ่งทำหน้าที่ส่งสัญญาณระหว่างเซลล์ประสาทได้มากขึ้น ในเวลาที่รวดเร็วขึ้น ทำให้สามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ได้ดีขึ้นด้วย
ใช้หลักเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ เมื่อเกิดปัญหา นักเล่นหมากรุกจะเลือกใช้สันติวิธี มากกว่าใช้อารมณ์และความรุนแรง ช่วยลดความก้าวร้าวในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกมส์หมากล้อม การเลือกที่จะไม่ทุ่มเททรัพยากรไปในการทำลายล้างคู่ต่อสู้แต่เพียงถ่ายเดียว เพราะมักจะเจอปฏิกริยาย้อนกลับที่รุนแรงกว่า

การจัดลำดับความสำคัญ และความสมดุล การเล่นหมากล้อมสอนให้นักเล่นจัดลำดับความสำคัญของงานต่างๆ งานด่วนต้องทำก่อนงานใหญ่เสมอ ตลอดจนการจัดดุลยภาพของเรื่องราวต่างๆในชีวิต เปรียบได้กับการดูแลสนามรบ ด้วยการถือคติว่า ‘อย่าชนะในสนามรบ…แต่แพ้สงคราม’
รู้จักแพ้ การเล่นที่ทั้งสองฝ่ายมีฝีมือทัดเทียมกัน คนแพ้คือคนที่ผิดมากกว่า การฝึกให้ตัวเองรู้จักอดทนอดกลั้น พยายามประคองตัวเอง สามารถควบคุมตัวเองให้ผิดน้อยที่สุด และสามารถพลิกเกมส์มาชนะเมื่อตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ และรู้จักแพ้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการเตือนสติตัวเองว่าข้อบกพร่องของเราอยู่ตรงไหน
นอกจากนี้หมากรุกและหมากล้อม ยังเป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กสามารถใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ได้อีกด้วย หากยังเล่นไม่เป็นก็มีโรงเรียนหมากรุกหรือหมากล้อมต่างๆ เปิดสอนวิธีการเล่นขึ้นมากมาย รวมทั้งในออนไลน์ นับเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมเด็กได้อีกทางหนึ่ง
ที่มา : euronews.com; unlockmen.com; women.trueid.net; www.jinbogoacademy.com