“สำหรับผม…โรงเรียนต้องให้มากกว่าการให้ความรู้” ดร.สันติธาร เสถียรไทย บุตรชายคนเดียวของศาสตราจารย์พิเศษ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีประจำกระทรวงหลักของประเทศ และท่านผู้หญิงสุธาวัลย์ เสถียรไทย
ปัจจุบัน ดร.สันติธาร เสถียรไทย เป็น Chief Economist และ Managing Director แห่ง Sea Group แพลตฟอร์มดิจิทัลเจ้าของ Garena, Shopee และ SeaMoney ในสิงคโปร์ ซึ่ง ดร.สันติธาร เสถียรไทย ใช้ชีวิตที่นั่นมานานกว่า 12 ปี กล่าวถึงการศึกษาในวัยเด็กของตนที่เริ่มจากโรงเรียนสาธิตจุฬาฯ
“ตอนเด็กๆ ผมเรียนเก่งบ้างไม่เก่งบ้าง แล้วแต่ช่วงว่าเจอครูแบบไหน เพื่อนแบบไหน แต่ตอนม.2 ผมได้เกรด 3.9 ซึ่งการเรียนค่อยๆ ดีขึ้นละ แต่พอย้ายไปเรียน IGCSE ที่ Bangkok Patana คะแนนตกฮวบเลย จำได้ว่าอาจารย์ที่เป็นห่วงบอกว่า ขอ C เท่านั้นพอจะได้ไหม ไม่ใช่เพราะโรงเรียนไม่ดีนะครับ แต่เป็นเพราะเปลี่ยนแปลงเรื่องภาษาด้วย culture ด้วย วิธีการเรียนที่ต่างด้วย ทำให้ต้องปรับตัวเยอะ แต่พอเริ่มปรับได้จนคะแนนดีขึ้นมาก ก็ต้องย้ายไปเรียนที่อังกฤษอีก”
คุณต้นสนย้ายไปเรียน A-Levels ที่ Uppingham School อีกสองปี ทำให้เขาต้องเจอคัลเจอร์ช็อกอีกครั้งหนึ่ง
“เป็นครั้งแรกที่ไม่ได้อยู่บ้านตัวเอง มีห้องนอนแต่ล็อกประตูไม่ได้ และแทบไม่มีเด็กไทยเลย ฝรั่งช่วงนั้นก็ชอบแกล้งคนเอเชียพอควร ปีแรกของการเรียนจึงค่อนข้างกระท่อนกระแท่นพอสมควร แต่โชคดีที่กลับตัวทัน” นักเศรษฐศาสตร์หนุ่มพูดพลางยิ้ม

“ข้อดีของการอยู่โรงเรียนประจำคือ เราต้องแกร่งเพื่อให้อยู่ได้ เรียนดีอย่างเดียวไม่พอ เราต้องมีร่างกายที่แข็งแรงด้วย ต้องเก่งกีฬา บางวันไม่มีอะไรทำก็เล่นกีฬา หรือไม่ก็เล่นกีต้าร์ซ้ำๆ ซากๆ ไปเรื่อยๆ ทำให้เรา well-round มากขึ้น
“แรกๆ ก็โดนแกล้ง แต่พอผมได้อยู่ทีมกีฬาของโรงเรียน เพื่อนเริ่มนับถือเรา เวลาใครจะมากวน ก็จะมีรุ่นน้องรุ่นพี่ที่บอกคนแกล้งว่า ไอ้นี่มันเจ๋ง อย่าไปล้อมัน ถ้าจะมีคนคอยปกป้องเรา ทำให้ไม่ค่อยมีใครแตะเรามาก”
คุณต้นสนเข้าเรียนที่ London School of Economics ซึ่งเขาเลือกที่นี่เพราะอยากอยู่ลอนดอน นอกจากนี้ท่ีนี่ยังเป็นมหาวิทยาลัยมีชื่อทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง
“ที่เลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ เพราะสมัยผมเรียนมัธยมเกิดต้มยำกุ้งพอดี เห็นชีวิตคนพลิก เห็นโครงการใหญ่ถูกทิ้งร้าง ครอบครัวเพื่อนบางคนล้มละลาย ครอบครัวเราเองก็ลำบาก เพราะเงินบาทลอยตัว ทำให้ค่าเล่าเรียนแพงขึ้นมาก
“จึงอยากเข้าใจเรื่องนี้มากขึ้น ว่าเป็นไปได้ยังไงเมื่อการบริหารเศรษฐกิจผิดพลาดจนส่งผลขนาดนี้ได้เชียวหรือ เราอยากอธิบายให้ชาวต่างชาติเข้าใจว่า ไม่ใช่เมืองไทยไม่ดีไปหมดนะ แต่เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจกับการเมืองกับอีกหลายอย่างประกอบกัน ทำให้เกิดวิกฤติ
“ผมจึงชอบเศรษฐศาสตร์ เพราะเป็นวิชาที่ชวนคิดมาก อาจารย์บอกผมว่า เศรษฐศาสตร์ที่จะมีประโยชน์สุดในชีวิต ก็คือเศรษฐศาสตร์ที่เรียนสมัยมัธยมนี่แหละ ผมว่าท่านพูดถูก

“หลายอย่างที่ผมเรียนตอนมัธยม ได้ใช้จนถึงทุกวันนี้ ขณะที่วิชาที่ผมเรียนตอนมหาวิทยาลัยกลับได้ใช้น้อยลงเรื่อยๆ ผมจึงผิดหวังนิดหน่อยว่า ทำไมมันไม่ค่อยสามารถเอามาใช้ในความเป็นจริงของชีวิตได้ แต่ที่ยังเรียนต่อไปก็เพราะผมเปลี่ยนไม่ได้”
เมื่อเรียนปริญญาโทที่ LSE ต่อ เขาจึงเปลี่ยนไปเรียนด้าน Public Policy เนื่องจากต้องการต่อยอดวิชาให้สามารถนำไปใช้แก้ปัญหาทางนโยบายได้จริง
Harvard เป็นคำตอบสุดท้าย
หลังจากจบโท คุณต้นสนก็กลับมาทำงานที่สถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังนาน 2 ปี ทำให้เขาค้นพบตัวเองครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
“สมัยเรียนผมไม่ชอบวิชาไฟแนนซ์ เพราะไม่ถนัดและได้คะแนนไม่ดีด้วย ก็เลยตัดสินใจว่าชีวิตนี้จะไม่ทำงานเกี่ยวกับไฟแนนซ์แน่นอน แต่พอมาทำงานก็ได้รับผิดชอบเรื่องไฟแนนซ์ทั้งนั้นเลย ซึ่งทำไปทำมากลายเป็นชอบ เพราะเป็นไฟแนนซ์คนละแบบกับที่เราเคยเรียน”

ระหว่างนั้นเขายังป็นอาจารย์พิเศษที่คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ด้วย จนผ่านไปสองปีกว่า เขามานั่งคิดว่าจะเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาดีไหม จึงสมัครเรียนปริญญาเอกที่ Kennedy School แห่ง Harvard University ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ค่อนข้างยูนีกพอสมควรก่อน แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะเรียนเอกต่อดีหรือไม่
ระหว่างเรียนคุณต้นสนได้ช่วยงานนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล อย่าง โจเซฟ สติกลิช และเป็นผู้รับรองคุณต้นสนจนทำให้วิทยานิพนธ์ปริญญาโทของเขาได้รางวัลวิทยานิพนธ์ยอดเยี่ยมมาครอง และกลายเป็นตั๋วทองคำในการคว้าทุนเรียนปริญญาเอกที่ Harvard University ต่อ”
เส้นทางเรียนของคุณต้นสนในมหาวิทยาลัยในฝันของใครหลายคน อย่าง Harvard University จะราบเรียบขนาดไหนและสนุกสนานอย่างไร และฉากชีวิตบทต่อไปของเขาจะเป็นอย่างไร ติดตามอ่านได้ใน HELLO! Education ปี 2022 นี้ ที่วางแผงแล้วในขณะนี้