การได้รับเกียรติให้ขึ้นปกนิตยสาร TIME มีไม่บ่อยครั้งนัก จึงเป็นที่ปรารถนาของคนทั้งโลกที่จะได้ขึ้นปกนิตยสารที่ป๊อปปูลาร์ที่สุดในโลก คีตาญชลี ราว เด็กสาวชาวอเมริกันเชื้อสายอินเดีย ที่อาศัยอยู่ใน Lone Tree โคโลราโด เป็นเด็กคนแรกที่ได้รับเกียรตินั้น โดยทางนิตยสารได้เฟ้นหาจากเด็กอัจฉริยะวัย 8-16 ปี จำนวน 5,000 คนทั่วสหรัฐอเมริกา
ตอนนั้นคีตาญชลีอายุได้เพียง 15 ปี โดยที่ก่อนหน้านั้นคีตาญชลีก็ได้รับรางวัลทางด้านวิทยาศาสตร์มาแล้วหลายรางวัล ถ้าจะให้คำจำกัดความความสามารถของเธอ ก็ต้องบอกว่านอกจากคีตาญชลีจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ตัวกลั่นแล้ว เธอยังเป็นนักประดิษฐ์ วิศวกร นักเขียนและยังเป็นจิตรกรอีกด้วย นอกจากนี้ยังได้เป็นนักพูดบนเวที TED Talk อีกหลายครั้งหลายหน
เปิดโลกวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เยาว์วัย
พ่อแม่ของคีตาญชลี ทั้งราม และภารตี ราว สนับสนุนส่งเสริมให้เธอสนใจวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีตั้งแต่เด็ก ตอนที่คีตาญชลีอายุราว 4 ขวบ ลุงของเธอซื้อชุดทดลองทางวิทยาศาสตร์ให้เป็นของขวัญ
คีตาญชลีได้เป็น Davidson Young Scholar ซึ่งเป็นสถาบันเฉพาะของเด็กมีพรสวรรค์ ด้วยวัยเพียง 7 ขวบเท่านั้น เธอได้เข้าเรียนที่ Highlands Ranch Highschool ในโคโลราโด เพื่อเรียนหลักสูตร STEM ปัจจุบันเธอเรียน Grade 11
และเมื่อเธออายุได้ 10 ขวบ คีตาญชลีเห็นข่าวทางทีวีกรณีอื้อฉาวเจ้าหน้าที่รัฐถูกดำเนินคดี เนื่องจากน้ำประปาปนเปื้อนสารตะกั่ว

เธอจึงคิดค้นอุปกรณ์ตรวจหาสารตะกั่วปนเปื้อนในน้ำด้วยความรวดเร็ว โดยใช้ต้นทุนต่ำ ซึ่งหากสิ่งประดิษฐ์นี้ของคีตาญชลีออกสู่สาธารณะได้เมื่อไร จะสามารถสร้างคุณูปการแก่สาธารณชนเป็นอย่างมาก ไม่เพียงแค่ในสหรัฐอเมริกา แต่ยังรวมถึงประเทศอื่นอีกด้วย โดยเธอให้ชื่อสิ่งประดิษฐ์นี้ว่า Tethys ซึ่งทำให้เธอได้รางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและได้พัฒนาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์ที่ 3M
นอกจากนี้คีตาญชลียังพัฒนาแอพพลิเคชันที่ใช้ AI ในการค้นหาการ cyberbullying แบบเรียลไทม์ และยังพัฒนาเครื่องมือตรวจจับการเสพติดสารโอปิออยด์ เพื่อช่วยให้แพทย์สามารถวินิจฉัยอาการและสั่งยาได้อย่างทันท่วงที
ลีโอนาร์โด ดาวินชี ภาคผู้หญิง
ด้วยความสามารถทางวิทยาศาสตร์ที่มีอยู่อย่างล้นเหลือ อาจยังไม่เพียงพอต่ออัจฉริยภาพอันฉายโชนของคีตาญชลี เพราะเธอยังมีความสามารถทางการขีดเขียนอีกด้วย

ตอน 9 ขวบ คีตาญชลีเขียนหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่งชื่อว่า Baby Brother Wonders ว่าด้วยการมองโลกผ่านสายตาของน้องชาย ซึ่งชนะรางวัลที่ 2 ในการประกวดงานเขียนระดับชาติ PBS
และอีก 5 ปีต่อมา เธอก็ได้เขียนหนังสือขึ้นมาอีกเล่มชื่อ A Young Innovative Guide to STEM
นอกจากความสามารถด้านงานเขียนแล้ว คีตาญชลียังวาดรูปได้เก่งกาจจนได้รางวัลที่ 1 จากการประกวด International Aviation Art Contest และผลงานชิ้นดังกล่าวก็ได้ถูกจัดแสดงอยู่ในสนามบินนานาชาติแนชวิลล์
ด้านงานอดิเรก ยามว่างคีตาญชลีจะชอบเล่นเปียโน เธอเล่นเพลงคลาสสิกมานานสิบปี และช่วยสอนเปียโนที่ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ นอกจากนี้เธอยังชื่นชอบศิลปะฟ้อนรำของอินเดีย ร้องเพลง เรื่อยไปจนถึงกิจกรรมกีฬาอย่างว่ายน้ำ ฟันดาบ และบางครั้งก็อบขนม
ชีวิตวันนี้

ปัจจุบันคีตาญชลีทำงานวิจัยอยู่ที่ภาควิชาชีววิทยาของเซลล์ที่ University of Colorado เดนเวอร์ เพื่อช่วยเหลือผู้เสพติดสารโอปิออยด์ โดยใช้เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าทางพันธุวิศวกรรมร่วมกับเครื่องมือวัดความเข้มของสี
ตลอดเวลาที่ผ่านมา คีตาญชลีเป็นกระบอกเสียงในการประชาสัมพันธ์ให้คนหันมาสนใจวิชา STEM และกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับ STEM เพิ่มมากขึ้น และเธอสามารถดึงดูดนักเรียนประถมศึกษาจนถึงมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย ได้กว่า 40,000 คน ทั่วทั้ง 4 ทวีปในโลก ให้หันมาสนใจ STEM
จึงไม่น่าแปลกใจเลย ที่คีตาญชลีจะได้รับเลือกจากนิตยสาร FORBES ให้เป็น 1 ใน 30 คนที่ประสบความสำเร็จก่อนวัย 30 ในสาขาวิทยาศาสตร์ที่ประดิษฐ์เครื่องตรวจจับสารตะกั่วในน้ำ และยังมีรางวัลอีกมากมายที่เธอได้รับ และเราคิดว่าในอนาคตเธอน่าจะเป็นลีโอนาร์โด ดาวินชี ภาคผู้หญิง ก็ได้ใครจะรู้
ที่มา : gitanjali.net ; lottie.com; time.com