Home > Education > Universities > ประสบการณ์ตรงของนักเรียนไอวี่ลีก นิรุตติ จารุไพศาลกิจ

ทาม-นิรุตติ จารุไพศาลกิจ ตัวแทนนักเรียน Computer Science ปีสุดท้ายของ Columbia University ซึ่งเป็นหนึ่งในสถาบันที่โดดเด่นเรื่องศาสตร์คอมพิวเตอร์นี้

คุณ นิรุตติ เป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของ ‘ลิ้มเม่งเส็ง’ ผู้นำเข้าโลหะจากต่างประเทศ คุณทามเรียนประถมศึกษาภาค EP ที่โรงเรียนอัสสัมชัญ และจากนั้นเข้าเรียนชั้นมัธยมภาค EPTS ที่โรงเรียนสาธิตปทุมวัน

“ผมไม่เคยคิดที่จะเรียนต่ออเมริกาเลย ที่ผ่านมาผมแพลนไว้ว่าจะเรียนจุฬาฯ มาโดยตลอด เพราะใกล้บ้าน ผมจำได้แม่นเลยว่า ตอนม.3 ทำ quiz เลข แล้วได้คะแนนดี ครูเลยถามว่าเรียน MIT ไหม เหมือนเป็นการจุดประกายให้คิดว่าหรือเราจะเรียนต่ออเมริกาดี”

คุณ นิรุตติ ออกตัวว่าไม่ใช่เด็กเรียนดีเลิศ แต่เป็นเด็กเนิร์ดที่อยู่ใน Top 10 ของภาคซึ่งมีอยู่ 70 คน แม้จะได้คะแนนดี แต่ก็ไม่เคยคิดอยากเป็นหมอ และอยากลองเรียนวิศวะดู

“ผมสนใจเทคโนโลยีมาตั้งแต่เด็ก ก็เลยอยากเรียน Computer Science หรือ Computer Engineering และเริ่มใช้บริการ counselor ให้เขาแนะนำว่าต้องทำพอร์ตโฟลิโออย่างไร

nirutti

“ส่วนอาจารย์ฝรั่งที่โรงเรียนก็เอาตำรา Introduction to Physics ที่สอนในมหาวิทยาลัยมาสอนเป็นตอนๆ ให้นักเรียนเรียนเลยก็แล้วกัน”

ส่งใบสมัคร 23 แห่ง

แม้ตั้งใจว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยใกล้บ้านเหมือนพี่ชายที่โตกว่าสามปี แต่เมื่อเวลาดังกล่าวมาถึง เขากลับส่งใบสมัครมหาวิทยาลัยในอเมริกามากถึง 23 แห่งด้วยกัน

“ผมเริ่มส่งใบสมัครตั้งแต่ Early Decision (ED) กับแบบ Early Action (EA) ซึ่งกำหนดส่งพร้อมกัน แต่ถ้าได้ตอบรับหลายแห่งจะสามารถเลือกเรียนได้แค่แห่งเดียวที่เป็น ED

“ผมหว่านไป 8 แห่ง หนึ่งในนั้นคือ Columbia แต่ปรากฏว่าถูกผลักไปรอบ regular ทำให้ผมสมัครเพิ่มอีกรวมเป็น 23 แห่ง ตอบรับมา 10 กว่าแห่ง อยู่ใน waiting list 2 แห่ง ที่เหลือ reject

“ตอนที่รู้ว่าได้ Columbia ผมแอบกรี๊ดอยู่ เนื่องจาก Columbia อยู่ในนิวยอร์ก ผมเคยไปนิวยอร์กแล้วชอบมาก กับอีกเหตุผลคือผมชอบสีฟ้า ซึ่งเป็นสีประจำของ Columbia ชุดครุยของที่นี่เป็นสีฟ้าทั้งตัวเลย คนที่รู้จักผมก็จะบอกว่าได้มหาวิทยาลัยถูกแห่งจริงๆเลยนะเนี่ย” หนึ่งในวิทยากรที่ได้ขึ้นพูดใน panel ของงาน ATSA Expo 2023 The Next Chapter presented by True พูดพลางหัวเราะร่วน

เจอแจ็คพ็อต…โควิด!!!

หลังจากมหาวิทยาลัยตอบรับแล้ว ปรากฏว่าเทอมแรกเขาตัดสินใจเรียนออนไลน์ที่เมืองไทย

“ตอนนั้นไทยไม่มีเคสโควิดเลย ผมจึงตัดสินใจเรียนออนไลน์ แต่ด้วยความที่ผมอยากเรียนแบบสดๆ ก็เลยต้องเรียนคลาสแรกตอน 1-3 ทุ่ม จบคลาสสุดท้ายตอน 7 โมงเช้า แล้วถึงเข้านอน ทำแบบนี้อยู่เทอมหนึ่ง จนคุณแม่เป็นห่วงว่านอนไม่พอ ก็เลยคิดว่าไปโน่นเลยดีกว่า

“แต่พอจะไปจริงๆ ทุกคนถามด้วยความเป็นห่วงว่าจะไปจริงหรือ โควิดที่อเมริกาหนักนะ โดยเฉพาะนิวยอร์ก ก่อนไปอเมริกา ผมจึงเป็นคนไทยรายแรกๆที่ฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเพื่อจะได้มีภูมิคุ้มกันเอาไว้ก่อน”

แม้ว่าจะไปด้วยความรู้สึกกลัวๆกล้าๆ แต่เอาเข้าจริงเขากลับพบว่า ถึงแม้เคสโควิดที่อเมริกาจะเยอะกว่า แต่เขาสามารถจัดการได้ดีเกินคาด

“ผมต้องตรวจ RT-PCR ทุกๆสองวัน สลับกับการเรียนออนไลน์ที่หอพัก ซึ่งดีตรงที่ผมสามารถปรับเวลาได้ดีขึ้น โดยมีผมกับรุ่นพี่อีกคนเป็นนักเรียนไทย ที่เหลืออีกสิบกว่าคนอยู่ไทย

“ช่วงโควิดเป็นช่วงที่เปิดหูเปิดตาผมมาก ที่ผมรู้สึกเซอร์เรียลที่สุด คือการที่เราได้เดินอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยในฐานะนักเรียน แบบไม่มีคนอื่นอยู่เลย เหมือนเราฝันอยู่ สามารถเข้าร้านอร่อยได้โดยไม่ต้องรอคิว ซึ่งตอนนี้ทำไม่ได้แล้ว”

nirutti
คุณทามกับงานอดิเรกสุดโปรด นั่นคือการถ่ายภาพที่เขาสามารถทำเงินได้ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม

Liberal Arts Education

“ผมมานึกย้อนดูรู้สึกว่า Columbia เหมาะกับเรามากเลยนะ เพราะเป็น Liberal Arts ซึ่งไม่ว่าเราจะเรียนเมเจอร์อะไรก็ตาม เขาบังคับใ้ห้นักเรียน 1 เรียนปรัชญา วรรณคดี ศิลปะ พละศึกษา” คุณทามกล่าวกับเรา

เขาต้องเรียนวิชาอย่าง Masterpieces of Western Literature ซึ่งเรียนเรื่องอีเลียดของโฮเมอร์ บทกวีของคลอเดีย แรงกินน์ หรืออาจจะยังเรียนวิชาในกลุ่ม Art Humanities หรือ Music Humanities เป็นการเรียนประวัติศาสตร์ศิลปะและดนตรีเชิงวิเคราะห์มากกว่า

“ปี 2 เรียนปรัชญามากขึ้นหน่อย ซึ่งผมเข้าใจหัวอกคนที่ไม่ชอบ ที่รู้สึกว่าทำไมต้องเสียเวลาเรียนวิชาเหล่านี้ด้วย แต่อาจจะด้วยความที่ผมเเป็นนักโต้วาทีตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมด้วยมั้ง ถึงได้ชอบเรียนวิชาเหล่านี้”

nirutti
ในงานของชมรม Thai Club

Computer Science เรียนอะไรกันบ้าง

เราให้คุณทามพูดถึงวิชาเมเจอร์ของเขาว่าเป็นอย่างไร เขาบอกเราว่า Computer Science ของที่นี่ค่อนข้างเน้นทฤษฎีมากกว่าปฏิบัติ ไม่เหมือนที่ Georgia Institute of Technology ซึ่งเขาได้ยินมาว่ากำลังมาแรงเพราะเน้นสอนภาคปฏิบัติมากกว่า

คลาส Intro Computer Science ของ Columbia จะเป็นคลาสใหญ่มีนักเรียนกว่า 600 คน เนื่องจากมีเด็กต่างคณะมาเรียนด้วย

“เขาให้เราเรียนคอนเสปท์ต่างๆ เช่นการคิดแบบ Loop ส่วนใหญ่ผมจะเชียร์นักเรียนไทยที่เรียนรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์​เรียนวิชานี้ เพื่อจะได้อะไรติดไม้ติดมือกลับบ้าน”

คุณทามเลือกเรียนเมเจอร์ Computer Science ในสาย Application ซึ่งรุ่นเขามีให้เลือก 6 สายของเมเจอร์นี้ ตั้งแต่ 1.Foundation สำหรับคนที่อยากเรียนชิปดีไซน์ 2.Software Systems 3. Intelligent Systems(AI) 4.Applications 5. Vision, Graphisics, Interaction and Robotics และ 6. Combination ที่โดยมากมักเรียนคู่กับ Computational Biology ซึ่งนักเรียนจะเรียน Computer Science 3 วิชา และวิชาอะไรก็ได้ 3 วิชา

“ที่ผมเลือกเมเจอร์ Application ก็เพราะง่ายที่สุด คือพูดตามตรงผมก็เป็นแค่เด็กโง่ๆคนหนึ่งที่ชอบเทคโนโลยี ซึ่งพอเรียนลึกขึ้นเรื่อยๆ ผมรู้สึกว่า Computer Science นั้นมีหลายด้าน และเทคโนโลยีที่ผมชอบเป็นเทคโนโลยีที่ใข้แก้ปัญหา อารมณ์เหมือนสตาร์ทอัพ”

nirutti
กับบรรดาเพื่อนนักเรียนไทยที่เรียนปริญญาตรีที่ Columbia University ด้วยกัน ในงาน Columbia Thai Reception

คุณทามกำลังจะขึ้นปี 4 ซึ่งเป็นปีสุดท้าย “ตอนนี้ผมเหลือวิชา Computor Science อีกแค่วิชาเดียว ถือว่าเรียนเร็วในระดับหนึ่ง และยิ่งเราโตขึ้นก็จะมีสิทธิ์เลือกคลาสเรียนก่อน ผมก็จะสามารถเลือกเรียนวิชาอะไรก็ได้ที่สนใจ

“ผมอยากเรียนปรัชญาพุทธ เพราะเคยเรียนกับอาจารย์ที่สอนวิชานี้มาแล้ว ผมชอบวิชาที่ต้องถกกัน แล้วตั้งใจจะเรียนวิชาในหมวดทัศนศิลป์ให้เยอะขึ้น เพราะผมรู้ตัวช้าว่าจะ declare ทัศนศิลป์เป็นไมเนอร์ แต่ถ้า declare ไม่ทันก็ไม่เป็นไร เพราะเราได้ความรู้แล้ว

“ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้บังคับให้นักเรียน Computer Science ต้องทำวิทยานิพนธ์ก่อนจบ ส่วนทัศนศิลป์ผมไม่ได้เลือกเป็นเมเจอร์ด้วย ก็เลยไม่ต้องทำโปรเจคท์และวิทยานิพนธ์อีกเหมือนกัน”

คุณทามยังบอกเราอีกว่า Computer Science สำหรับเขาแล้วก็เหมือนงานไม้ ท่ีสามารถทำได้หลายวิธีการ

“จะให้ผมเขียน app ก็ได้แต่ต้องใช้เวลา เหมือนเราถูกสอนให้มีคลังคำศัพท์มากในระดับหนึ่งอยู่แล้ว เพียงแต่ยังไม่เคยนำมาเรียบเรียงเป็นประโยค หรือใช้ในชีวิตจริง เราจะสู้ไปกับมันเลยก็พอไหว หรือเราจะอ่านเพิ่มก่อน ด้วยการเรียนคำศัพท์ที่ตอบโจทย์มากขึ้น สมมติว่าถ้าเราจะต้องกล่าวสุนทรพจน์ เราจะเรียบเรียงเป็นคำพูดยังไง”

กิจกรรมในมหาวิทยาลัย

นอกจากการเรียนแล้ว คุณทามยังสมัครสมาชิกชมรมของมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง อดีตแกรนด์แชมเปี้ยนโต้เวทีระดับประเทศสมัยเรียนม.6 ถึง 2 รายการซ้อนด้วยกันบอกเราว่า

“ตอนแรกผมอยากอยู่ชมรมถ่ายภาพ เพราะผมชอบถ่ายภาพมาตั้งแต่เด็ก แต่โควิดทำให้ชมรมสลายตัว ผมเลยไปอยู่ชมรมหนังสือพิมพ์ของมหาวิทยาลัยชื่อ Columbia Daily Spectator ที่มีทั้งพรินท์และออนไลน์ ผมเขียนเรื่องชีวิตในมหาวิทยาลัย ซึ่งพี่บ.ก.บอกว่าคนอ่านงานผมเยอะสุดเลยนะ แต่ตอนหลังผมไม่ว่างแล้วก็เขียนไม่ออกจริงๆ ด้วยความเกรงใจผมเลยลาออก

“แต่ที่ผมทำมาเรื่อยตั้งแต่ปี 1 จนถึงเดี๋ยวนี้คือ ชมรม CORE เป็นชมรมที่รวบรวมคนที่อยากเป็นผู้ประกอบการ มีความน่าสนใจมาก เพราะมีทั้ง accelerator, incubator จนจบที่ product ซึ่งจะมี Demo day ที่มีนักลงทุนมาดู”

นอกจากนี้เขายังจัด Global Tech Trek เพื่อพาเด็ก Columbia ไปดูงานเว็บไซต์ สตาร์ทอัพ และ VC ล่าสุดเขานำนักเรียน Columbia ทั้ง 8 คนรวมทั้งเขาด้วยไปดูงานที่ Openspace Ventures ซึ่งเป็น VC อันดับต้นๆของสิงคโปร์ และในไทยคือ RISE ที่เขาฝึกงานอยู่

ชมรมต่อมาคือ Thai Club ซึ่งเขารู้จักประธานชมรม และคิดกันว่านักเรียนไทยใน Columbia ระดับปริญญาตรีมีไม่มากเท่าปริญญาโท ทางชมรมน่าจะเปิดรับนักเรียนชาติอื่นที่สนใจประเทศไทยเข้าร่วมด้วย จึงได้จัดกิจกรรมต่างๆขึ้นมา

ล่าสุดเขาจัดงาน Columbia Thai Reception และเชิญคนไทยในนิวยอร์กซึ่งมีอยู่มากมายมาร่วมด้วย เพื่อให้ได้เน็ทเวิร์ค

nirutti
ในรั้วของ Columbia University Photo: Getty Images

Ivy League ก็แค่มหาวิทยาลัยหนึ่ง

Columbia University เป็นหนึ่งในกลุ่มมหาวิทยาลัย Ivy League ซึ่งมีคนสมัครเป็นจำนวนมากในแต่ละปี เพราะคนที่จบจากสถาบันเหล่านี้จะถือว่าเป็นคนเก่งและยืดอกได้มากกว่าใคร แต่เด็กไอวี่ลีกอย่างคุณทามกลับบอกเราว่า

“Ivy League ก็แค่มหาวิทยาลัยหนึ่ง ผมเคยคุยกับเพื่อนที่ไม่ได้เรียนไอวี่ลีก เรารู้สึกตรงกันว่า แค่ได้ใช้ชีวิตในต่างแดน ก็เปลี่ยนมุมมองเราหลายอย่าง ทั้งในเรื่องการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ระบบการศึกษาก็ต่างกัน มุมมองเรื่องการศึกษาที่ไม่เหมือนกัน มุมมองเรื่องวิชาการที่ไม่เหมือนกัน ไม่ต้องเรียนไอวี่ลีกก็คุ้มแล้ว”

สำหรับอนาคตอันใกล้ คุณทามบอกเราว่าเขามีแพลนจะ defered MBA เพื่อจะกลับไปสานต่อธุรกิจของครอบครัว แต่ไม่ใช่ที่ Columbia ซึ่งหากทางมหาวิทยาลัยตอบรับ เขาก็สามารถทำงานก่อนสัก 1-2 ปี ถึงจะเรียน

“เขาจะมีที่ปรึกษาให้ว่า เราอยากทำอะไรก่อน ผมจะขอกลับไทยมาทำสตาร์ทอัพทางด้านการศึกษา แล้วให้หลังจากนั้นอีกปีค่อยกลับไป ทีนี้เราอาจจะเปลี่ยนไปทำคอนซัลติ้งอีกปีก็ย่อมได้ แล้วพอปีสุดท้ายเขาจะถามว่าเราได้ประสบการณ์พร้อมพอที่จะเรียนต่อแล้วหรือยัง ซึ่งถ้าเรียน ก็จะได้มีความรู้ที่แน่นขึ้นอีกนิดหนึ่ง”         

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.