Home > Education > Universities > รู้จัก CICM วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หลังจากสถาบันการศึกษาชั้นนำต่างๆของไทย เปิดหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติมากขึ้นเรื่อยๆ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็เช่นเดียวกัน ที่เปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์นานาชาติตั้งแต่ 7 ปีก่อน โดยเป็นแห่งแรกของไทยที่เปิดสอนหลักสูตรนี้ และใช้ชื่อว่า คณะแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ 

HELLO! Education ได้มีโอกาสพูดคุยกับผศ.นพ.เทพ เศรษฐบุตร รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษาและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์​ “เราเปิดสอนหลักสูตรแพทยศาสตร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรไทยที่ได้รับการรับรองจากแพทยสภา แต่สอนเป็นภาษาอังกฤษ มานาน 7 ปีแล้วครับ”

คณะแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ
การเรียนการสอนที่มีเครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัย

สำหรับวัตถุประสงค์ของมธ.ในการเปิดหลักสูตรนี้เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ก็เพื่อรองรับเด็กไทยที่เรียนโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งถนัดภาษาอังกฤษมากกว่าภาษาไทย 

“จำนวน 70% ของนักศึกษาเราเป็นเด็กที่จบโรงเรียนนานาชาติในไทยหรือจากต่างประเทศ หรือบางคนอาจไปโตที่อเมริกาแล้วย้ายมาเรียนแพทย์ที่เมืองไทย ทำให้ไม่ค่อยถนัดภาษาไทยมากเท่าไร เป็นการเปิดโอกาสให้เขา”

และจากการเรียนระบบนานาชาติมาตั้งแต่เด็ก เมื่อมาเป็นนักเรียนแพทย์ ภาคภาษาอังกฤษที่มธ. จึงมีความกล้าในการพูด การแสดงออก การคิดวิเคราะห์และการตั้งคำถามอยู่แล้ว 

“สิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญอีกอย่างก็คือ ไม่ว่าจะเรียนภาคภาษาไทย หริอภาษาอังกฤษ ต้องใช้ตำราแพทย์ที่เป็นภาษาอังกฤษล้วนเหมือนกันทั้งหมด เวลาสอบใบประกอบโรคศิลป์ของแพทยสภาก็เป็นภาษาอังกฤษด้วยเช่นกัน เวลาทำข้อสอบ MCQ ก็เป็นภาษาอังกฤษ ยกเว้นการทำ OSCE หรือการประเมินทักษะทางคลินิกต้องเป็นภาษาไทย ทำให้นักเรียนแพทย์ที่จบหลักสูตรนี้มีความถนัดภาษาอังกฤษมากกว่านักเรียนแพทย์หลักสูตรไทย 

คณะแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ
นักเรียนแพทย์จะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ

“นอกจากนี้ในการนำเสนองานวิจัยทางการแพทย์​ นักเรียนของเราจะสามารถเขียนผลงานเพื่อตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ของต่างประเทศ เป็นภาษาอังกฤษได้ถนัดกว่า หรือเวลาไปประชุมแพทย์ที่ต่างประเทศ เขาจะสามารถพรีเซนท์ผลงานเป็นภาษาอังกฤษได้ง่ายอยู่แล้ว”

CICM X สถาบันต่างชาติ

หลักสูตรแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษของ CICM เป็นหลักสูตร 6 ปี 3 ปีแรกเป็น Pre-Clinical ซึ่งเรียนในห้องเรียน เมื่อถึงปี 3 จึงสามารถเลือกไปเรียนที่ University of British Columbia ในแคนาดาราว 4-6 สัปดาห์ 

สำหรับปี 4-5 นั้นเป็นการขึ้นวอร์ด ส่วนในปี 6 นักเรียนสามารถเลือกเรียนที่ UCLA หรือ University of Illinois at Chicago ที่สหรัฐอเมริกา เป็นเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์         

“เรายังได้เชิญอาจารย์แพทย์จากต่างประเทศมาบรรยายให้นักเรียนเราฟังบ่อยๆ แต่เนื่องจากวิกฤติโควิดทำให้การเดินทางมาไทยต้องลดน้อยลง” 

คณะแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ
การสร้างงานวิจัยใหม่ๆก็เป็นเป้าหมายหนึ่งในการเรียนแพทย์

ใช้คะแนนสอบ BMAT 

“เราเป็นสถาบันแรกๆที่ใช้คะแนน BMAT” ผศ.นพ.เทพบอกกับเรา BMAT (BioMedical Admission Test) คือการทดสอบความรู้พื้นฐานของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นอกจากนี้ในการสมัครยังใช้คะแนน IELTS ไม่ต่ำกว่า 6.5 หรือคะแนน TOEFL (internet-based) ไม่ต่ำกว่า 79 หรือคะแนน TU-GET (paper-based) ไม่ต่ำกว่า 550 (computer-based) ไม่ต่ำกว่า 79 ซึ่งสอบไม่เกิน 2 ปี

ผู้ที่ผ่านการทดสอบความรู้ ยังจะต้องผ่านการทำ Mini Mental Exam เพื่อดูว่านักเรียนมีวิธีคิดแบบใด ก่อนจะถึงด่านสัมภาษณ์เพื่อดูทัศนคติเป็นภาษาอังกฤษเป็นด่านสุดท้าย 

แต่ละปีทาง CICM รับนักเรียนแพทย์เพียง 30 คน โดยในปีการศึกษาที่จะถึงนี้จะเปิดรับใบสมัครทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว ยกเว้นการสัมภาษณ์ที่นักเรียนที่ผ่านด่านวิชาการแล้วจะต้องเดินทางมาสอบสัมภาษณ์ด้วยตนเอง ( คณะแพทยศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ )

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.