Home > Education > ปราบนิสัย “เลือกกิน” ของลูกให้อยู่หมัด

เด็กบางคนยินดีลองอาหารเมนูใหม่ๆ อย่างกระตือรือร้น ในขณะที่อีกหลายคนส่ายหัวดุ๊กดิ๊กแล้วขอกินแต่เมนูเดิมๆ เหตุผลเบื้องหลังการเชิดหน้าใส่อาหารของเด็กๆ นั้นมีตั้งแต่บุคลิกส่วนตัว การที่พ่อแม่คอยควบคุมมากเกินไปเวลากินข้าว ไปจนถึงพฤติกรรมการกินของพ่อแม่ รวมถึงเหตุผลง่ายๆ เพียงเพราะลูกของคุณเป็น “เด็ก” …แต่ทำใจให้สบาย เพราะอาการเลือกกินนี้เกิดขึ้นกับเด็กเล็กๆ เป็นเรื่องปกติ แต่จะรับมืออย่างไรเพื่อสกัดไม่ให้ลูกคุณมีนิสัยเลือกกินติดตัวไปจนโต วันนี้ HELLO! จึงมีเคล็ดลับดีๆ มาบอกค่ะ

1.อย่ากังวลจนเกินเหตุ อย่าลืมว่าเด็กๆ เรียนรู้จากการดูไม่ใช่การฟัง เพราะฉะนั้นเวลานำเสนออาหารใหม่ๆ ให้ลูกชิม ควรชี้ชวนในเชิงบวกและแสดงให้พวกเขาเห็นอย่างจริงใจว่าคุณชอบอาหารจานนั้นมากแค่ไหนตอนเอ่ยปากชวน

อย่ากังวลจนเกินเหตุ

2.ให้เวลาพวกเขาบ้าง เป็นเรื่องธรรมดาที่เด็กๆ จะรู้สึกไม่มั่นใจที่จะชิมอาหารที่เห็นเป็นครั้งแรก มีการศึกษาพบว่า ต้องให้เด็กๆ ได้เห็น ได้ชิม ได้ยินพ่อแม่พูดถึงอาหารเมนูใหม่ๆ หรือได้ลงมือช่วยเตรียมอาหารจานนั้นถึง 12 ครั้งกว่าที่พวกเขาจะบอกได้จริงๆ ว่า “ชอบ” หรือ “ไม่ชอบ” มัน ดังนั้น การกดดันให้เด็กๆ รู้สึก “ชอบ” อาหารในครั้งแรกทันทีอาจผลักให้อาหารจานนั้นเขาไปสู่กลุ่มที่พวกเขา “ไม่ชอบกิน” ได้ง่ายๆ จนเป็นเรื่องยากที่จะให้พวกเขาลองชิมอาหารเมนูนี้ในครั้งถัดๆ ไป

ให้เวลาพวกเขาบ้าง

3.เปลี่ยนเมนูบ้าง กุญแจสำคัญในการกินคือการลองอาหารใหม่ๆ และสลับสับเปลี่ยนอาหารที่กินในแต่ละมื้อไม่ให้จำเจ พ่อแม่หลายคนตกหลุมพรางของความเชื่อที่ว่า “แครอทคือผักอย่างเดียวที่ลูกชอบกิน” เลยเสิร์ฟแต่แครอททุกมื้อและนั่นเป็นการสอนเด็กๆ ว่าการกินอะไรแบบเดิมๆ เพียงอย่างเดียวนั้นเป็นเรื่องธรรมดา

เปลี่ยนเมนูบ้าง

การที่ลูกไม่กินอาหารอะไรสักอย่างก็ไม่ได้หมายความว่าคุณไม่ควรเสิร์ฟมันอีก กลับไปอ่านข้อ 2 ใหม่อีกรอบว่าเขาได้เห็นหรือได้ชิมมันถึง 12 ครั้งแล้วหรือยัง ถ้าเขาได้เห็นทุกคนลอง เขาก็อาจจะอยากชิม และเมื่อได้ชิม เขาก็อาจจะชอบมัน และในที่สุดก็จะไม่รังเกียจมันอีกต่อไป

4.หน้าตาเป็นเรื่องสำคัญ ต่อให้คุณพร่ำบอกลูกว่าอาหารจานนี้อร่อยแค่ไหน แต่ถ้าปรายตามองแล้วหน้าตาดูไม่น่ากิน เด็กๆ ไม่มีทางเชื่อคุณง่ายๆ หรอก เพราะฉะนั้น คำนึงถึงหน้าตาและสีสันของอาหารด้วย หากมีฝีมือสักหน่อย ลองตกแต่งอาหารที่อยากนำเสนอให้มีสีสันหรือรูปทรงที่เตะตาและกระตุ้นต่อมอยากรู้อยากเห็นของเด็กๆ รับรองว่าความอยากกินจะตามมาเองอย่างง่ายดาย

หน้าตาเป็นเรื่องสำคัญ

5.อย่าทำอาหาร “จานพิเศษ” ให้เด็กช่างเลือกยิ่งทำอาหารจานพิเศษ เด็กๆ ก็จะยิ่งเลือกกินเข้าไปใหญ่และไม่ยอมลองอาหารจานใหม่ๆ เลย คุณแม่ลูกสองคนหนึ่งจึงลองใช้วิธีนี้ดู นั่นคือถ้าเด็กๆ ไม่ชอบอาหารมื้อนั้น พวกเขามีสิทธิ์ที่จะไม่กินมันแล้วเลือกว่าจะกินโยเกิร์ตรสธรรมชาติ นม หรือคอตเตจชีส แทนก็ได้ แต่ไม่ใช่อาหารอื่นนอกจากที่ว่ามานี้  ซึ่งเด็กๆ แทบจะไม่เลือกออพชั่นสองนี้เลย เพราะมันคุ้มกว่าที่จะลองชิมอาหารใหม่ๆ แทนที่จะกินแต่ของน่าเบื่อที่เป็นตัวเลือกสำรอง

อย่าทำอาหาร “จานพิเศษ” ให้เด็กช่างเลือก

การปรุงอาหารจานพิเศษยังอาจทำให้ลูกยิ่งรู้สึกว่าเขาเป็นคนพิเศษในทางที่ผิด ระวังว่าลูกคนอื่นที่ไม่เลือกกินก็อาจจะอยากได้ความพิเศษแบบนั้นบ้าง และเปลี่ยนตัวเองมาเป็นคนเลือกกินเพียงเพื่อจะเรียกร้องความสนใจจากคุณ

6.ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการเตรียมอาหาร การให้เด็กๆ ช่วยเตรียมอาหาร นับตั้งแต่การไปเลือกซื้อของ ปรุงอาหาร ไปจนกระทั่งจัดโต๊ะ จะช่วยกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นในตัวเด็กๆ เขาจึงอยากมีส่วนร่วมในผลลัพธ์ของมันด้วยซึ่งก็คือการกินอาหารจานนั้นนั่นเอง

ให้เด็กๆ มีส่วนร่วมในการเตรียมอาหาร

7.มื้ออาหารคือช่วงเวลาที่ผ่อนคลายและมีความสุข ใช่ว่าทุกมื้อจะต้องสมบูรณ์แบบและดีต่อสุขภาพสุดๆ สิ่งสำคัญคือ พ่อแม่ต้องหยุดควบคุมเรื่องกินของลูกไปเสียทุกอย่าง เพราะการเปลี่ยนโต๊ะอาหารให้กลายเป็นสนามรบเรื่องกินจะทำให้การลองกินอาหารใหม่ๆ นั้นยิ่งยาก โดยปกติแล้ว เด็กๆ จะอยากกินของตรงหน้าที่คนอื่นๆ ก็กินเช่นกัน แต่สำหรับเด็กบางคนแล้ว การเลือกกินนั้นช่วยแก้ปัญหาบางอย่างให้พวกเขาได้ นั่นคือเปิดโอกาสให้พวกเขาสามารถควบคุมสถานการณ์ในภาวะที่ถูกกดดัน โดยไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับอาหารที่อยู่ในจานเลย

มื้ออาหารคือช่วงเวลาที่ผ่อนคลายและมีความสุข

………………………………………………………………………………………….

Cr. www.pixabay.com

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.