Home > Education > โรคซึมเศร้า…เป็นเมื่อไรชีวิตเปลี่ยน

ใครที่ติดตามข่าวหน้าหนึ่งในหนังสือพิมพ์ มักจะพบเห็นข่าวการปลิดชีวิตตัวเอง หรือคนใกล้ชิด ด้วยน้ำมือของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จากสถิติพบว่่า โรคซึมเศร้าเป็นปัจจัยสัมพันธ์ กับการฆ่าตัวตายของคนไทย สูงถึง 8% เลยทีเดียว และกลุ่มที่น่าเป็นห่วงเหลือเกิน ก็คือเด็กวัยรุ่น และความน่ากลัวของโรคนี้ ก็คือ ช่วงแรกของโรคนี้นั้นวินิจฉัยยาก เนื่องจากอาการไม่ชัดเจน และคิดว่าเดี๋ยวคงหายเอง

หรือบังเอิญเจอกับอารมณ์ซึมเศร้าลักษณะแฝง เช่นหงุดหงิด เจ้าอารมณ์ โมโหง่าย โดยไม่มีใครเอะใจว่า เป็นอาการเริ่มต้นของ โรคซึมเศร้า เพราะคิดว่า เป็นอาการเครียดจากการทำงาน หรือปัญหาชีวิต ทำให้หงุดหงิดง่าย และเจ้าอารมณ์ ซึ่งหากปล่อยไปนานๆ ก็อาจลงเอยกลายเป็นโรคซึมเศร้า อย่างเต็มรูปแบบได้

คนแบบไหนมีแนวโน้มป่วยด้วยโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้า พบบ่อยในผู้ที่ปรับตัวยาก ไม่ยืดหยุ่น มีความคาดหวังในชีวิตสูง และขาดคนให้คำปรึกษา ขาดมิตรที่ดี ไม่ค่อยชอบเข้าสังคม และมีความขัดแย้งรุนแรงในครอบครัว หรือมีเครือญาติใกล้ชิด ที่เคยเป็นโรคซึมเศร้ามาก่อน (โรคซึมเศร้าถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้)

ผู้ป่วยควรได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด และได้รับการช่วยเหลือแต่เนิ่นๆ เพราะมีแนวโน้มค่อนข้างสูง ที่จะไม่หายง่ายๆ หรือหายแล้วเป็นซ้ำอีก เสี่ยงต่อการดื้อยา และทำร้ายตัวเอง แต้ปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยคือ คนใกล้ชิดอาจไม่แน่ใจ หรือไม่กล้าพูด เพราะเกรงใจ หรือกลัวว่าจะทะเลาะกัน เลยปล่อยให้เรื้อรัง และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ

สำหรับอาการของเด็กที่เข้าข่ายซึมเศร้านั้นมีอาการแตกต่างกันดังนี้

1-5 ขวบ เสียใจง่าย อารมณ์หงุดหงิด ร้องไห้ไม่หยุด กินน้อยหรือไม่กินเลย หลับยาก ตื่นบ่อย ไม่เล่น กลัวโรงเรียน ติดพ่อติดแม่มาก จากที่เคยแยกได้ พัฒนาการถดถ้อย น้ำหนักไม่ขึ้น

5-12 ขวบ ปวดหัว ปวดท้อง หงุดหงิด ฉุนเฉียว เบื่อง่าย ไม่สนใจเรียน การเรียนตกต่ำลง มีอาการวิตกกังวล ปนอยู่ด้วย

เด็กโต มักหมดความสนใจ หรือหมดความกระตือรือร้น ในกิจกรรมที่เคยทำ เคยชอบ หรือมีความสุข ใจคอหดหู่ ซึมเศร้า รู้สึกว่าตัวเองไร้คุณค่า เก็บตัวตามลำพัง พูดน้อยลง บางรายอาจหนีออกจากบ้าน หรือหนีโรงเรียน

การกรีดข้อมือ ส่วนใหญ่มาจากความรู้สึกไร้ค่า ไม่เป็นที่รัก ไม่สามารถสัมผัสถึงคุณค่าของตัวเอง ขั้นรุนแรงมักเกิดตามหลัง การมีปากเสียงรุนแรงกับแฟน หรือผู้ปกครอง

ทั้งหมดนี้มีการศึกษาพบว่า เด็กผู้หญิงที่มีการเปลี่ยนแปลงของ ฮอร์โมนในร่างกาย เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น จะส่งผลให้ การทำงานของระบบต่อม่ไร้ท่อผิดปกติ และการเผชิญความเครียด ทำให้ระดับ cortisol (สารเครียด) ในร่างกาย สูงขึ้น และถ้าคงอยู่เป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมอง และนำมาซึ่งอาการซึมเศร้าได้

7 วิธีดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้าเบื้องต้น

1.ควรมีคนคอยอยู่เป็นเพื่อน

2.ออกกำลังกาย อย่างน้อย สัปดาห์ละ 3 วัน ครั้งละ 30 นาที

3.มีกิจกรรมสันทนาการ สำหรับตัวเอง เพื่อให้ผ่อนคลาย

4.ปลดปล่อยระบายอารมณ์ ด้วยการพูด เล่าความรู็สึก กับคนที่อารมณ์มั่นคง และไว้ใจได้ ร้องไห้  และเขียนความรู้สึก ลงในสมุดบันทึก

5.ฝึกมองโลกในแง่ดี

6.รู้จักพักผ่อน และนอนให้เพียงพอ

7.โทรสายด่วน 1323 กรมสุขภาพจิต ตลอด 24 ชั่วโมง

บทสรุป

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้า หรือมีอาการขั้นรุนแรง มีอารมณ์ซึมเศร้าตลอดเวลา มีความคิด มีการวางแผน และรู้สึกอยากตาย อยู่อย่างต่อเนื่อง มีความหุนหันพลันแล่นสูง จิตหลอน แพทย์จำเป็นต้อง admit  ให้ยาก่อน แล้วจึงค่อยพิจารณา เรื่องการทำจิตบำบัด เป็นขั้นตอนถัดมา การเข้ารับการรักษาเร็ว จะสามารถลดความเสี่ยง ในการฆ่าตัวตายได้

ต้องไม่ลืมว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงทางด้านพันธุกรรม และเริ่มเป็นเมื่ออายุยังน้อย (ก่อนอายุ 18 ปี) การดำเนินของโรค อาจไม่สิ้นสุดได้โดยง่าย และมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำสูง ใน 5-10% ของผู้ป่วยซึมเศร้า อาจพัฒนาเป็นไบโพลาร์ ได้ภายใน 6-10 ปี หลังวินิจฉัย และมักเกิดหลังจากเป็นซึมเศร้า รอบที่ 2

ควรระมัดระวัง ไม่ให้ผู้ป่วยต้องเผชิญ สิ่งแวดล้อมที่ก่อให้เกิด ความตึงเครียดต่อเนื่อง หรือความขัดแย้ง มากจนเกินไป โดยเฉพาะความขัดแย้ง ภายในครอบครัว ควรฝึกตนเอง ให้รู้จักผ่อนหนักเป็นเบา และปล่อยวาง

แนะนำว่า ไม่ควรนำเด็กเข้ามา ในวงจรความรุนแรง เนื่องจากเด็ก ยังเป็นวัยที่มีความเปราะบางทางจิตใจสูง และยังมีความอดทน ต่อความเครียดของสมอง ไม่ดีพอ เมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ การปล่อยปละละเลยไท้ดูแลเด็ก อาจส่งผลกระทบ ให้การพัฒนาของสมอง และจิตใจเด็ก มีปัญหาทั้งระยะสั้น และระยะยาว

ปรับหลักวิธีคิดให้ถูก

การมีอารมณ์ซึมเศร้า และมีความคิดอยากตาย อยู่อย่างต่อเนื่อง ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน ไม่มีคำว่า ‘หายเอง’ โรคซึมเศร้า เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนในสมอง ไม่ใช่ และไม่ได้ เกิดจากความอ่อนแอ สามารถรักษาให้หายกลับเป็นปกติได้

“In actual fact, depression is treatable and to a fair number of cases suicide is preventable”

 

ผู้เขียน นายแพทย์ชลภัฎ จาตุรงคกุล จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น และจิตแพทย์ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ NHS กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

 

 

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.