ดิสเล็กเซีย (Dyslexia) คือภาวะผิดปกติเกี่ยวกับการเรียนรู้ภาษา ที่ส่งผลให้ไม่สามารถอ่าน สะกดคำ หรือเขียนหนังสือ อันเป็นความผิดปกติด้านการเรียนรู้ โดยมีสาเหตุจากเซลล์สมองซีกซ้ายทำงานผิดปกติ ทำให้อ่านหนังสือช้า ถูกตราหน้าว่าเป็นเด็กโง่ ทั้งที่เด็กดิสเล็กเซียฉลาดกว่าเด็กทั่วไปด้วยซ้ำ

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, สตีเวน สปีลเบิร์ก, ออร์แลนโด บลูม, เจนนิเฟอร์ อนิสตัน ,ทอม ครูซ, คีนู รีฟส์ ,บีโธเฟน, จอห์น เลนนอน, อกาธา คริสตี้, สตีเฟน ฮอว์กิง, อเล็กซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ ,วอร์เรน บัฟเฟต ,วินสตัน เชอร์ชิล ฯลฯ ล้วนเป็นคนดังที่เป็นดิสเล็กเซ๊ย ซึ่งเป็นความผิดปกติท่ีคนไทยเริ่มรู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ แต่จะเป็นอย่างไรหากลูกของเราเป็นดิสเล็กเซีย เพราะดิสเล็กเซียเป็นอาการที่ไม่สามารถรักษาหายด้วยยา ขอเพียงพ่อแม่และครูมีความเข้าใจ เด็กดิสเล็กเซียก็จะเติบโตมาอย่างมีความสุขได้ไม่ยาก
–สร้างโอกาสอย่างเป็นระบบให้ลูกได้แสดงความสามารถ
เด็กดิสเล็กเซียจำเป็นจะต้องได้รับโอกาสที่จะค้นหาตัวเองว่า มีความสามารถทางด้านไหน และมีแพสชั่นกับอะไรมากเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเด็กดิสเล็กเซียอยากออกไปสร้างปราสาทที่สนามเด็กเล่น และคุณต้องเรียกเขากลับบ้านหลายครั้งหลายหน แสดงว่าเขากำลังสนุกกับกิจกรรมนั้นๆ จนลิมเวลาไปเสียสนิท

เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองหรือครูจะต้องคอยค้นหาความสามารถ ที่แฝงอยู่ในตัวของเด็กดิสเล็กเซีย เพราะพวกเขาอาจจะสามารถทำ ในสิ่งที่คนอื่นบอกว่าพวกเขาทำไม่ได้ก็ได้
–อย่าเปรียบเทียบลูกกับคนดังที่เป็นดิสเล็กเซีย
ถ้าคุณคิดที่จะเปิดเว็บไซต์เกี่ยวกับคนดังที่เป็นดิสเล็กเซียซึ่งมีอยู่มากมายให้ลูกดู แง่หนึ่งก็เป็นความคิดที่ดีนะ แต่คิดอีกทีมันอาจเป็นผลเสียมากกว่าผลดีก็ได้ การพยายามปลอบใจเด็กดิสเล็กเซีย ด้วยคำพูดว่า ‘ไอน์สไตน์ก็เป็นดิสเล็กเซีย’ อาจทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกเปรียบเทียบ
เด็กดิสเล็กเซียมีความฉลาดมากกว่าเด็กทั่วไป และมีความสามารถในการจับผิดคนได้อย่างแม่นยำ พวกเขารู้ว่าตัวเองไม่เป็นและจะไม่มีวันเป็นแบบไอน์สไตน์
–เด็กดิสเล็กเซียประสบความสำเร็จไม่น้อยกว่าเด็กฉลาด
เด็กดิสเล็กเซียอาจจะอ่านไม่เก่ง แต่พวกเขาก็เป็นนักคิดที่ว่องไว ความสามารถในการถอดรหัส สะกดคำ และการอ่านของเด็กดิสเล็กเซียอาจอ่อนแอ แต่ห้วงแห่งความคิดของพวกเขากลับเต็มไปด้วยความสามารถในการคิดวิเคราะห์ การคิดแบบขั้นสูง ความคิดเชิงสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหา

จากการสำรวจชีวิตศิษย์เก่า Yale University ทั้งที่เป็นดิสเล็กเซีย และไม่เป็น ปรากฏว่าพวกที่เป็นดิสเล็กเซียจำนวนไม่น้อยที่สามารถจบการศึกษา และประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานและในชีวิตส่วนตัว
–เปิดโอกาสให้เด็กดิสเล็กเซียมีบทบาทในครอบครัว
เด็กที่เป็นดิสเล็กเซียอาจมีดีซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการทำความเข้าใจกลไกชั้นสูง หรือทำอาหาร การให้โอกาสเด็กดิสเล็กเซียมีบทบาทในครอบครัว อาจช่วยให้พวกเขากลายเป็นนักแก้ปัญหา หรือเป็นเชฟประจำครอบครัวก็เป็นได้
–จับมือกับครู
ร่วมมือกับครูประจำชั้น เพื่อให้ครูทราบว่าคุณกับครูเป็นพวกเดียวกัน และมีความเป็นธรรมในการประเมินความสามารถและจุดอ่อนของลูก อย่าให้เด็กดิสเล็กเซียออกไปอ่านหนังสือหน้าชั้นเรียน หรือเป็นจุดสนใจของเพื่อนๆ

ตรงกันข้ามให้ครูทราบว่าพวกเขาเก่งเรื่องอะไร ไม่ว่าจะเป็นเรื่องศิลปะ หรือการทำงานเป็นทีม และอย่าลืมขอโอกาสให้เด็กดิสเล็กเซียได้แสดงความสามารถบ้าง เช่นเป็นผู้ช่วยครูในชั้นเรียนศิลปะ
–โรงเรียนเป็นของชั่วคราวความฉลาดสิของจริง
ที่โรงเรียน คนอาจจะเห็นแต่จุดอ่อนของเด็กดิสเล็กเซีย แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ความสามารถในการคิดของพวกเขาจะกลายเป็นจุดแข็ง และหล่อหลอมให้เด็กดิสเล็กเซียกลายเป็นมนุษย์โดยสมบูรณืเช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ
ที่มา : The Boston Globe