ข่าวดีสำหรับผู้ที่ค้นพบตัวเองว่าอยากเรียนแพทย์ หลักสูตรนานาชาติ ขณะนี้คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดรับผู้ที่ต้องการจะเรียนหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) ขึ้น เป็นรุ่นที่สอง ในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้ โดยเปิดรับผู้ที่จบปริญญาตรี สาขาอะไรก็ได้ ไม่จำกัดอายุ และสัญชาติ
ศ.พญ.นิจศรี ชาญณรงค์ ผู้อำนวยการหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต (หลักสูตรนานาชาติ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ทางคณะได้เตรียมหลักสูตรนี้มาเป็นเวลาเกือบ 3 ปี เนื่องจากเล็งเห็นว่าอาจมีนักเรียนบางจำพวกที่ไม่มั่นใจว่าตัวเองอยากเรียนอะไร แล้วไปเรียนอย่างอื่นก่อน
“หรืออยากเรียนแพทย์แต่ด้วยลักษณะการสอบคัดเลือกแพทย์ในไทย ที่ต้องผ่านกระบวนการของพสวท.ซึ่งอาจไม่เหมาะกับเด็กเหล่านั้น หรือบางคนอยู่ต่างประเทศหรือเป็นชาวต่างชาติ ที่ต้องการเรียนแพทย์ในประเทศไทย หลักสูตรนี้จะเป็นช่องทางใหม่ที่ช่วยให้พวกเขาสามารถเรียนแพทย์ได้ โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกแบบเดิมๆ”
ต้องผ่าน MCAT
แต่ถึงแม้ว่าหลักสูตรนี้จะไม่จำกัดสาขาวิชาที่ผู้สมัครเรียนจบมา แต่นอกจากจะต้องสอบ TOEFL (Internet-based) ได้ไม่ต่ำกว่า 85 และ IELTS (Academic) ไม่ต่ำกว่า 7 แล้ว ผู้สมัครยังจะต้องสอบผ่าน MCAT (Medical College Admission Test) อีกด้วย

แล้ว MCAT คืออะไร จริงๆแล้ว MCAT เป็นการทดสอบมาตรฐานเพื่อเข้าเรียนแพทย์ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งถ้าจะเรียนแพทย์ที่อเมริกาหรือในบางประเทศ ก็ค้องผ่านกระบวนการนี้เหมือนกัน
การสอบ MCAT จะประกอบด้วย 4 ส่วนด้วยกัน มี Biological and Biochemical Foundations of Living Systems, Chemical and Physical Foundations of Biological Systems, Psychological, Social and Biological Foundations of Behavior และ Critical Analysis and Reasoning Skills ซึ่งเป็นการทดสอบความรู้พื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องใช้ในการเรียนแพทย์
ใช้เวลาเรียน 4 ปี
“เนื่องจากผู้สมัครจะต้องจบปริญญาตรีมาแล้ว จึงจะเรียนแพทย์ต่ออีก 4 ปี ไม่ใช่ 6 ปีตามหลักสูตรปกติ ซึ่งสมัยก่อนการเรียนแพทย์จะต้องเรียน Pre-Med และเรียนวิทยาศาสตร์ก่อน 1 ปี จากนั้นถึงเริ่มเรียน Pre-Clinic พวกกายวิภาคศาสตร์ สักพักถึงดูคนไข้” ศ.พญ.นิจศรี กล่าว ก่อนจะพูดต่อว่า
“แต่หลักสูตรนี้จะเป็นการ Integration หมายความว่าเราเอาปัญหาของคนไข้มาให้เด็กเรียนตั้งแต่ต้นเลย เราจะไม่สอนว่าเส้นเลือดตรงนี้เป็นแบบนี้อย่างนั้นอย่างนี้ แต่เราจะให้เขาเห็นเลยว่าสิ่งที่เราเรียนไปมีประโยชน์ในการรักษาอย่างไร ตั้งแต่เดือนแรกที่เรียนเลย มีแม้กระทั่งสอนการซักประวัติคนไข้
“แล้วเราก็แบ่งหลักสูตรเป็นระยะที่ 1 Pre-Clerkshipในภาคเรียนที่ 1-3 เรียนพื้นฐานมากหน่อย และดูคนไข้ที่วอร์ด ระยะที่ 2 เป็น Clerkship จะอยู่ในหอผู้ป่วยเสียเป็นส่วนใหญ่ และมีการสอดแทรกวิชาอื่นด้วย ระยะที่ 3 คือ Externship ซึ่งนิสิตจะเป็นเหมือนแพทย์เกือบเต็มตัว ทำงานร่วมกับรุ่นพี่ หรือคุณหมอหรืออาจารย์ในการทำงานเป็นทีม
“การเรียนแต่ละปีแบ่งออกเป็นปีละ 2 เทอม และจะมีการสอบที่เรียกว่า Formative เป็นประจำทุกเดือน เพื่อดูว่านิสิตตามทันไหม การสอบเก็บคะแนนระหว่างเรียน และการสอบเพื่อวัดผลตอนเปลายเทอม เพราะหลักสูตรนี้เป็น Outcome-based Curriculumn ซึ่งจะตั้งธงไว้ก่อนเลยว่า เราอยากให้เด็กที่จบไปมีความรู้อะไร ตามเกณฑ์ของแพทยสภา และ USMLE (United States Medical Licensing Examination)

“ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วน Knowledge, Skill และที่สำคัญมากคือ Attitude ว่าเขามีความพร้อมที่จะเป็นแพทย์ไหม มีความเห็นอกเห็นใจคนไข้พอไหม เขามีความตั้งใจขนาดไหนในการช่วยเหลือคนอื่น ซึ่งอาจมาจากสิ่งที่เขามีก่อนมาเรียนกับเรา บางคนเรียนดนตรีมา เรียนร้องเพลงมา มี 21th Century Skill ที่ใฝ่หาความรู้ใส่ตัวตลอดเวลา จะต้องมี Digital Literacy แล้วก็เป็น Adult Learner มีความเป็นผู้นำในการดูแลรักษาคนไข้ และสามารถเป็นผู้ชี้นำสังคมในอนาคต”
คุณหมอแห่งยุคอนาคต
“เรามีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยแพทย์ชั้นนำของโลกจำนวนมาก ในปีสุดท้ายเราจะส่งนิสิตไปต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นอังกฤษหรืออเมริกา อังกฤษก็มีทั้ง Glasgow University, Leeds University และ Imperial College ส่วนที่อเมริกาก็มี University of South Florida, Houston University, University of Texas at San Antonio”
ศ.พญ.นิจศรียังกล่าวถึงบรรดาอาจารย์แพทย์ที่มาสอนนิสิตทาง Onsite และ Online “เรามีอาจารย์ต่างชาติบินมาหรือสอนทางออนไลน์จาก Stanford University, UCSF, UCLA ของอเมริกาและอีกหลายแห่งในอังกฤษ เรามี Advisory Board จาก Stanford University หลายท่าน รวมทั้ง UCSF, UCLA, University of Florida State
“การเรียนการสอนของเราจึงเป็นการพูดภาษาอังกฤษกับอาจารย์ผู้สอน ในการดูคนไข้อาจพูดภาษาไทย หรือภาษาอังกฤษ เพราะนิสิตจะได้ฝึกงานที่โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ก็อาจจะมีคนไข้ต่างชาติจำนวนมาก และโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แต่ถ้าช่วงปีแรกนิสิตไม่สามารถสื่อสารภาษาไืทยได้ ก็อาจให้เรียนภาษาไทยเพิ่มเติม เพื่อให้สื่อสารกับคนไข้รู้เรื่อง แต่อย่างไรก็ตามการ Discussion หรือคุยกับอาจารย์ยังคงเป็นภาษาอังกฤษ”

เมื่อจบหลักสูตรนี้ นิสิตจะได้รับการรับรองจากแพทยสภา และ WFME (World Federation for Medical Education) “ก็เหมือนกับหลักสูตรใดๆของแพทยศาสตร์บัณฑิต ซึ่งเป็น General Practitioner ต้องมีการหาความรู้เพิ่มเติม หรือเรียน Residency Training เพื่อเป็นแพทย์ประจำบ้าน แต่บางคนก็อาจจะอยากเป็นหมอนักวิจัย หรือเรียนต่อ PhD หรืออาจทำอย่างอื่น หรือเป็น Policy Maker ก็ย่อมได้ แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน
“เราอยากผลิตแพทย์ที่เป็น Global Doctor โลกปัจจุบันเราไม่ได้อยู่แค่ในประเทศ ขณะเดียวกันเราก็อยากเป็น Medical Education Hub ของโลก ไม่ใช่แค่เอเชีย เพราะมีชาวต่างชาติที่อยากเรียนแพทย์ในไทย เนื่องจากเรามี Healthcare System ที่โดดเด่น
“ในรุ่นแรกที่เราเปิดรับ มีชาวต่างชาติสมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก เราก็หวังว่าจุฬาฯจะเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกในไทยที่ประสบความสำเร็จในการเปิดสอนหลักสูตรนี้”
สำหรับ CU-MEDi รุ่นต่อไปจะเปิดรับสมัครในเดือนตุลาคม-พฤศจิกายนที่จะถึงนี้ และประกาศผลผู้ผ่านเข้ารอบสัมภาษณ์ในเดือนธันวาคม 2564 สอบสัมภาษณ์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และเปืดเรียนในเดือนสิงหาคม 2565 โดยรับนิสิตเพียงรุ่นละ 40 คนเท่านั้น