Home > Education > Interviews > Parenting > Critical Thinking คืออะไร สอนลูกยังไงได้บ้าง

ในโลกยุคปัจจุบัน ปฎิเสธไม่ได้เลย ว่าทักษะ Critical Thinking หรือการคิดเชิงวิพากษ์ นั้น เป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก ทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต ในยุคที่มีข้อมูลข่าวสารหมุนเวียนอย่างรวดเร็วมากมาย การมีทักษะการคิดแบบนี้ จะช่วยให้เรามีความสามารถในการตัดสินใจสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้ดี มีความเป็นเหตุเป็นผล และมีวิจารณญาณ แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตได้ตรงจุด ไม่ว่าในช่วงวัยไหน ๆ สำหรับคุณพ่อคุณแม่ ที่อยากฝึกให้ลูกได้มีทักษะ Critical Thinking เพื่อการเติบโตและใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างดีนั้น มาดูกันว่าเราจะสอนลูกตั้งแต่เด็กยังไงได้บ้าง

Critical Thinking

Critical Thinking หรือ การคิดเชิงวิพากษ์ คือ ทักษะการคิด อย่างมีวิจารณญาณ อยู่บนหลักของข้อเท็จจริง มีความเป็นเหตุเป็นผล มีหลักฐานที่อ้างอิงสนับสนุน เชื่อถือได้ โดยไม่นำอารมณ์ส่วนตัว อคติ หรือประสบการณ์ ความเชื่อส่วนตัว มาใช้อ้างอิง เป็นส่วนหนึ่งในการตัดสินใจนั้น ๆ ถ้าจะอธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ เพียงแค่มีสติ หยุดคิดทบทวน ตั้งคำถาม เพื่อให้เกิดความแน่ใจ ก่อนที่จะเชื่อ หรือตัดสินใจอะไรสักอย่าง ก็ถือว่ากระบวนการ Critical Thinking ได้เริ่มทำงานแล้ว ซึ่งทักษะนี้ ถือเป็นทักษะที่ได้รับการจัดอันดับโดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ว่าเป็นหนึ่งในทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย

critical thinking

องค์ประกอบของ Critical Thinking

  • การทำความเข้าใจ (Understanding)
    หลังจากรวบรวมข้อมูลที่เป็นวัตถุดิบแล้ว ต้องพยายามทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ เปิดมุมมองให้กว้าง ซึ่งจะช่วยให้เกิดกระบวนการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผลขึ้นมาได้
  • การวิเคราะห์ (Analysis)
    เมื่อทำความเข้าใจเรียบร้อยแล้ว ก็นำข้อมูลแต่ละชุด มาคิดวิเคราะห์ หาความสัมพันธ์ ความเชื่อมโยงกัน ด้วยการใช้ตรรกะ ยึดหลักเป็นเหตุและผล โดยดูที่ความน่าเชื่อถือ ความสมเหตุสมผล และการเชื่อมโยงข้อมูลแต่ละชุด
  • การอนุมาน (Inference) อย่างรอบด้าน
    หลังจากวิเคราะห์ข้อมูลแล้ว จึงมาอนุมาน หรือคาดการณ์ผลสรุป เพื่อใช้ในการตัดสินใจ โดยการตั้งคำถาม จากความเป็นไปได้ต่าง ๆ ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ จนได้คำตอบที่เป็นข้อสรุปจากข้อเท็จจริง

critical thinking

สอนลูกให้เรียนรู้วิธีคิดอย่างไรดี

  • ฝึกการตั้งคำถาม
    ชวนลูกให้ตั้งคำถาม กับสิ่งต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้จากความสงสัย ฝึกวิธีการตั้งคำถาม และพยายามกระตุ้นให้เด็ก ๆ กล้าแสดงออก กล้าที่จะถาม หากสงสัยอะไร เห็นความสำคัญของการขอคำปรึกษา พยายามที่จะทำความเข้าใจในสิ่งที่ไม่รู้ ไม่ว่าจะเป็นในห้องเรียนที่ครูสอน หรือที่ไหน ๆ ก็ตาม และการตอบคำถามต่าง ๆ ควรเป็นปลายเปิด เพื่อฝึกให้ลูกได้มีการขบคิดต่อได้
  • ฝึกการคิดอย่างเป็นเหตุเป็นผล
    ลองมองรอบตัว แล้วสร้างสถานการณ์ จากสิ่งต่าง ๆ ที่เห็น นำมาชวนลูกคุย ว่าเพราะอะไรถึงเกิดสิ่งนี้ขึ้น คิดว่าถ้าทำแบบนี้แล้วจะเกิดอะไรต่อ เพราะอะไร สร้างสมมติฐาน ชวนกันขบคิด ถึงความน่าเชื่อถือ ความสมเหตุสมผล ของสิ่งต่าง ๆ เพื่อฝึกการเชื่อมโยงความคิด ในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้
  • สอนให้ลูกไม่ปักใจเชื่ออะไรง่าย ๆ
    เมื่อได้รับข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ มา ลองตั้งคำถาม ชวนคิด ชวนคุย ชวนลูกวิเคราะห์ ก่อนจะปักใจเชื่อสิ่งที่เห็น หาแหล่งข้อมูลรองรับที่เชื่อถือได้ หรือมองด้วยทัศนคติที่เป็นกลาง เปิดใจรับสิ่งใหม่ เปิดรับมุมมองของคนอื่นรอบข้าง
  • สอนลูกให้เข้าใจความต่างของข้อเท็จจริงและความคิดเห็น
    ในยุคสมัยที่การแสดงความคิดเห็น สามารถทำได้รวดเร็วและง่ายดาย การสอนลูกให้รู้จักแยกแยะ ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง กับการแสดงความคิดเห็นส่วนตัว ของแต่ละบุคคล ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ในการพิจารณา และตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต
  • หมั่นขยายมุมมองทางความคิด
    สอนลูกให้เรียนรู้ที่จะรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ลองสำรวจและมองในมุมอื่นที่แตกต่างกับตัวเอง ที่สำคัญ พ่อแม่ ครอบครัว คนใกล้ชิด ควรเป็นแบบอย่างให้เด็กเห็น ชวนกันพูดคุย ถกประเด็นต่าง ๆ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และรับฟังผู้อื่นอย่างเปิดกว้าง จะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก และช่วยเสริมจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ อีกด้วย

อ่านเรื่องราวดี ๆ เกี่ยวกับราชวงศ์ ทั้งไทย และ ต่างประเทศ เซเลบริตี้ ข่าวสารใหม่ ๆ และ เรื่องราวเกี่ยวกับแฟชั่น สุขภาพ และความงามได้ที่ Hello!

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.