Home > Education > วิธีการรับมือปัญหา ไม่ว่าลูกเป็นฝ่ายถูกบูลลี่ หรือเป็นคนไปบูลลี่เพื่อนซะเอง

‘บูลลี่’ (Bully) การกลั่นแกล้งที่แสดงออกด้วยคำพูด หรือพฤติกรรมที่ก้าวร้าวต่อผู้อื่น กลายเป็นปัญหาทางสังคมในปัจจุบันที่ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในโลกของผู้ใหญ่ แต่กับโลกของเด็กๆก็เกิดขึ้นได้เช่นกัน โดยเฉพาะการถูกบูลลี่ในโรงเรียน ซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาสภาพทางจิตใจ ที่ร้ายแรงได้ในอนาคต 

ปัจจุบันการบูลลี่สามารถแบ่งออกได้เป็น  3 ประเภท คือ การกลั่นแกล้งทางวาจา (Verbal Bullying) เช่น การล้อเลียน การเหน็บแนม การกลั่นแกล้งทางสังคม (Social Bullying) เช่น การทำให้เสียหน้า การกระจายข่าวลือให้เสียหาย การกลั่นแกล้งทางกายภาพ (Physical Bullying) คือ การกลั่นแกล้งที่เกี่ยวข้องกับร่างกาย เช่น การ ทำร้าย หรือแสดงออกทำท่าทางหยาบคายใส่

วิธีการสังเกตว่าลูกโดนบูลลี่หรือไม่


1. สังเกตลูก 
ให้สังเกตพฤติกรรมของลูกว่าผิดปกติหรือไม่ เช่นไม่สดใสร่าเริง ชอบเก็บตัว ขาดความมั่นใจ หรือเปรยว่าไม่อยากไปโรงเรียน 

2. ถามครู และเพื่อนๆของลูก พ่อแม่อาจสอบถามจากครูประจำชั้นหรือครูผู้ดูแล ว่าระหว่างอยู่ที่โรงเรียนลูกได้ทำกิจกรรมต่างๆอย่างสนุกสนานหรือไม่ รวมถึงถามจากเพื่อนของลูกว่าลูกมีปัญหาอะไรที่โรงเรียนหรือไม่

3. พูดคุยกับลูกโดยตรง เป็นวิธีที่ดีที่สุด พ่อแม่ควรฟังเรื่องราวอย่างตั้งใจ ที่สำคัญอย่าเพิ่งรีบมีปฏิกริยาเป็นเดือดเป็นร้อน หรือพยายามจะช่วยเหลือลูกทันทีทันใด แต่ให้รับฟังและพยายามถามว่าลูกรู้สึกอย่างไรบ้าง ทนไหวไหม ถ้าทนไม่ไหวอยากให้พ่อแม่ช่วยเหลืออย่างไรบ้าง และถ้าพ่อแม่จะช่วยก็ต้องบอกลูกด้วยว่าจะช่วยอะไรบ้าง เพราะบางครั้งเวลาลูกเล่าให้ฟังเหมือนเขาระบาย พ่อแม่อาจเกิดอารมณ์โกรธแทนลูก พ่อแม่อาจไปว่าครูหรือว่าเพื่อนที่โรงเรียนทำให้เกิดปัญหาต่อลูกในภายหลัง เช่น ครูเห็นว่าเป็นเด็กขี้ฟ้อง หรือเพื่อนอาจไม่คบด้วย 

และเมื่อลูกเราถูกบูลลี่พ่อแม่จะมีวิธีรับมืออย่างไร วันนี้เรามีคำแนะนำดีๆจาก รองศาสตราจารย์แพทย์หญิง สุวรรณี พุทธิศรี จากภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาฝากกัน 

เมื่อลูกเราโดนบูลลี่ควรทำอย่างไร ? 

1. สอนลูกให้มีความมั่นใจ บอกลูกว่าที่เขาถูกรังแกนั่นไม่ใช่เพราะเขาเป็นคนไม่ดี หรือเป็นคนผิด เพราะการที่ลูกถูกบูลลี่บ่อยๆจึงอาจเข้าใจไปเองว่าเขาไม่ดี ซึ่งพ่อแม่ต้องอธิบายให้ลูกเข้าใจว่าเขาไม่ผิด เขามีสิทธิ์ที่จะไม่ถูกรังแกได้ 

2. พยายามฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเองให้เป็น พูดคุยกับลูก ถามเขาว่าอะไรที่เป็นปัจจัยที่ทำให้เขาถูกบูลลี่ เช่น เขาไม่เก่งอะไร เขาไม่คล่องอะไร พยายามฝึกทักษะให้ลูกในด้านนั้นๆ  

3. แนะนำให้อย่าไปไหนคนเดียว ถ้าไม่มีวิถีทางแล้วให้พยายามเดินเลี่ยงหาที่ปลอดภัย ไปอยู่ในจุดที่มีคนเห็น หรือจุดที่มีเพื่อนสนิทอยู่ด้วย

4. สื่อสารปัญหากับครูที่โรงเรียน แจ้งปัญหาของลูกให้ครูที่โรงเรียนได้รับรู้และช่วยสอดส่องพฤติกรรมของนักเรียนมากขึ้น ทั้งนี้พ่อแม่อาจบอกลูกว่าเขามีสิทธิ์ที่จะทนหากเจอการบูลลี่ที่ทนได้ แต่หากทนไม่ได้ก็มีสิทธิ์ที่จะบอกครูได้ตลอดเวลา 

หากลูกเราบูลลี่เพื่อนควรทำอย่างไร

1.ทำความเข้าใจกับลูก ให้ลูกเห็นใจว่าเพื่อนจะรู้สึกยังไง อย่าต่อว่าลูกในลักษณะที่รุนแรง 

2.ลงโทษแบบไม่ใช้ความรุนแรง เช่น ตัดสิทธิ์ในการพาไปเที่ยว  และให้คำชมเมื่อลูกลดพฤติกรรมเหล่านั้นได้ 

3.พ่อแม่ต้องเป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างที่ดีในการไม่ใช้ความรุนแรงให้ลูกเห็น

4.หากลูกมีความผิดปกติทางอารมณ์ หรือมีโรคที่ซ่อนอยู่ทำให้ควบคุมอารมณ์หรือพฤติกรรมไม่ได้ แนะนำให้ปรึกษาจิตแพทย์เด็กเพื่อทำการรักษา

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.