Home > Education > Interviews > Parenting > เจนซี (Gen Z) เจนที่ ‘เหงา’ที่สุดในโลก 

ความเหงาในที่นี้หมายถึงภาวะเครียด หรือความอึดอัดซึ่งส่งผลให้มนุษย์ เจนซี (Gen Z) หรือผู้ที่มีอายุ 18-22 ปี เข้าสังคมน้อยกว่าเจนอื่น แต่กลับไม่ง่ายเลยที่จะบ่งชี้อาการของความเหงา จากการศึกษาพบว่า แม้ Gen Z จะออนไลน์เกือบตลอดเวลา แต่ 58% ของ Gen Z กลับอับอายเกินกว่าจะยอมรับว่าตัวเองเหงา

แนนซี โซการ์โน นักจิตวิทยาผู้ศึกษาเรื่องนี้มานานกล่าวว่า “ความเหงาทำให้เกิดความเครียดที่มาในรูปแบบของความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า รู้สึกอยากตาย และมีพฤติกรรมที่ทำให้สุขภาพกายทรุดโทรม ยกตัวอย่างเช่นกินมาก หรือน้อยกว่าปกติ การใช้ยา และการนอนไม่เต็มอิ่ม อาจรู้สึกสิ้นหวังหรือหวาดระแวง และการขาดความสัมพันธ์กับครอบครัวในช่วงล็อคดาวน์ ซึ่งอาจเป็นจุดหักเหที่ทำให้ Gen Z หันเข้าหาแอลกอฮอล์ ยาเสพติด หรือการใช้ยาผิดวัตถุประสงค์อย่างไม่บันยะบันยัง”   

Photo:Unsplash

Gen Z ไถมือถือวันละมากกว่า 3 ชั่วโมง สำหรับโลกดิจิทัล อาจถูกมองว่าเป็นพื้นที่พบปะทางสังคม แต่น่าขำที่แม้ว่าแพลตฟอร์มเหล่านี้ จะถูกออกแบบมาเพื่อให้คนใกล้ชิดกัน แล้วทำไมความเหงาถึงกลับเพิ่มมากขึ้น และกลับทำให้ Gen Z ทั้งหลายหวาดกลัวความล้มเหลวที่จะเข้าสังคม ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพจิตในท้ายที่สุด

จากการศึกษาพบว่า ความเหงาทำลายสุขภาพได้มากพอ ๆ กับการสูบบุหรี่วันละ 15 มวน ทำร้ายร่างกายได้มากกว่าโรคอ้วนเสียอีก!! ที่นอนของพวกเขา มีไว้สำหรับการซุกหัวนอนเท่านั้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นผลดีต่อ Gen Z นี้ในอนาคต  

การใช้โซเชียลมีเดียมากเกินไป อาจทำให้ชอบเปรียบเทียบ และผิดหวัง (Compare and Despair) และแม้จะรู้ทั้งรู้ เราก็อดเปรียบเทียบเบื้องหน้าที่คนอื่นคัดสรรมาลงในฟีดของพวกเขา กับประสบการณ์เบื้องหลังของเรา กลายเป็นกับดักที่ทำให้คนรู้สึกว่าตัวเองดีไม่พอ และโชคร้ายที่ความรู้สึกดีไม่พอนี้ อาจเป็นสาเหตุสำคัญของอาการป่วยทางจิต อาทิเช่น อาการขี้วิตกกังวล และซึมเศร้า 

อาจเป็นความสะเพร่าของเราก็ได้ ที่มองข้ามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการปรึกษาทางจิตเวช หรือพูดคุยกับผู้คน ซึ่งเหมาะสำหรับคนที่อยู่ตัวคนเดียว หรืออยู่ห่างไกล ทำให้สามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส 

แต่ก็อย่างที่รู้กันว่า ความสัมพันธ์ของคนมีหลากหลายรูปแบบ ความสัมพันธ์ที่ดีที่สุด จะต้องเป็นส่วนผสมของความใกล้ชิด 4 อย่างนั่นคือ ทางอารมณ์ ทางจิตใจ ทางจิตวิญญาณ และทางกาย 

“ความใกล้ชิดทางอารมณ์ เป็นความสนใจความรู้สึกของคนอื่นอย่างแท้จริง และแสดงความห่วงใย ส่วนความใกล้ชิดทางจิตใจ ก็เช่น บทสนทนาที่ให้กำลังใจ และมีความหมาย นอกจากนี้การมีค่านิยม และความสนใจเดียวกันก็ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี 

Photo : Unsplash

“ส่วนความใกล้ชิดทางจิตวิญญาณ จะเน้นการเคารพความเชื่อของผู้อื่น การมีเป้าหมาย และ/หรือ ประคับประคองความสงบในจิตใจของผู้อื่นร่วมกัน และสุดท้าย ความใกล้ชิดทางกายคือการสัมผัส ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์โหยหา โดยเฉพาะการเว้นระยะทางสังคมในยุคโควิด-19 นี้ ทำให้มนุษย์ขาดความใกล้ชิดทางกายไปเลย”

วิธีจัดการความเหงาสำหรับ เจนซี (Gen Z)

คนอาจเหมารวมว่า คนที่เป็น Introvert มีแนวโน้มว่าจะเหงา เพราะพวกเขามักจะอยู่คนเดียวบ่อย ๆ ทั้งที่ธรรมชาติของ Introvert มักจะพึงพอใจกับความสันโดษ แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะต้องรู้สึกเหงา ขณะที่คน Extrovert อาจใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเข้าสังคม หรืออยู่กับผู้คน แต่พวกเขาอาจไม่มีความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งจริงใจ ทำให้รู้สึกเหงาได้ 

ความเหงายังสอนเราอีกว่า เราไม่ได้เดียวดายหรอก เรายังมีหนทางสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นได้อีกมากมาย พยายามใช้เวลาทำความเข้าใจความรู้สึกของคนอื่น และพึงจำไว้ว่าคุณไม่ใช่คนเดียวที่รู้สึกเหงา และสามารถแก้ไขได้ 

โซการ์โนแนะนำว่า วิธีแก้เหงาที่ง่ายดายที่สุดก็คือ พยายามหาโอกาสพูดคุยกับผู้คนอย่างมีความหมาย ไม่ว่าไปที่ไหน บอกคู่สนทนาว่า พวกเขามีความหมายสำหรับคุณมาก  อัพเดทชีวิตกับคนที่รักอย่างสม่ำเสมอ แม้ว่าจะไม่ชอบคุยโทรศัพท์ แต่อย่างน้อยก็แค่โทรสั้น ๆ หรือส่งข้อความไป เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราห่วงใย 

Photo : Unsplash

แต่ถ้าไม่คิดว่าจะมีใครให้โทรหา ก็ลองหาบทสนทนาสั้น ๆ ในสถานการณ์ที่ต่างออกไป เพียงแค่ยิ้มให้เพื่อนบ้าน หรือชวนคนแปลกหน้าพูดคุย สามารถเป็นการยกระดับจิตใจได้อย่างไม่คาดคิด อย่ากลัวที่จะเป็นฝ่ายเริ่มก่อน บทสนทนาสั้น ๆ สามารถทำให้เราเชื่อมสัมพันธ์กับคนอื่นได้อีกครั้ง หรืออาจเป็นการเขียนจดหมายถึงคนที่รัก หรือเพื่อนที่ห่างหายไปนาน การเขียนความคิด และความรู้สึกของเราบนหน้ากระดาษ การรู้ว่าจะมีคนอ่านความในใจของเราทำให้รู้สึกเชื่อมโยงกับพวกเขามากขึ้น 

ทว่าหากเด็ก ๆ เจนซี (Gen Z) รู้สึกว่าความเหงาเริ่มส่งผลกระทบในแนวลึกขึ้น ควรปรึกษาจิตแพทย์ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องร้ายแรงที่จะรู้สึกแปลกแยกจากสังคมบ้าง เป็นเรื่องโอเคที่จะเหงาบ้างในบางช่วงของชีวิต เพราะฉะนั้นการยอมรับว่าความเหงาเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้กับทุกคนจึงเป็นสิ่งสำคัญ แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องน่ากลัว และไม่สนุกเลย แต่ว่าเรื่องนี้เป็นแค่เรื่องชั่วคราวเท่านั้น 

แม้ว่าโควิด-19 จะทำให้บางคนประสบความยากลำบาก และบางครั้งก็ทำลายแผนการในชีวิตอย่างไม่มีชิ้นดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นควรรำลึกไว้เสมอว่า ยังมีผู้คนคอยช่วยเหลือเรา เพียงแค่เราเอ่ยปากขอเท่านั้น

ที่มา : refinery29.com, addictioncenter.com          

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.