อาชีพแพทย์เป็นอาชีพที่ต้องยึดมั่นในจรรยาบรรณวิชาชีพ และต้องการความเสียสละเป็นอย่างมาก จึงถือเป็นอาชีพอันทรงเกียรติและได้รับการเคารพจากสาธารณชนเป็นอย่างสูง ดร.นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี ก็เป็นอีกท่านหนึ่งที่มีคุณสมบัติดังที่กล่าวถึงข้างต้นครบครัน
จากเด็กสุรินทร์ที่เกิดในครอบครัวครู และเรียนดีมาตั้งแต่เด็กๆ เขาปักใจอยากเป็นหมอเพื่อจะได้ช่วยชีวิตคน ทั้งที่มารดาอยากให้เชาเป็นผู้พิพากษา จึงสอบเข้าเรียนแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
“สมัยเรียนแพทย์ ผมเป็นผู้ก่อตั้งและเป็นนายกสหพันธ์นักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทยคนแรก ซึ่งการก่อตั้งบอกได้เลยว่าไม่ง่าย ต้องใช้เวลาสามปีได้ กว่าจะสำเร็จ ก็ค่อยๆชวนทุกคนมาแข่งกีฬา รับน้องด้วยกัน เพื่อหาจุดร่วมกันก่อน ก็เริ่มจากไม่กี่สถาบัน ตอนนี้มีอยู่ 20 กว่าสถาบันทั่วประเทศ และน้องๆก็ร่วมกันทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องยาวนานจนถึงบัดนี้ ผมก็รู้สึกดีที่เราสามารถทำให้เกิดการรวมตัวได้จนบัดนี้ ไม่ใช่ว่าทำแล้วก็จบไป”

ศัลยแพทย์ VS นักออกแบบนโยบายสาธารณสุข
หนุ่มใหญ่คุณหมอบอกกับเราพร้อมรอยยิ้ม ถึงการเลือกเรียนเฉพาะทางหลังจากจบแพทย์แล้ว “ตอนเรียนจบใหม่ๆก็อยากเป็นหมอศัลย์ เพราะว่าตอนเรียนชอบผ่าตัด แต่ตอนหลังเปลี่ยนใจไปเรียนทางด้านสาธารณสุขแทน จำได้เลยว่าวันที่ตัดสินใจนั้นผมถามตัวเองว่า ถ้าเป็นหมอศัลย์ ปีๆหนึ่งคงรักษาคนไข้เต็มที่ได้แค่หลักพัน แต่ถ้าเราทำด้านนโยบายสาธารณสุขคิดว่าปีๆหนึ่งคงสามารถทำประโยชน์ได้มากกว่า เลยเลือกที่จะเปลี่ยนสาย ซึ่งก็ตัดสินใจยากอยู่สำหรับการสวนกระแสไม่เป็นแพทย์เฉพาะทางอย่างที่เพื่อนๆส่วนใหญ่ทำ”
ระหว่างนั้นเขามีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในโครงการปฏิรูประบบบริการสาธารณสุข ก่อนจะพัฒนาเป็นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ก็เลยได้รู้ว่าอนาคตเราจำเป็นจะต้องใช้ความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ก็เลยสมัครเรียนโดยทุนกพ. ซึ่ง University of York เป็น No.1 ทางด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่ค่อนข้างใหม่มากสำหรับคนไทยในยุคปีค.ศ.2000
“จริงๆตั้งใจเรียนที่ยอร์คจนจบเอก แต่เผอิญอาจารย์ที่ปรึกษาตอนเรียนปริญญาเอกของผมลาออก ตอนนั้นผมก็ตัดสินใจว่าจะเรียนที่ยอร์คต่อจนจบ หรือย้ายไปเรียนสถาบันอื่นดี ก็เลยตัดสินใจย้ายไปเรียนที่ London School of Hygiene and Tropical Medicine ซึ่งอยู่ภายใต้ University of London ถือเป็นโชคดีว่าเราได้เรียนทั้ง 2 สถาบัน ได้เห็นจุดแข็งของทั้ง 2 แห่ง”

ไม่ต้องรู้กว้าง แต่รู้ลึก
เราถามว่าการเรียนที่อังกฤษกับไทยนั้นในสายตาเขาต่างกันอย่างไร คุณหมอตอบแบบไม่ลังเลเลยว่า “ผมชอบบรรยากาศการเรียนการสอนของชาวอังกฤษ อย่างที่ยอร์คจะสอนทฤษฎีก่อน แล้วก็สอนว่าถ้านำไปใช้จริงในประเทศต่างๆจะเป็นยังไงบ้าง แล้วเขาจะชี้ให้เห็นจุดอ่อนและจุดแข็งของมัน ว่าพอใช้แล้วเป็นยังไง ซึ่งไม่มีอะไรที่สมบูรณ์แบบ 100% มันมีทั้งจุดแข็งและจุดอ่อน ถ้าหากมีจุดอ่อนต้องมีนโยบายรองรับจุดอ่อน เรียกว่า Companion Policy ซึ่งผมว่ามันทำให้กระบวนการคิดของเราเป็นระบบ ค่อยเป็นค่อยไปทีละสเต็ป อย่างเวลาทำวิทยานิพนธ์ก็ใช้กระบวนการคิดแบบนี้ โดยเริ่มจากการตั้งคำถาม ทบทวนองค์ความรู้ จากนั้นค่อยหาคำตอบ เพราะฉะนั้นเวลาไปทำงาน แล้วเจอสิ่งที่เราไม่รู้ การทำแบบทีละสเต็ปแบบนี้จะทำให้เราเจอวิธีการแก้ปัญหาเอง
“ต่อมาคือการสอบซึ่งจะต่างจากบ้านเรา ของไทยสอบแบบปรนัย ให้เลือกคำตอบที่ดีที่สุด แต่ว่าที่อังกฤษสอบแบบอัตนัย ออกข้อสอบมา 10 ข้อ ให้เลือกตอบ 3 ข้อ มันทำให้เรารู้สึกว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องรู้หมด แต่รู้ลึกในเรื่องนั้นๆ เพื่อที่เราจะเขียนได้ดี จำได้ว่าผมต้องเขียนทั้งสิ่งดีและสิ่งที่ไม่ดีด้วย เพราะเขาสอนให้เรามองเห็นทั้งสองด้าน ขณะที่สอบแบบปรนัยเราเลือกสิ่งที่ดีที่สุดไปแล้ว ทำให้เราไม่นึกถึงข้อดีข้อเสียที่ตามมา ซึ่งตรงนี้ทำให้วิธีคิดของเด็กอังกฤษกับเด็กไทยต่างกัน เพราะถูกหล่อหลอมมาไม่เหมือนกัน
“นอกจากนี้ผมยังชอบบรรยากาศของความเป็นอินเตอร์เนชั่นแนล ทำให้เราเข้าใจความหลากหลายของโลกใบนี้ ความหลากหลายของวิธีคิด ทำให้เมื่อกลับเมืองไทยผมเข้าใจความหลากหลายในสังคมมากขึ้น เพราะที่มหาวิทยาลัยมีคนต่างชาติจากทั่วโลกเต็มเลย วันไหนว่างก็นัดกันทำอาหารประจำชาติทานกัน ทำให้เห็นวิถีชีวิตที่ต่างกันตั้งแต่วิธีปรุงอาหารแล้ว”

ปริญญาบัตรหรือจะสู้ปริญญาชีวิต
การเรียนที่ลอนดอนสคูลทำให้คุณหมอพบกับนักเรียนแพทย์ชาวอเมริกันที่วิ่งตามความฝันของตัวเอง โดยไม่ปล่อยให้กฏเกณฑ์มาเป็นกรอบจำกัดชีวิต
“เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมชอบมากนะ ตอนเรียนลอนดอนสคูลผมมีเพื่อนร่วมหอพักเป็นผู้ชายอเมริกันรุ่นน้องคนหนึ่ง เป็นนักเรียนแพทย์ปี 3 ที่ Harvard Medical School แล้วเขาก็ได้ทุนเรียนโทที่ลอนดอนสคูล เขาเลยดร็อปการเรียนหมอ เพื่อเรียนที่อังกฤษ ผมถามว่าทำไมยูไม่เรียนหมอให้จบก่อน เขาก็บอกว่าเขาจบหมอแน่อยู่แล้วละ แต่ในเมื่อเขาได้ทุนมาเรียนที่อังกฤษ เขาก็เลือกมาก่อนสิ ทำไมต้องให้จบตามพีเรียด ให้หลังจากนั้นอีกพักหนึ่งผมเจอเขาก่อนสอบ final 2-3 สัปดาห์ ปรากฏว่าเขากำลังเก็บของ ผมก็ถามว่าจะไปไหน ใกล้สอบแล้วไม่ใช่หรือ เขาบอกผมว่าจะไปประจำที่แอฟริกา ผมก็ถามว่าแล้วไม่สอบหรือ เขาบอกว่าดร็อปไว้ก่อนแล้วค่อยกลับมาสอบทีหลัง
“มันทำให้ผมตระหนักว่าวิธีคิดของเขากับวิธีคิดของเราไม่เหมือนกัน สำหรับเขาประสบการณ์การเรียนรู้ของเขามีค่ามาก เมื่อเทียบกับปริญญาบัตรที่เขาจะได้ เดี๋ยวนี้เวลาผมแนะนำรุ่นน้องๆจะบอกว่าประสบการณ์นั้นสำคัญ การเรียนรู้ไม่ได้อยู่แต่ในห้องเรียน หรือการสอบหรอกนะ แต่มันอยู่ที่การสั่งสมประสบการณ์จริงต่างหาก ซึ่งมีประโยชน์มากในชีวิตจริง ผมคิดแบบนี้นะครับ นี่คือตัวอย่างที่ผมยังจำได้จนถึงทุกวันนี้”
ประโยชน์ส่วนรวมคือกิจที่หนึ่ง
ปัจจุบันดร.นพ.พงศธร ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยปลัดกระทรวงสาธารณสุข และเพิ่งได้รับรางวัลศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่นประจำปี 2563 ซึ่งทำให้เขาประหลาดใจ
“เพราะผมคิดว่าคนที่ทำประโยชน์ให้ประเทศมีเยอะอยู่แล้ว ก็รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติที่ได้รางวัลเพราะปีๆหนึ่งมีนักเรียนไทยเข้าเรียนสถาบันมีชื่อเสียงระดับโลกในอังกฤษเป็นจำนวนมาก”
ถามว่าเขามีใครเป็นแบบอย่างในการใช้ชีวิต เขาครุ่นคิดนิดหนึ่งก่อนตอบว่า “ต้นแบบของผมในทุกๆด้านเลยก็คือในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านทรงเป็นมหาบุรุษที่เราหาไม่ได้อีกแล้ว สิ่งที่ท่านทำเป็นตัวอย่างคือการทรงงาน คนไทยโชคดีที่สุดแล้วที่มีพระองค์ท่านเป็นแบบอย่าง และเราจะสืบสานพระปณิธานของพระองค์ท่านต่อไป

“สิ่งที่สมเด็จพระราชพระบิดา (สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) สอนก็คือ ให้ยึดประโยชน์ของตนเป็นกิจที่สอง ประโยชน์ของส่วนรวมเป็นกิจที่หนึ่ง เป็นคำสอนที่ผมคิดว่ายังใช้ได้อยู่ สำหรับวิชาชีพแพทย์อย่างเรา เพราะคนที่เลือกวิชาชีพนี้คือคนที่เลือกใช้ชีวิตเพื่อผู้อื่นมากกว่าการทำรายได้ ผมคิดว่ายังมีอาชีพอีกหลายต่อหลายอย่างที่สามารถทำเงินได้ดีกว่าการเป็นหมอ
“อนาคตอันใกล้ผมอยากจะทำอีกสักสองสามเรื่อง เรื่องแรกคือ Digital Transformation ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมไม่ถนัดนะ แต่คิดว่าเราคงต้องเตรียมการ เพราะไม่อย่างนั้นเราจะถูกดิสรัปต์จากความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว สอง เรื่องผู้สูงอายุ ที่ผมต้องศึกษาอย่างจริงๆจังๆ เพราะเราต้องเตรียมรับแรงกระแทกด้านนี้ ซึ่งถ้าไม่ตั้งรับให้ดีมันจะรุนแรงเพราะมันจะกระทบทุกระบบเลย
“และสุดท้ายผมคิดถึงคำที่ผู้ใหญ่ในอดีตท่านสอนว่า ชีวิตแบ่งเป็น 3 ช่วง ช่วงเรียนรู้ ช่วงนำความรู้มาใช้ และช่วงถ่ายทอดความรู้ส่งไม้ต่อให้คนรุ่นต่อไป เพราะเราเองก็ไม่รู้จะอยู่อีกนานเท่าไร เลยคิดว่าการสร้างคนเป็นเรื่องที่ควรทำ จริงๆผมก็ไม่ได้เก่งขนาดไปสอนใคร แต่เป็นเรื่องจำเป็นที่เราต้องทำ เพราะผมเห็นผู้ใหญ่ในอดีตท่านก็ทำแบบนี้ ผมเองก็มาจากการสร้างคนแบบนี้เหมือนกัน”