Home > Education > ห้องเรียนข้ามไทม์โซนของ ณชนก – อิทธิฤทธิ์ รัตนทารส และฤทธิ์ตวัน – ฤทธิ์ธิดา อัมพุช

เผลอเพียงไม่นาน แก้วตาดวงใจทั้งสามของ ‘คุณกอล์ฟ-ณชนก รัตนทารส’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารแห่งจี เอนเตอร์ไพรส์ แอนด์ โค ผู้ปลุกปั้นร้านอาหารดังมากมาย และอดีตภรรยา (คุณอ้อย-อัจฉรา อัมพุช) ผู้บริหารอาณาจักรเดอะมอลล์ กรุ๊ป ก็เติบโตเป็นหนุ่มเป็นสาวเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเต็มตัว หลังจากเดินทางไปศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษตั้งแต่ยังเล็ก กระทั่งได้กลับมาอยู่เมืองไทยพร้อมหน้าพร้อมตากันอีกช่วง เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปทั่วโลก และหนักหนาสาหัสในประเทศแถบตะวันตก 

ขณะนี้ ‘คุณจีน-อิทธิฤทธิ์ รัตนทารส’ พี่ชายคนโตกำลังเรียนปีสุดท้ายทางด้าน Interior Design ที่ Syracuse University สหรัฐอเมริกา ส่วนคุณจอม-ฤทธิ์ตวัน อัมพุช เรียนด้าน Events Management ที่ Oxford Brookes University และคุณจาจ้า-ฤทธิ์ธิดา อัมพุช เรียนด้าน Urban Planning and Real Estate ที่ University College London

คุณกอล์ฟ-ณชนก,คุณจอม-ฤทธิ์ตวัน อัมพุช และคุณจีน-อิทธิฤทธิ์ รัตนทารส

“เวลาลูกอยู่เมืองนอก เราจะคุยกันทางไลน์เสียเป็นส่วนใหญ่ แต่สไตล์ผมจะไม่ค่อยจู้จี้กับลูกมาก คุยกันอาทิตย์ละครั้งให้รู้ว่าสบายดี ผมสนิทกับลูกๆ ทุกคนนะ” คุณกอล์ฟเล่าให้ฟังระหว่างรอลูกๆ ทั้งสามเดินทางมาสมทบที่ The Director คาเฟ่ในทองหล่อ 13 ที่เขาเป็นเจ้าของ “แต่ละคนก็คนละแนวกันเลย คนโต (จีน-อิทธิฤทธิ์ รัตนทารส)จะใกล้เคียงกับผมที่สุด เป็นคนแอ็กทีฟมาก ชอบเข้าสังคม เพื่อนฝูงเยอะ เดี๋ยวไปเตะบอล เดี๋ยวไปเที่ยว ส่วนคนกลางคือ จอม (ฤทธิ์ตวัน อัมพุช)เขาจะเป็นคน Gen Z จริงๆ เลย ชอบเล่นเกม มีแก๊งเล่นเกมจริงจัง ชีวิตอยู่แต่หน้าจอ ส่วนลูกสาวคนเล็ก (จาจ้า-ฤทธิ์ธิดา อัมพุช) ก็อีกแนว ค่อนข้างขยัน มีสังคม แต่ไม่เท่าพี่ชายคนโต ซึ่งดีแล้วเพราะเขาเป็นผู้หญิง”

“เรื่องเรียนผมไม่ได้บังคับ แต่อยากให้เขาเรียนจนเป็น professional ด้านใดด้านหนึ่งก่อนตามที่เขาอยากจะเรียนจริงๆ ผมคิดว่ามหาวิทยาลัยไม่ได้สำคัญร้อยเปอร์เซ็นต์สำหรับพวกเขา เพราะยังไงลูกๆ ก็ต้องกลับมาทำงานที่เดอะมอลล์กันอยู่แล้ว แต่การเรียนมหาวิทยาลัยเป็นการเรียนเพื่อเรียนรู้ชีวิต ศาสตร์ทั้งหลายที่ได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัยคือการไปลับสมอง ให้สมองได้ใช้งานเยอะที่สุด จะลับวิชาอะไรก็ได้ พอเราได้ลับมันแล้ว เมื่อมีอะไรที่ต้องเรียนรู้เข้ามาเราจะเข้าใจ จะไปเรียนวิชาอื่น หรือทำอย่างอื่น ก็จะมองทะลุ” คุณพ่อกอล์ฟอธิบายอย่างมีหลักการ

 

สถานการณ์โควิด-19 ที่สหรัฐอเมริกาของ จีน-อิทธิฤทธิ์ รัตนทารส

คุณจีนเล่าว่า “ตอนที่โรงเรียนประกาศเรื่องโควิด ผมอยู่ไมอามีเพราะไปเที่ยวช่วง spring brake พอโรงเรียนประกาศก็กลับมาที่โรงเรียน แล้วต้องกักตัว ผมอยู่ในอพาร์ตเมนต์อย่างเดียวห้าหกอาทิตย์ แล้วเรียนผ่านอินเทอร์เน็ต ตอนแรกๆ ก็ยาก บางคลาสเรียนไม่ค่อยได้เลย เพราะจอคอมพ์ตั้งอยู่ ครูคุยเข้ามา เราก็เอาเพลย์โฟร์ (เกมเพลย์สเตชั่น) มาตั้งเล่นเกม มันเป็นเรื่องแปลกมากที่จะให้เด็กมาฟังครูในขณะที่สภาพแวดล้อมเราพร้อมที่จะดึงเราออกไปทำอะไรอื่นๆ ได้หลายอย่าง

“แล้วผมมีเพื่อนเต็มไปหมดเลย คนไหนไม่มีคลาสเวลานั้นก็มานั่งแกล้งผม ทำให้เรียนยากมาก สิ่งที่สำคัญในการเรียนแบบนี้คือต้องไปอ่านว่าครูเขาสรุปเลคเชอร์มายังไงบ้าง แล้วไปอ่านดูตอนสอบ แต่ครูเขาก็ไม่ได้เข้มงวดกับข้อสอบมากนักเพราะเขารู้ว่ามันยากที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจในการเรียนแบบนี้ แต่ผมก็สอบผ่านนะ (หัวเราะ) เป็นการสอบออนไลน์ครับ แต่โกงได้ง่ายมากเลยถ้าจะทำ อย่างครูบอกให้สอบคนเดียว ผมโทร.หาเพื่อนทุกคนให้เฟซไทม์ช่วยกันทำข้อสอบกันก็ยังได้ เปิดกูเกิลดูก็ได้ ผลสอบออกมาคะแนนเกาะกลุ่มเลย (หัวเราะ)” 

 

การมาถึงของโควิดทำให้ชีวิตมหาวิทยาลัยปีสุดท้ายของคุณจีนต้องพลอยหายไปด้วย “ผมกำลังจะขึ้นปีสุดท้าย แล้วปีนี้จะต้องมี Classroom Project เป็นโปรเจกต์ที่เราต้องส่งโรงเรียนเพื่อจะจบ ก็ค่อนข้างยากเพราะเวลาคิดงานเราน่าจะได้อยู่ในบรรยากาศที่เหมาะจะทำงาน แต่ตอนนี้โลกมันเป็นแบบนี้ แล้วเรื่องไทม์โซนก็กระทบเหมือนกัน ตอนนี้ครูก็เลยยังไม่ได้สรุปโจทย์ว่าจะให้ทำยังไง เพราะผมเรียนด้าน Interior Design Entrepreneurship ต้องกลับไปเรียนก่อน นั่นหมายความว่าผมต้องกลับไปทำโปรเจกต์ที่โน่น แต่ตอนนี้คุณแม่ไม่ให้กลับ ผมก็ต้องดรอปบางคลาสอย่างคลาสที่ต้องส่งโมเดลซึ่งผมทำที่นี่ไม่ได้ ดังนั้นที่เรียนที่นี่ได้ก็เป็นแค่คลาสวิชาเลือก 

“โชคดีที่โรงเรียนผมเป็นไฮบริด เขามีออนไลน์คลาส แล้วเขาก็ทำให้เราสะดวกขึ้นโดยเราไม่ต้องเรียนเวลาเดียวกับเมืองนอก เพราะมีปัญหาเรื่องไทม์โซน ถ้าเขาไม่ปรับเวลาให้ ผมต้องนั่งเรียนตอนเที่ยงคืน ดังนั้นคนที่เหนื่อยกับออนไลน์คลาสก็คือครู แต่เขาก็ใช้วิธีอัดคลิปวิดีโอให้เราดู ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทุกโรงเรียนต้องปรับตัวเพื่อให้เด็กอินเตอร์สามารถเรียนได้ ส่วนตัวผมชอบเรียนที่โรงเรียนมากกว่า เพราะพอต้องเรียนอยู่ที่บ้านรู้สึกเหมือนไม่ได้เรียน เหมือนเราเรียนพิเศษอยู่กับบ้าน (หัวเราะ) เลยแปลกๆ แล้วเราไม่ค่อยจะมีสมาธิ ความรู้ก็อาจจะได้น้อยกว่า”

 

สถานการณ์โควิด-19 ที่อังกฤษของคู่แฝด จอม-จาจ้า อัมพุช

“พอมีประกาศว่าเราต้องทำทุกอย่างทางออนไลน์ ความยากสำหรับจ้าคือสมมุติเรากำลังทำโปรเจกต์อยู่ เป็นโปรเจกต์กลุ่ม พอทุกคนกลับประเทศกันหมด เวลาก็ต่างกันหมด การจะคุยกันจึงยากมาก จ้ามีโปรเจกต์ที่เพิ่งเริ่มเป็นงานโปสเตอร์ที่ต้องใส่ข้อมูล โดยทุกคนก็ต้องหาข้อมูลแล้วเอามารวมกัน ทีนี้เวลาเราไม่ตรงกันเพราะบางคนก็เป็นกลางคืน ติดต่อยาก ซึ่งในความเป็นจริง” คุณจาจ้า-ฤทธิ์ธิดา อัมพุชกล่าว

คุณจาจ้า-ฤทธิ์ธิดา อัมพุช

“จนผ่านไปประมาณสองอาทิตย์ครูเขาประชุมกันว่า จะย้ายคอร์สที่เป็นโปรเจกต์หรือพรีเซนเทชันไปไว้เทอมสองกับเทอมสาม เพราะดูแล้วว่าเทอมหนึ่งไม่น่าจะทำได้ เขาเลยเอาคอร์สที่เป็นเลคเชอร์ กับ essay  ซึ่งเรียนด้วยตัวเองได้มาไว้เทอมหนึ่งแทน ซึ่งก็น่าจะดีสำหรับทั้งครูและนักเรียน แต่ก็ยังไม่ชัวร์ว่าครูจะให้เรียนออนไลน์หรือออฟไลน์ เพราะมันมีเรื่องเวลาของนักเรียนแต่ละคนที่ต่างกันอยู่”

ส่วนของคุณจอม (ฤทธิ์ตวัน อัมพุช) ซึ่งเรียนอยู่ปีหนึ่งเหมือนกันแม้จะต่างมหาวิทยาลัย แต่แนวทางก็ไม่ต่างกันนัก เมื่อถามถึงเรื่องโอกาสที่จะได้กลับไปเรียนตามระบบปกตินั้นมีเปอร์เซ็นต์แค่ไหน ถึงตอนนี้ยังไม่มีความแน่นอนจากทางมหาวิทยาลัยว่าจะเป็นอย่างไรต่อ 

เมื่อต้องปรับตัวมาเรียนออนไลน์ คุณจาจ้ายอมรับว่าผลที่ได้ไม่เท่ากับการเรียนในคลาส “พอเป็นการเรียนที่บ้านครูดูไม่ออกว่าเราทำอะไรอยู่ บางคนก็อยู่บนเตียงนอน เพื่อนทุกคนชอบนะคะ แต่เอาเข้าจริงจ้าว่ามันเรียนได้ไม่ถึงมาตรฐาน ถ้าชอบก็ชอบเพราะมันสบาย แต่ความเข้าใจน้อยลง เขาบอกว่าเราน่าจะเรียนจบเท่ากับการเรียนปกติ ทางมหาวิทยาลัยจะเป็นฝ่ายปรับเปลี่ยนโปรแกรมการสอนเอง”

 

ครอบครัวพร้อมหน้า ข้อดีของโควิด-19

โควิดมอบประสบการณ์ใหม่กันอย่างทั่วถึงไม่ว่าจะคนทำงานทั่วไปหรือนักเรียนมหาวิทยาลัย หากจะให้มองว่ามีบทเรียนอะไรที่แนบแฝงมากับเหตุการณ์นี้ คุณจีนมองว่า “เวลามีอะไรเกิดขึ้นแล้วเราจัดการไม่ได้ เราก็ต้องมีวินัยกับตัวเอง ทุกคนต้องทำตามระบบที่เขาวางเอาไว้ เพราะถ้ามีคนใดคนหนึ่งพลาด มันมีเอฟเฟกต์ถึงคนอื่นได้”

“จ้าว่าทุกอย่างมันเชื่อมโยงถึงกันหมดเลย ไม่ว่าเรื่องคน ธุรกิจ สิ่งแวดล้อม ถ้ามันมีอะไรที่แย่มาก
มันจะส่งผลกระทบกับทุกอย่างตามมาเป็นลูกโซ่ มองว่ามันเอาไปใช้กับเรื่องอื่นได้เลย อย่างถ้าเราทำงาน เกิดมีอะไรที่ผิดพลาดหรือมีปัญหาในจุดหนึ่ง มันก็ส่งผลกระทบกับจุดอื่นได้เหมือนกัน”

ส่วนคุณจอมนั้นดึงพวกเราออกมาจากบทสนทนาที่จริงจังให้กลายเป็นเสียงหัวเราะ ด้วยการมองให้เห็นข้อดีของโควิดในอีกมุมหนึ่งว่า “ทำให้เราได้อยู่บ้าน”


ติดตามได้ในนิตยสาร HELLO! Education ประจำเดือนกันยายน  2563

หรือดาว์นโหลดฉบับดิจิตอลได้ที่  www.ookbee.com www.shop.burdathailand.com

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.