Home > Education > Interviews > Parenting > สัมผัสแง่มุมอันอ่อนโยนที่ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดูแลลูกชาย

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ดูแลลูกโทนอย่างคุณแสนปิติ สิทธิพันธุ์ ลูกชายที่เขาใช้ความรักและความรู้ประกอบด้วย “ตอนแสนดีเกิด ส่วนอื่นๆของเขาสมบูรณ์พร้อมดีครับ จนเขาอายุได้ขวบกว่า พอดีมีญาติทักว่า ทำไมเรียกแล้วไม่หัน ผมเลยพาไปตรวจ” 

วันที่ 31 มีนาคม 2001 เป็นวันเปลี่ยนชีวิตของคุณชัชชาติ เมื่อผลวินิจฉัยออกมาว่า ลูกชายคนเดียวอย่างคุณแสนปิติ หรือแสนดีหูหนวก!

คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ดูแลลูกเป็นอย่างดี อธิบายเพิ่มเติมว่า การไม่ได้ยินแบ่งเป็นหลายระดับ และการไม่ได้ยินของคุณแสนดีจัดอยู่ในระดับ Profound Hearing Loss แปลว่า ไม่ได้ยิน 100%

แปรความเศร้า…เป็นความเพียร

ทันทีที่ทราบผลการวินิจฉัย คุณชัชชาติ ผู้แข็งแกร่งถึงกับร่ำไห้เลยทีเดียว แต่คุณพ่อชัชชาติก็ตัดสินใจแปรความเศร้า เป็นความเพียรในการตะลุยอ่านหนังสือและงานวิจัยเกี่ยวกับอาการหูหนวกที่มีอยู่มากมาย

chadchart and son
คุณชัชชาติ สิทธิพันธุ์ กับคุณแสนปิติ สิทธิพันธุ์

หลังจากศึกษาอย่างถี่ถ้วน ถึงทางออกของปัญหานี้แล้ว สรุปว่ามีทางเลือกอยู่ 3 ทาง “อย่างแรกใส่เครื่องช่วยฟังบวกกับการอ่านปาก สำหรับคนที่ยังมีความสามารถในการได้ยินหลงเหลืออยู่ หรือ Severe Hearing Loss สามารถใส่เครื่องช่วยฟังขยายเสียง ก็จะพอได้ยิน 

“อย่างที่สอง ใช้ภาษามือ เหมาะสำหรับคนที่หูหนวกสนิท หรือไม่ถนัดใส่เครื่องช่วยฟัง แต่ถ้าใช้ภาษามือ ก็จะสามารถสื่อสารได้แค่คนกลุ่มเดียว และสุดท้าย การผ่าตัดประสาทหูเทียม ต้องนึกภาพว่า เมืองไทยเมื่อ 20 ปีก่อน ยังมีการผ่าตัดแบบนี้น้อยมาก มีแค่ 2-3 ราย และไม่ประสบความสำเร็จ คือก็ยังพูดไม่ได้ 

“ทำให้ผมคิดอยู่นานว่า จะใช้วิธีไหน เพราะ success storyในเมืองไทยยังไม่มี และมีคนเยอะแยะที่บอกว่า อย่าผ่าตัดเลย หมอไทยไม่แนะนำ เพราะไม่คุ้นเคย ตอนนั้นสมาคมคนหูหนวกที่อเมริกา ก็เหมือนจะไม่สนับสนุนให้ผ่าตัด เพราะเขาคิดไปไกลว่า ไม่อย่างนั้นภาษามือจะหายไป ซึ่งจะเหมือนเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์คนหูหนวกไปเลย

“ถามว่าหูหนวกแล้ว ผลกระทบที่ตามมามีอะไรบ้าง หนึ่ง คือพูดไม่ได้ เพราะไม่ได้ยินเสียง สอง กระบวนการคิด ปกติเวลาเราคิดจะคิด 2 โหมด คือ คิดเป็นภาพ และคิดเป็นภาษา เช่นคิดว่าพรุ่งนี้มีนัดสัมภาษณ์ ซึ่งคนทั่วไปจะคิดเป็นคำพูด แต่ถ้าเขาไม่มีคำพูด แล้วจะคิดอย่างไร?

“ผมเชื่อว่าถ้าเราต้องคิดเป็นภาพ จะมีข้อจำกัดเยอะ และความรู้ส่วนใหญ่ในโลก ไม่ได้อยู่ในรูปแบบที่เขาจะศึกษาได้ง่ายๆ” 

chadchart and son
คุณพ่อผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี และลูกชายที่ทำให้เขาเป็นคุณพ่อในอุดมคติ

ตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด 

ในช่วงขวบปีแรกของลูก คุณชัชชาติมุ่งมั่นตามหาผู้เชี่ยวชาญที่เป็นมืออาชีพ อย่างชนิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินหา จนพบแพทย์ที่เก่งด้านนี้ ซึ่งอยู่ที่ Sydney Children’s Cochlear Implant Center (SCIC) แต่ก็ยังต้องพบกับความผิดหวัง เมื่อแพทย์ปฏิเสธ ด้วยเหตุผลว่า ยังผ่าให้คนไข้ชาวออสเตรเลียนไม่หมดเลย “เราบินไปพบหมอ 2 รอบ และสุดท้ายเขาก็ยอมผ่าให้ คงเห็นความตั้งใจจริงของเรา” คุณชัชชาติสรุป

ตามปกติแล้วหูชั้นในจะมีส่วนที่ทำหน้าที่รับเสียง (Cochlear Portion) ประกอบด้วยท่อกลมขดซ้อนกันเป็นรูปก้นหอย 2 รอบครึ่ง แต่ท่อรูปก้นหอยในหูของคุณแสนดีมีแค่ 1 รอบครึ่ง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาได้ยินเพียงความเงียบ 

คุณแสนดีเข้ารับการผ่าตัดเมื่ออายุได้ 2 ขวบ การผ่าตัดประสาทหูเทียมต้องเจาะกระโหลก แล้วเอาสายที่เหมือนสายไฟเสียบเข้าไปที่ก้นหอย แล้วใส่อุปกรณ์รับเสียงด้านนอก ซึ่งมีแผ่นแม่เหล็กติดกับศีรษะ ข้างในมีตัวรับสัญญาณเชื่อมกับตัวรับที่อยู่ในกระโหลก ซึ่งจะแปลงเสียงเป็นสัญญาณไฟฟ้า 

ซึ่งหมอเปรียบว่า เป็นเหมือนการให้เปียโนเด็ก หัวใจไม่ได้อยู่ที่การผ่าตัด ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 2 ชั่วโมง แต่อยู่ที่การฝึก ซึ่งหมายถึงการต้องใช้ชีวิตอยู่ในออสเตรเลียต่อไปอีก

chadchart and son
พ่อลูกควแขนกันไปเชียร์ทีมโปรด

ตัดสินใจอยู่ออสเตรเลียต่อเพื่อลูก

ภายหลังการผ่าตัด คุณชัชชาติในวัย 30 และขณะนั้นยังเป็นอาจารย์อยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ทำให้ไม่สามารถลางานเป็นเวลานานได้ และจะลาออกก็ไม่ได้ เขาจึงเลือกสมัครสอบชิงทุนวิจัยที่ออสเตรเลียแทน เพื่อจะได้สามารถใช้ชีวิตในดินแดนดาวน์อันเตอร์ต่อ และจะได้เข้าร่วมโปรแกรมการฝึกออกเสียงพร้อมกับลูกชาย 

ทั้งลูก พ่อ แม่ และพี่เลี้ยง เข้ารับการฝึก Ling Six Sounds คือการฝึกออกเสียง 6 พยางค์ อา อู อี อืม เอส เอช สัปดาห์ละ 3 วัน ซึ่งถ้าฝึกฟัง 6 พยางค์นี้ได้ นั่นหมายถึงจะสามารถครอบคลุมความถี่ที่คนจะรับเสียงได้ และในการฝึกก็จะให้รางวัลเป็นของเล่น 

“บ้านผมตอนนั้นเหมือนโกดังของเล่นเลย” ยอดคุณพ่อพูดพลางยิ้ม แต่ในช่วง 6 เดือนแรกของการฝึก คุณแสนดีกลับไม่พูดอะไรออกมาเลยสักแอะ ทำให้คุณชัชชาติกับภรรยาเริ่มเป็นกังวลกับอนาคตว่าจะไปรอดไหม 

“มีคนว่าผมทำนองว่า พ่อแม่ตัดสินใจแทนเด็กไม่ได้ แต่ผมไม่เชื่อ เพราะผมศึกษาอย่างละเอียด เพราะฉะนั้นกำลังใจที่ได้ มาจากความรู้จริงของเรา ไม่อย่างนั้นจะเป็น blind faith ความหวังลมๆ แล้งๆ ซึ่งผมว่าอันตราย 

“ขณะเดียวกันผมก็ต้องห้ามท้อ เพราะผมเป็นคนตัดสินใจ มีบางคืนที่นั่งทำงาน แล้วนึกสงสัยตัวเอง เรามาถูกทางหรือเปล่า ก็ต้องพยายามวางความคิดนี้ลง” 

chadhart and son
ฉลองวันเกิดอย่างอบอุ่น

ฝ่าฟันความท้าทายที่ดาหน้าเข้ามา

ทว่าความลังเลก็กลับมลายหายไป เมื่อคุณแสนดีเริ่มพูดได้ตอนอายุ 2 ขวบกว่า และพร่างพรูคำพูดราวกับทำนบแตก “เขาพูดเยอะมาก จนต้องบอกให้หยุดพูด” ผู้ว่ากทม.คนล่าสุดพูดพลางหัวเราะ 

ความท้าทายต่อมาที่ต้องผ่านก็คือ การเลือกว่าจะให้คุณแสนดีเรียนภาษาอังกฤษ หริอภาษาไทยดี “เราเลือกให้เขาเรียนภาษาอังกฤษ เพราะเครื่องรับเสียงสามารถรับวรรณยุกต์ได้ไม่ละเอียดเท่าหูปกติ ลองพูดว่า มา หม่า ม่า ม้า หมา ได้ไหม” คุณชัชชาติหันไปถามลูกชาย 

คุณแสนดีขมวดคิ้ว และออกเสียงตามที่ได้ยินมาว่า “มา มา มา มา มา” สรุปว่าเครื่องรับได้แต่เสียง และอาจแยกแยะเสียงสูงต่ำได้ไม่ดี รวมทั้งเหตุผลที่ว่า ความรู้ต่างๆ ในโลกส่วนใหญ่เป็นภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นถ้าต้องเลือกรู้ภาษาเพียงภาษาเดียว ภาษาอังกฤษจึงเป็นคำตอบสุดท้าย 

“ตอนที่เราพาแสนดีไปผ่าตัด ยังไม่มีคนไทยคิดแบบนี้มาก่อน หลังจากที่เราผ่าตัดมาแล้ว มีครอบครัวคนไทยไปออสเตรเลียอีก 6 ครอบครัว จนตอนนี้มีเด็กไทยผ่าตัดประสาทหูเทียมพันกว่าคนแล้ว หลังจากแสนดีเป็นคนไข้ยุคแรกๆ มาตอนนี้ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดถูกลงเยอะเลยครับ ข้าราชการยังเบิกได้ด้วย และตอนนี้ก็มีศูนย์ฝึกหลายแห่งในไทย

“แถมเด็กรุ่นหลังๆ ยังได้ผ่าตัดหูทั้ง 2 ข้างเลย ซึ่งมีข้อดี คือสามารถรู้ทิศทางของเสียงว่ามาจากไหน ขณะที่แสนดีรู้แค่มิติเดียว ตอนนี้ผมเลยยังไม่ให้เขาขับรถ”

chadchart and son
เวลากาแฟของคุณพ่อคุณลูก

ชีวิตที่ปราศจากปาฏิหาริย์ 

“ผมว่าชีวิตไม่มีปาฏิหาริย์หรอก” คุณพ่อ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีบอกกับเรา “อย่าไปหวังว่าเขาจะหาย เหมือนคำพูดของเนลสัน แมนเดลา ที่ผมชอบ ‘I am the master of my fate. I am the captian of my soul’ ผมเคยหวังให้มีปาฏิหาริย์ ไปบนบานศาลกล่าวที่โน่นที่นี่ ก่อนจะพบว่าสุดท้ายเราต้องแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

“แสนดีอยากผ่าตัดหูอีกข้างหรือเปล่า” คุณพ่อถามคุณลูก 

“No chance” คุณลูกพูดพลางส่ายหน้า

“ตอนนี้เขาโตแล้ว เราไปบังคับเขาไม่ได้” คุณพ่อขมวดจบ

ความจริงเบื้องหลังความแอ็คทีฟและแข็งแกร่งของคุณชัชชาติ ก็มาจากลูกชายคนนี้ “ผมหันมาออกกำลังกาย ดูแลสุขภาพ เพื่อจะได้อยู่กับลูกไปนานๆ เพราะตัวแสนดีเองก็ลำบากอยู่แล้ว ถ้าพ่อจะไปเป็นภาระให้เขาอีกคงไม่ไหว” 

บทสนทนาตามประสาพ่อ-ลูก ยังมีให้อ่านต่ออย่างจุใจในนิตยสาร HELLO! Education ปี 2020 ซึ่งคุณจะสัมผัสได้ถึงแง่มุมอันอ่อนโยน ของคุณพ่อที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพีคนนี้เพิ่มมากขึ้น              

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.