Home > Education > อย่าปล่อยให้สื่ออีเลคโทรนิกส์ปิดกั้นพัฒนาการทางสมอง

ทุกวันนี้สื่ออีเลคโทรนิกส์มีบทบาทในชีวิตเรามากขึ้นทุกทีๆ เริ่มตั้งแต่สมาร์ทโฟน สมาร์ททีวี พีซี แล็ปท็อป และแท็บเล็ต รวมแล้วเป็นสื่ออีเลคโทรนิกส์ที่หลายคนต่างเป็นกังวลว่า จะส่งผลต่อเด็กๆ ซึ่งยังไม่เดียงสาอย่างไร

HELLO! จึงขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญอย่างพ..ปรานี ปวีณชนา จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น แห่งโรงพยาบาลมนารมย์ เจ้าของเพจหมอแมวน้ำเล่าเรื่องเพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้ปกครองในยุคดิจิทัลนี้

ควรให้เด็กจับมือถือ คอมพิวเตอร์ และแท็บเล็ตในช่วงวัยไหนดี

จริงๆแล้วปัญหานี้เป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังหารือกัน ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์ในต่างประเทศและไทยแนะนำว่า ไม่ควรให้เด็กอายุ 0-2 ขวบสัมผัสหน้าจอเลย ส่วนเด็กที่อายุ 2 ขวบขึ้นไป สามารถสัมผัสหน้าจอได้ แต่ควรจำกัดเวลาไม่เกินวันละ 1-2 ชั่วโมง เพราะสมองของเด็กช่วง 0-5 ปีแรกยังมีการพัฒนา

ถ้าให้เด็กสัมผัสหน้าจอเร็วเกินไป สมองจะพัฒนาแตกต่างจากสมองเด็กปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมองส่วนหน้าซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับสมาธิ ความตั้งใจ การบริหารจัดการ การยับยั้งชั่งใจ การเรียงลำดับก่อนหลัง การวางแผนต่างๆ ซึ่งอาจทำให้เซลสมองมีการเรียงตัวผิดปกติได้ และเด็กอาจมีอาการสมาธิสั้น

ถ้าไม่ให้เล่นเลยจะดีที่สุด

ใช่ค่ะ แต่หมอรู้ว่าเป็นเรื่องยากสำหรับพ่อแม่ ในประเทศไทยเองเคยมีการสำรวจว่าเด็กอายุเพียงแค่ 6 เดือนร้อยละ 98 มีการสัมผัสสื่อ เพราะบางทีผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแลเด็ก ก็จะใช้สื่อหน้าจอเป็นพี่เลี้ยง ซึ่งจริงๆเป็นการกระทำที่ผิด

แล้วสำหรับเด็กโตขึ้นมาหน่อย การให้ดูYouTuber เด็กส่งผลอย่างไรต่อพวกเขา

หมอเจอปัญหาลักษณะนี้เยอะมาก เด็กดูรีวิวของเล่นแล้วอยากได้อยากมี ถามว่าดูได้ไหม ดูได้ แต่ผู้ใหญ่ก็ต้องนั่งดูด้วย แล้วคอยกำกับและถามความคิดเห็นของเด็ก ให้เขาฝึกคิดวิเคราะห์แยกแยะ และต้องดูด้วยว่าคอนเทนท์เหมาะสำหรับเด็กหรือเปล่า เพราะสื่อต่างๆมีทั้งคุณและโทษ อย่างสื่อที่สอนเรื่องตัวเลข ตัวอักษร นิทาน คติสอนใจ การเข้าสังคม การสื่อสารเหล่านี้ หมอถือว่าเป็นสื่อที่ดีที่ผู้ปกครองสามารถใช้เป็นสื่อกลางในการสอนเด็กได้

แต่ปัญหาที่เจอบ่อย แม้ว่าผู้ปกครองจะนั่งใกล้ๆก็ตาม แต่เวลาดู YouTube ไปเรื่อยๆ จะชอบมีคลิปความรุนแรงเด้งขึ้นมา การมีผู้ใหญ่คอยกำกับจึงสำคัญมาก เพราะถ้าเด็กติดสื่อพวกนี้จะทำให้พัฒนาการหลายด้านล่าช้าได้ อย่างเช่นเด็กบางคนพูดช้าเพราะผู้ปกครองหรือคนรอบข้างไม่ได้คุยกับเด็ก แต่ให้เด็กอยู่กับหน้าจอ เพราะฉะนั้นเด็กจะไม่ได้เรียนรู้วิธีการสื่อสารหรือโต้ตอบกับคน หรือไม่ได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมือ หรืออ้วนเพราะนั่งเล่นแต่หน้าจออย่างเดียว ไม่ได้ออกกำลังกาย ทำให้พัฒนาร่างกายช้ากว่าปกติ

a child with laptop
ควรให้เด็กสัมผัสหน้าจอช้าที่สุดเท่าที่จะทำได้ Photo: Rohit Farmer Unsplash

แล้วสำหรับเด็กวัย 6-10 ขวบ สามารถเล่นได้นานขึ้นไหม

ไม่ควรเกินวันละ 1-2 ชั่วโมง และแนะนำว่าไม่ควรให้เด็กดูหน้าจอก่อนนอนอย่างน้อย 1 ชั่วโมง เพราะจะมีผลต่อการนอนหลับของเด็ก เป็นการกระตุ้นให้เด็กตื่นตัว ทำให้ร่างกายไม่หลั่งสารเมลาโทนินหรือฮอร์โมนต่างๆที่ช่วยให้นอนหลับ และถ้าเด็กนอนดึกเกินไป ก็อาจทำให้ Growth Hormone ไม่หลั่งตามวงจรปกติ

นอกจากนี้คุณหมอยังพบ Cyber Bullying หรือการกลั่นแกล้งในโลกอินเตอร์เน็ทด้วย

เจอเยอะมากเลยค่ะ และมีหลากหลายรูปแบบ เช่นการแกล้งด้วยการเอารูปเพื่อนไปตัดต่อ ล้อเลียน หรือพิมพ์ข้อความข่มขู่คุกคามว่าจะทำร้าย ทำให้เด็กบางคนไม่ยอมไปโรงเรียน หรือที่เจอหนักๆก็คือการคุกคามทางเพศ

ถ้าเจอแบบนี้เด็กควรทำอย่างไร

เด็กจะบอกผู้ปกครองหรือเปล่า ตรงนี้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ถ้าความสัมพันธ์ดี เด็กเลือกที่จะบอกผู้ปกครอง แต่ถ้าเป็นวัยรุ่น ตามพัฒนาการเด็กจะเชื่อใจเพื่อนมากกว่า แล้วบางทีเพื่อนจะบอกครู บอกผู้ปกครองของเด็กแทน

แล้วควรทำโทษคนที่แกล้งไหม

ส่วนใหญ่เด็กที่แกล้งจะมีปัญหาเรื่องการเรียน ไม่เรียน เรียนไม่เก่ง ไม่ส่งงาน หรือเรื่องความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self Esteem) ไม่ดี  ก็เลยทำตัวเป็นนักเลงแกล้งคนอื่น หรือต้องการมีตัวตนในโลกไซเบอร์ ทางผู้ใหญ่ต้องหาสาเหตุว่าจริงๆแล้วต้นเหตุของการแกล้งคืออะไรกันแน่ อย่างเช่นป่วยด้วยโรคทางจิตเวช หรือทำด้วยความหุนหันไม่คิดเน้นเอาสนุก ตรงนี้เด็กควรได้รับการรักษา และมีการปรับพฤติกรรม ต้องมีบทลงโทษตามมา เช่นกักบริเวณไม่เล่นตอนพักกลางวัน ให้ทำเวรเพิ่ม เพื่อให้เด็กเกิดการเรียนรู้

สำหรับเด็กที่ตกเป็นเหยื่อควรทำอย่างไร

ก่อนอื่นต้องให้เด็กตั้งสติ ไม่เอาคืน เพราะบางทีด่ากันไปด่ากันมาไม่จบ และจะยิ่งทำให้ปัญหาบานปลายมากขึ้น แล้วพอเด็กเริ่มตั้งสติได้ ก็ต้องบล็อก IG Facebook ของคนที่มากลั่นแกล้ง ที่สำคัญต้อง capture หน้าจอเก็บหลักฐานไว้ ในกรณีที่จะแจ้งความ เพราะเรื่องนี้เป็นการกระทำที่ผิดพรบ.คอมพิวเตอร์ ตรงนี้ผู้ใหญ่ต้องรีพอร์ทไปที่แอดมินของเว็บไซต์นั้น จะได้จัดการลบข้อมูลให้ได้มากที่สุดเท่าท่ีจะเป็นได้

ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามประคับประคองจิตใจเด็กด้วย เพราะเด็กส่วนใหญ่ที่ถูกแกล้งมักจะมีภาวะซึมเศร้า อยากฆ่าตัวตาย มีความวิตกกังวล บางคนกลัวไม่กล้าไปโรงเรียน และยังส่งผลต่อความคิดความจำการกินการนอนของเด็กด้วย

don't let children use laptop unattend
อย่าปล่อยให้เด็กเล่นคอมพิวเตอร์โดยไม่มีผู้ใหญ่คอยประกบ Photo:Vicky Summer Unsplash

แล้วเรื่อง E-Sport ควรสนับสนุนดีหรือไม่

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ก้ำกึ่ง Dilemma มาก มีคนไข้ของหมอจำนวนมากอ้างว่า ต้องเล่นเกมส์เพราะอยากเป็นนักกีฬา E-Sport และมันก็อาจเป็นความฝันของเด็กจริงๆก็ได้ แต่เขาไม่รู้ว่าการจะเป็นนักกีฬาได้ เขาต้องมีความพยายาม มีวินัยแค่ไหนกว่าจะไปถึงจุดนั้น แล้วมีสักกี่เปอร์เซ็นต์ ส่วนใหญ่จะเจอเด็กมีปัญหาติดเกมส์ มีปัญหาเรื่องการเรียน มีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง หรือต้องออกจากโรงเรียนก่อนวัยอันควร ไม่ได้เป็นนักกีฬา

ด้วยวิกฤติ Covid-19 ทำให้มีการเรียนออนไลน์มากขึ้น เด็กต้องใช้เวลากับคอมพิวเตอร์มากขึ้น ซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ผู้ปกครองควรทำอย่างไรกับเรื่องนี้ดี

หมอว่าการเรียนออนไลน์เหมาะสำหรับเด็กม.ต้นถึงม.ปลาย ที่สามารถรับผิดชอบตัวเองได้ในระดับหนึ่ง แต่เด็กอนุบาลหรือประถม ด้วยวัยของเขาไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นานอยู่แล้ว และบางทีสื่อที่ทางโรงเรียนทำขึ้นมาก็น่าเบื่อจริงๆ ผู้ปกครองต้องนั่งประกบเด็กด้วย เพราะถ้าไม่ประกบ ปัญหาที่เจอเยอะมากเลยคือเด็กเปลี่ยนไปเล่นเกมส์แทน ทางครูผู้สอนเองก็ต้องมีวิธีเช็ค เช่นเปิดไมค์ตอบคำถามเพื่อดูว่าเด็กยังสนใจบทเรียนอยู่หรือเปล่า

ในเมื่อคอมพิวเตอร์กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ไปแล้ว ถ้าส่งเสริมให้เขาทำความคุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์โดยเร็ว หรือบางรายอาจให้เด็กเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพิ่มเติมด้วย คุณหมอคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้

ที่หมอเห็นบ่อยคือเด็กประถมเรียนพวก Robot หมอคิดว่าสามารถทำได้ คือทำไปโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สามารถบังคับ Robot ได้ แต่ต้องจัดสรรเวลาให้เด็กทำกิจกรรมอื่นตามวัยของเขาด้วยเช่น เล่นกีฬา เล่นกับเพื่อน หรือทำกิจกรรมดนตรีศิลปะอื่นๆด้วย

children and computer
ควรเล่นคอมพิวเตอร์อย่างมีวินัย และเสริมกิจกรรมอื่นร่วมด้วย Photo: Filip Baotic Unsplash

อยากให้คุณหมอแนะวิธีที่ดีที่สุดที่เราจะอยู่ร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้โดยไม่ตกยุค ขณะเดียวกันก็ไม่ทำร้ายสุขภาพ

แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่มีงานวิจัยที่บ่งชี้ชัดเจนว่า คอมพิวเตอร์ส่งผลถึงสมองโดยตรงอย่างไร แต่ก็อยากบอกว่าให้เด็กสัมผัสหน้าจอช้าที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ แต่บางทีหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องยอมรับ เพียงแต่ต้องมีกฏกติกาเช่นเล่นตามเวลาที่ระบุไว้ และต้องเน้นการกระตุ้นพัฒนาการตามวัยในด้านอื่นด้วย เช่นให้เด้กได้เล่นได้ใช้ชีวิตตามวัยเขา อย่าให้อยู่แต่หน้าจออย่างเดียว

ปัญหาที่หมอพบมากที่สุดคือ ผู้ปกครองทำงานไม่มีเวลาดูแลลูก ยิ่งช่วง Work From Home ยิ่งเห็นชัดเลย เด็กอยากเล่นและอดไม่ได้จะกวนคุณพ่อคุณแม่ระหว่างประชุมงาน คุณพ่อคุณแม่อดไม่ได้ต้องยื่นหน้าจอให้เป็นพี่เลี้ยงแทน ซึ่งที่จริงควรฝึกให้เด็กอ่านหนังสือ เล่นเลโก้ หรือตัวต่ออย่างอื่นมากกว่าจะติดหน้าจอ   

    

  

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.