สตาร์ทอัพแรกทำให้คุณ ภาณุสิชฌ์ ชมะนันทน์ หรือคุณแพลนกลายเป็นมหาเศรษฐีด้วยวัยเพียง 20 ปีเท่านั้น เพราะสามารถทำกำไรจากคริปโตเคอเรนซีได้อย่างมหาศาล แต่กลับไม่รู้สึกมีความสุขกับเงินทองที่ได้รับ คุณ ภาณุสิชฌ์ ชมะนันทน์ จึงตัดสินใจขายคริปโตทั้งหมดที่มี เพื่อนำมาลงทุนในสตาร์ทอัพชื่อว่า Ever Medical ที่จะช่วยเชื่อมโยงประวัติคนไข้ ในระบบสาธารณสุขของสหรัฐอเมริกาและไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ เพื่อที่ไม่ว่าจะไปรักษาที่โรงพยาบาลแห่งไหนก็ตาม ประวัติคนไข้จะถูก Decentralised ให้ทุกโรงพยาบาลและคนไข้สามารถเข้าถึงประวัติการรักษาของตนได้
ใฝ่ใจและใฝ่รู้
หากไล่เรียงประวัติความเป็นมาของคุณ ภาณุสิชฌ์ ชมะนันทน์ หนุ่มน้อยวัย 27 เขาเป็นหลานปู่ของพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ อดีตนายกรัฐมนตรี และเป็นลูกชายคนเก่งของพล.อ.พงศ์พิพัฒน์ ชมะนันทน์ ซึ่งเคยไปศึกษาที่โรงเรียนนายร้อยเยอรมัน ทำให้ได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่นำมาใช้ในการทหาร และในเวลาต่อมาได้ทำธุรกิจเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ต โดยเปิดบริษัทในบริเวณบ้านพัก

คุณแพลนจึงหัดเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ด้วยการแอบถามจากบรรดาโปรแกรมเมอร์ที่ทำงานกับคุณพ่อ และฝึกปรือฝีมือ จนในที่สุดสามารถเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เองได้
“ตอนผมอายุ 2 ขวบ คุณพ่อเปิดบริษัทเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตเป็นเจ้าแรกๆ ของไทย คุณพ่อคุณแม่ทำบริษัทไอทีอยู่หน้าบ้าน มีพนักงานและโปรแกรมเมอร์รวม 100 กว่าคน ผมก็จะเห็นพี่ๆ เดินไปเดินมาในบ้าน มีคอมพิวเตอร์เต็มไปหมด
“ด้วยความที่ผมชอบเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์ ก็จะชอบคุยกับ Developer ที่มาทำงาน เขาสอนผมเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นตั้งแต่ตอนนั้น พอโตขึ้น ช่วงปิดเทอมผมก็จะช่วยพี่ๆ ที่บริษัทคุณแม่ (กรองกาญจน์ ชมะนันทน์) เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้ลูกค้า”
สำหรับการเรียน ในช่วงประถมศึกษาปีที่ 1-3 คุณแพลนเป็นอดีตนักเรียนโครงการการศึกษานานาชาติ โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากนั้นเข้าเรียนที่ Harrow International School แล้วจึงไปเรียนที่ Millfield School ที่อังกฤษ
“เนื่องจาก Millfield เป็นโรงเรียนที่เน้นกีฬา ผมไม่ค่อยได้เล่นกีฬา จึงกลับไป Harrow ก่อนจะไปเรียน Year 12 ที่ Canford School ที่ดอร์เซ็ต อังกฤษอีกครั้ง
“ช่วงที่เรียน Year 13 แทบจะสอบเสร็จหมดแล้ว และสมัครเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ซึ่งจริงๆ ผมไม่อยากเรียน แต่คุณพ่อคุณแม่อยากให้เรียน ก็เลยเลือกเรียนเศรษฐศาสตร์ที่ SOAS University of London (The School of Oriental and African Studies) เพราะคุณพ่ออยากให้เรียนเป็นเพื่อนพี่สาวฝาแฝด พี่พริม-พี่แพรว (พิมพิศา-พิชามญช์ ชมะนันทน์) ที่เข้าเรียนก่อนหนึ่งปี ซึ่งระหว่างเรียน ผมแทบไม่ได้ไปไหนเลย เพราะเอาเวลาไปทำสตาร์ทอัพอย่างเดียว”

ตอนนั้นเขาอยากบินไปทำสตาร์ทอัพที่ซิลิคอนวัลเลย์ แต่ทนคำทัดทานของคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้ จึงตัดสินใจทำสตาร์ทอัพขึ้นในลอนดอนเสียเลย
“Tech Ecosystem ที่ลอนดอนค่อนข้างดีมากครับ มีคนเก่งๆ จากยุโรปตะวันออกมาทำงานเต็มเลย ผมก็เลยตัดสินใจทำสตาร์ทอัพเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี ร่วมกับพนักงานอีก 20 กว่าคนที่ไทย และที่อังกฤษอีกสองสามคน
“ช่วงเรียน SOAS ผมไม่ต้องปรับตัวเยอะ เพราะเรียนโรงเรียนอินเตอร์มาตลอด ไม่รู้สึก suffer อะไร เพราะเขามีเวลาให้ค้นคว้าหาข้อมูลเอง และส่งงานให้อาจารย์ ส่วนใหญ่ผมจะเข้าคลาสเฉพาะวันที่มี Lecturer ที่เราสนใจมาบรรยาย ซึ่งจริงๆ บรรยากาศการเรียนที่นั่นดีมากเลยนะครับ ระบบการศึกษาของอังกฤษทำให้เรารู้จักมีความรับผิดชอบ มีวินัยโดยที่อาจารย์ไม่มายุ่งหรือเคี่ยวเข็ญเรา
“ผมก็ได้นำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์ ไปปรับใช้กับสตาร์ทอัพของตัวเอง ซึ่งทำเกี่ยวกับคริปโตเคอเรนซี ส่วนใหญ่เป็นเรื่องวิธีการทำงานของธนาคารกลาง การโอนเงินข้ามประเทศ เพราะคริปโตเคอเรนซีถูกสร้างขึ้น เพื่อช่วยประเทศเล็กๆ ที่ถูกประเทศที่ใหญ่กว่าแทรกแซงค่าเงิน ด้วยการใชกลไกในการโจมตีหรือควบคุมค่าเงิน

“ตอนนั้นผมอายุ 20 ต้นๆ แต่ทำเรื่องคริปโตลึกมากเลย บินไปอเมริกา เกาหลีใต้ ไต้หวัน เพื่อคุยกับ Private Equity เจ้าใหญ่ๆ ว่า อยากลงทุนทำกองทุนคริปโตเล็กๆ กับเราไหม ผมลงทุนไม่มากเท่าไร แต่จากนั้นราคามันพุ่งขึ้นมาเยอะเลย แต่แม้ว่าจะได้เงินมากแค่ไหน ผมกลับไม่ค่อยภูมิใจ หรือมีความสุขมากเท่าไรครับ”
Forever and Ever Medical
“ผมอยากเป็นคนที่ทำให้โลกนี้ดีขึ้น โดยที่ impact คนให้ได้มากที่สุด” คุณแพลนบอกกับเราถึงความฝันอันยิ่งใหญ่ของตน ที่แม้ในวันนี้จะยังไม่สำเร็จ แต่ฝันเล็กๆ ของการทำสตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องกับทุกข์สุขของคนธรรมดาทั่วไป กลับรอคอยที่จะนำเขาไปสู่ประตูแห่งความสำเร็จได้ในอนาคตอันใกล้
“คิดว่าเราจะ impact โลกยังไงให้ดีขึ้นได้ เพราะเราเรียนเศรษฐศาสตร์มา สิ่งหนึ่งที่เรามองคือเรื่อง Healthcare ที่เทคโนโลยียังเข้าไม่ถึงสักเท่าไร Tech Firm ที่สหรัฐฯ ยังเข้าไปไม่ได้เลย คำตอบเชิงลึกก็เพราะ Tech Company ใหญ่ๆ ถูกสร้างมาด้วยการเป็น Data Exchange Platform มีดาต้าไหลเวียนในระบบเขา ดาต้าของ Google ก็คือเว็บไซต์ ดาต้าของ Facebook ก็คือโซเชียลดาต้า ดาต้าของ AirBnB ก็คือข้อมูลของ Liquid Real Estate Asset ที่คนคนหนึ่งเคยลงทุน

“แต่ใน Healthcare มี Stakeholder อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ที่เรียกว่า incumbents ซึ่งใหญ่มากๆ และอาจไม่มี Tools หรือช่องทางให้สามารถปล่อยดาต้าให้ไหลเวียนออกมาข้างนอก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเรื่องความเป็นส่วนตัว เราไปโรงพยาบาลหนึ่งแล้วจะไปอีกโรงพยาบาล ข้อมูลจะไม่ไหลตามเรา ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะความล้าหลังของระบบ และความที่ End Users ไม่สามารถถือครองข้อมูลได้อย่างแท้จริง ก็เลยมาคิดว่าถ้าหากเราลดความลักลั่นนี้ได้ แล้วให้คนไข้ถือข้อมูลของตัวเองทั้งหมดเลย จะเป็นอย่างไร
“4 ปีที่ผ่านมาเรายังทำได้แค่ 5% ของเปเปอร์ที่ผมเขียนขึ้นมา โดยเริ่มที่อเมริกา เพราะดร.โฮเซ มอร์เรย์ Co-Founder ของผมเป็นหมอที่มีชื่อเสียงมากในอเมริกา เคยเป็น Associated Chief Health Officer ของ IBM Watson, Eisenhower Fellow ซึ่งเก่งมาก โดยรู้จักผ่าน Co-Founder อีกคนที่เป็นผู้ใหญ่ฝั่งจีน ท่านเป็นคนแรกที่อ่านเปเปอร์ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของผม แล้วเห็นว่าไอเดียดีมากเลย บอกว่ายูไม่ต้องทำคริปโตแล้ว เปิดบริษัทดีกว่า ก็เลยเปิดสตาร์ทอัพขึ้นมาให้ชื่อว่า Ever medical ก็รู้สึกดีใจที่หลายๆ อย่างที่เราทำได้ช่วยเหลือคนจริงๆ”

เป็นเพราะแพสชั่นของคุณแพลนเองที่อยากช่วยเหลือสังคมมาโดยตลอด “ลูกค้าของไทยเราโดยมากเป็นโรงพยาบาลเอกชน และกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งโรงเรียนแพทย์ครบเลย บางแห่งอาจใช้ระบบเรานิดหน่อย บางแห่งก็ใช้ระบบเรามากหน่อย
“สำหรับคนไข้ เราก็สร้างแอพพลิเคชั่นขึ้นมาเหมือนกันชื่อ Ever Healthcare ตอนนี้เราก็ร่วมงานกับหน่วยงานรัฐบาลหรือมูลนิธิต่างๆ ในช่วงโควิด โดยมีบริการจัดส่งยาไปถึงท่ีบ้าน โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเลยครับ”
ปัจจุบัน Ever Medical มีพนักงาน 110 คน ซึ่งมีทั้งคนไทยและต่างชาติ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้าน Machine Learning และ AI เป็นต่างชาติ นอกจากนี้คุณแพลนซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง ก็ยังควบตำแหน่งพัฒนาโปรแกรม และยังเขียนโค้ดเองอีกด้วย
สำหรับอนาคตข้างหน้าที่รอคอยคุณแพลนอยู่ จะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามอ่านได้ใน HELLO! Education 2021