ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ เผชิญ Covid-19 นานกว่าครึ่งปี ระหว่างเรียนเรื่อง Earth System Science ที่ Stanford University
หากยังจำกันได้ HELLO! Education เคยพูดคุยกับเขาในฐานะเจ้าของเหรียญทองภูมิศาสตร์โอลิมปิกประจำปี 2017 และในฐานะตัวแทนประเทศไทยในการแข่งขันปรัชญาโอลิมปิกประจำปี 2018 ปัจจุบันเขาได้ทุนรัฐบาลไทยในการเข้าเรียนปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกในต่างประเทศ และเขาเลือกเรียนปี 1 ทางด้าน Earth System Science ที่ Stanford University และต้องเผชิญวิกฤติ Covid-19 ในช่วงที่สหรัฐอเมริกามีอัตราการติดเชื้อมากเป็นอันดับ 1 ของโลกอยู่นานกว่าครึ่งปี
HELLO! ได้พูดคุยกับน้องไดร์ฟ–ธีรเชษฐ์ โรจน์รัชสมบัติ ภายหลังเขาออกจากการกักตัวเป็นเวลานาน 14 วันตามมาตรการของรัฐบาลเมื่อกลับถึงเมืองไทย “ผมเป็นเด็กไทยที่ยังอยู่มหาวิทยาลัยเพียงคนเดียว ขณะที่คนอื่นกลับบ้านตั้งแต่เดือนมีนาคม ไม่เข้าใจตัวเองเหมือนกัน (หัวเราะ) แต่เผอิญผมได้งานผู้ช่วยวิจัยที่มหาวิทยาลัยช่วงซัมเมอร์เป็นเวลานานสามเดือน และเพราะผมคิดว่าพอเปิดเทอม Fall แล้วทุกอย่างจะกลับเป็นปกติ เลยตัดสินใจอยู่ต่อ ปรากฏว่าผมเลือกผิด (หัวเราะ) มันแย่กว่าที่คิดมากเลย
“แต่ Stanford ดูแลนักเรียนดีมาก ผมต้องเรียนออนไลน์จากหอพักของมหาวิทยาลัย โชคดีที่เพื่อนสนิทผมเลือกอยู่ต่อเหมือนกันหมด คนหนึ่งมาเช่าบ้านอยู่ข้างมหาวิทยาลัย ก็เลยได้เจอกันบ่อย วันๆทำได้แค่เรียน กับทำงาน บางทีก็วิ่งหรือปั่นจักรยานรอบมหาวิทยาลัย ถ่ายรูป ไม่ก็ไปเทร็กกิ้งที่ภูเขาหลังมหาวิทยาลัย ส่วนห้องสมุดหรือ facility อื่นๆของมหาวิทยาลัยปิดหมดเลย

“ตลอดเวลาหกเดือนที่ผมอยู่มหาวิทยาลัย ดีที่สามเดือนสุดท้ายเขายุบโรงอาหารทุกแห่งเหลือแค่แห่งเดียว ทำให้ได้ทานอาหารฝีมือเชฟที่ดีที่สุดที่เขามาอยู่ด้วยกัน เลยกลายเป็นว่าผมได้กินอาหารระดับภัตตาคารทุกวัน ซึ่งอร่อยมาก (หัวเราะ)
“ผมได้นั่งรถเพื่อนไปเที่ยวป่ากันบ้าง เพราะเรากลัวเจอคน ไปปีนเขาดูดาวกัน แอบกลัวสัตว์ป่านิดหนึ่ง แต่ไม่มีอะไร สองเดือนแรกที่มี Covid-19 หามาสก์ไม่ได้เลย แต่ตอนนี้ล้นตลาดแล้ว ทุกคนหันมาทำ Social Distaning จริงจัง มีคนไม่ทำตามเหมือนกันครับ เพราะเขาไม่แคร์และไม่เชื่อว่ามี Covid-19 และไม่เชื่อว่าการใส่มาสก์ช่วยได้ แต่ก็น้อย ซึ่งทำให้ผมเหนื่อยใจและไม่แปลกใจเลยว่า เพราะอะไรอเมริกาถึงมีคนติดเชื้อหลายล้านคน”
หลังจากอยู่อย่างหงอยเหงาในแคมปัสของ Stanford มาเป็นเวลานานหกเดือน เขาจึงตัดสินใจพักการเรียนไว้ก่อน “ผมดร็อปเรียนเลย เพราะไม่อยากเรียนออนไลน์อีกแล้ว ทรมานมาก แต่ถ้าอยู่เมืองไทยแล้ว 9 เดือนแล้วยังไม่เกิดอะไรขึ้น ผมถึงจะเรียนออนไลน์ ตอนนี้ก็ได้แต่รอว่าจะมีคนพัฒนาวัคซีนออกมา ซึ่งคงไม่ใช่ในปีนี้แน่นอน”
Earth System Science
ระหว่างที่น้องไดรฟ์ดร็อปเรียนมาอยู่ไทย เขาตั้งใจจะเป็น YouTuber สอนเกี่ยวกับ Earth System Science ที่เขาไปเรียนรู้มาจาก Stanford รวมทั้งวิชาปรัชญาที่เขาถนัด ซึ่งวิชา Earth System Science นี้เป็นอย่างไร หนุ่มไดร์ฟบอกเราว่า
“วิชา Earth System Science ที่ผมเลือกเป็นเมเจอร์ เป็นสาขาที่ค่อนข้างใหม่ หลักๆเลยคือเขามองว่าโลกนี้ประกอบด้วยระบบต่างๆที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียว อย่างเช่นภูมิอากาศ การหมุนเวียนของสารเคมีในโลก รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญมาก แต่ในไทยไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ แต่ตอนผมแข่งภูมิศาสตร์โอลิมปิก ได้เรียนเรื่องนี้ค่อนข้างลึกและกลายเป็นว่าเรื่องสิ่งแวดล้อมรวมทั้ง Climate Change เป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก แต่คนไม่สนใจเลย ทีนี้ผมคิดว่าในเมื่อไม่มีใครสนใจ ผมก็ต้องทำเอง

“ในการเรียนเขาใช้คอมพิวเตอร์ในการจำลองปรากฏการณ์เหล่านี้ออกมาเป็นโมเดล เพื่อจะศึกษาและทำนายอนาคตว่า โลกในอีก 100 ปีข้างหน้าหน้าตาจะเป็นยังไง ถ้ามนุษย์ยังทำแบบนี้อยู่ หรือถ้ามีนโยบายนี้หน้าตาโลกจะเป็นยังไง ซึ่งการจะจำลองโลกขึ้นมาได้ เราต้องเข้าใจทุกอย่างเสียก่อน ต้องเรียนทั้งฟิสิกส์ เคมี ชีวะ คณิตศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ ธรณีวิทยา และอยู่ที่เราจะสนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ ผมก็จะไปในแนวภูมิอากาศ หรือชั้นบรรยากาศโลก”
ด้วยความที่ Stanford อยู่ใกล้กับซิลิคอนวัลเลย์ ทำให้การเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยเน้นหนักในเรื่องการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก
“ผมนึกว่าตัวเองจะไม่โดนดึงดูดเข้าไปสายนี้ แต่กลายเป็นว่าสุดท้ายผมต้องเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เทอมแรกเขาเปิดกว้างให้นักเรียนอยากเรียนอะไรก็เรียน ผมเลยไปลงเรียนแลนด์สเคปพื้นที่ในแคลิฟอร์เนีย มีการออกภาคสนามเพื่อดูว่ากระบวนการทางธรรมชาติเป็นยังไง เรียนเรื่องภาวะโลกร้อนกับคนที่เป็นท็อปของโลกในสาขานี้ ทำให้มุมมองผมเปลี่ยนไปมากเพราะคลาสนี้”
เขาได้งานผู้ช่วยวิจัยจากโปรเฟสเซอร์ และได้ศึกษาเรื่องระบบมรสุมในทวีปอเมริกาเหนือ “มีองค์กรต่างๆที่รวบรวมข้อมูลไว้หมดแล้ว ผมก็แค่ดาวน์โหลดข้อมูลมา แล้วก็เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากที่เรียนมา เป็น AI แบบง่ายๆ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลระดับโลก ซึ่งผมก็ศึกษาว่าภาวะโลกร้อนทำให้ระบบมรสุมเปลี่ยนไปยังไง และผลงานนี้จะได้ตีพิมพ์ในวารสารทางวิทยาศาสตร์เร็วๆนี้

“จุดประสงค์ของการเรียนวิชานี้คือ การทำนายอนาคตว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับโลก เพื่อส่งต่อให้ Policy Maker ใช้ในการตัดสินใจว่าจะสร้างเขื่อนหรือมีมาตรการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมแบบไหนถึงจะสามารถรับมือกับปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นฐานเศรษฐกิจประเทศไทยเราอิงกับเกษตรกรรมค่อนข้างมาก ถ้าหากสภาพแวดล้อมไทยเปลี่ยนไป สิ่งที่ได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากก็คือพื้นฐานเศรษฐกิจไทย เราจึงควรที่จะต้องเตรียมพร้อมรับมือเรื่องเหล่านี้ในอนาคต แต่ก็อย่าเพิ่งหมดหวังเสียทีเดียว เรายังมีทางออกอีกมากมาย อยู่ที่เราจะทำหรือเปล่าเท่านั้นเอง”
น้องไดร์ฟหวังอีกว่าเขาจะเรียนปริญญาตรีควบปริญญาโทให้จบภายในระยะเวลา 4 ปี เพื่อจะเรียนต่อปริญญาเอกอันเป็นเป้าหมายใหญ่ในขณะนี้ของเขา จากนั้นเขาหวังอย่างยิ่งที่จะกลับมารับใช้ชาติด้วยการเล่นการเมือง เพื่อจะได้แก้ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม เขายังฝากถึงรุ่นน้องๆอีกด้วยว่า ต่อไปวิชาที่จะมีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับศตวรรษนี้และศตวรรษหน้า นั่นก็คือการเรียนเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์
“ทักษะที่โลกต้องการก็คือทักษะทางคอมพิวเตอร์ อย่าง Python เพราะมีประโยชน์มากครับ ในยุคที่มี Big Data การใช้ AI มีประโยชน์มากในการประมวลผลข้อมูล ถ้าไม่อยากถูกดิสรัปต์ด้วย AI เราก็ควรเป็นฝ่ายใช้ AI เสียเอง และจะเป็นประโยชน์ต่อไปในอนาคตได้อีกมากมาย”