แม้ว่าซีรีย์จบไปสักพักแล้ว แต่ยังมีแฟน ๆ คอยติดตามอยู่ไม่น้อย สำหรับสองนักแสดงดาวรุ่งจาก ‘LA PLUIE THE SERIES ฝนตกครั้งนั้นฉันรักเธอ’ อย่าง พี – พีรวิชญ์ พลอยนำพล และ ไตเติ้ล – ธนธร เสนางคนิกร ซึ่งที่ผ่านมา ทั้งคู่มีโอกาสอวดฝีมือการแสดงผ่านบทบาทนักศึกษาให้เห็นกันมาบ้างแล้ว ส่วนในชีวิตจริงเวลาอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยจะเป็นอย่างไร HELLO! Education มีบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟถึงเส้นทางการเรียนของทั้งคู่มาให้ติดตามกันค่ะ

นักเรียนไทย X นักเรียนนอก
“ผมเรียนม.ปลายที่โรงเรียนเอกชนในสามพราน นครปฐม ที่สนใจจะเรียนนิเทศฯ เพราะตอนนั้นเริ่มสนใจวงการบันเทิง มีโมเดลลิ่งมาติดต่อ ได้ไปแคสต์งาน และผมชอบดู behind the scene ดูแล้วเพลิน แต่อีกใจก็เห็นว่านักแสดงหลายคนเขาก็ไม่ได้เรียนนิเทศฯ กันมา และทำอาชีพอื่นเป็นหลัก เลยคิดว่าลองดูวิชาชีพอื่นแล้วทำงานบันเทิงเป็นงานอดิเรกไปด้วยก็ได้” คุณพีเล่าถึงช่วงเรียนมัธยมปลายก่อนเรียนต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งมีสองเส้นทางให้ตัดสินใจคือเรียนนิเทศศาสตร์เพราะมีความสนใจในอุตสาหกรรมบันเทิง แต่อีกใจก็เอนเอียงให้กับสายสุขภาพ เพราะมีแรงบันดาลใจคือน้องชายซึ่งเป็นเด็กพิเศษที่เขาอยากดูแล
คุณไตเติ้ลเกิดและโตที่หาดใหญ่ หลังจบชั้นประถมก็ลุยเดี่ยวไปเรียนมัธยมที่โรงเรียนเซนต์ ฟรานซิส เมโธดิสต์ ประเทศสิงคโปร์ “คุณพ่อบอกตั้งแต่เรียนป.4 แล้วว่า จะให้ไปเรียน เพราะคุณพ่อมีเพื่อนอยู่ที่นั่นเยอะ ผมก็ย้ำมาตลอดตั้งแต่ป.4 จนถึงป.6 ว่ายังไงก็ไม่ไป แต่ตอนนั้นยอมไปเพราะเรายังไม่มีสมาร์ตโฟน (หัวเราะ) ไปถึงตอนแรกร้องไห้ทุกวัน ภาษาอังกฤษก็เข้าใจศัพท์แค่บางคำ พูดทั้งประโยคไม่ได้ ต้องไปเรียนภาษาหนึ่งปีเต็มเพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าโรงเรียน แล้วผมก็คิดถึงเพื่อน คิดถึงคุณแม่ ผมเป็นเด็กติดแม่มากในตอนนั้น” คุณไตเติลเล่า ซึ่งเจ้าใช้ชีวิตนักเรียนมัธยมในที่สิงคโปร์รวมกว่า 5 ปี โดยอาศัยกับการ์เดียนชาวสิงคโปร์ ในหอพักซึ่งมีเด็กต่างชาติจากหลายที่มา พร้อมกับบอกว่า “คนไทยที่นั่นส่วนใหญ่จะสนิทกับคนอินโดฯ มาก ผมก็สนิทกับเพื่อนอินโดฯ ทั้งที่หอและที่โรงเรียน”
ส่วนเรื่องปัญหาและอุปสรรคในการเรียน เจ้าตัวบอกว่า “การเรียนยากตรงที่เป็นศัพท์อังกฤษล้วน ถึงเราจะเรียนภาษามาแล้วแต่บางวิชาก็มีศัพท์เฉพาะ เราก็ต้องปรับตัวให้ได้ แล้วผมเป็นคนที่เรียนในโรงเรียนไม่พอ ต้องไปเรียนกับติวเตอร์อีกเพราะอยากมั่นใจว่าสิ่งที่เราเข้าใจเราเข้าใจมันจริงหรือเปล่า การเรียนของผม ถ้าวิชาไหนดีก็ดีไปเลย ได้ A อย่างคณิตศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ ถ้าไม่ดีก็ F เลย อย่างวิชาชีววิทยา แย่มาก สมองไม่รับเลย ส่วนการสอบก็เหมือนเมืองไทย คือมีมิดเทอมกับไฟนอล คะแนนไฟนอล 40 เปอร์เซ็นต์ มิดเทอม 30 เปอร์เซ็นต์ แล้วคะแนนเข้าเรียนอีก 30 เปอร์เซ็นต์”

ฉุกเฉินการแพทย์ X วิศวะฯ
ระหว่างที่มองหาคณะที่เหมาะกับตัวเอง ดูเหมือนโอกาสจะเป็นใจให้คุณพี เพราะในเวลานั้น คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดรับนักศึกษาสาขาวิชาปฏิบัติการฉุกเฉินการแพทย์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์บัณฑิต เพิ่มเติมหลังรอบแอดมิชชั่น “ตอนนั้นสาขานี้เพิ่งเปิดได้ปีเดียว ผมเป็นรุ่นที่สอง เขาเปิดรับเพิ่ม 4 คน ผมยื่นสมัครเพราะเกรดถึง วันสัมภาษณ์ผมตั้งใจทำสไลด์ ซ้อมพูดหน้ากระจกเพื่อพรีเซนต์ภายในห้านาที เล่าถึงแพสชั่นที่ทำให้ผมอยากเป็นนักฉุกเฉินการแพทย์ สุดท้ายก็ติด และเขาเพิ่มโควตาเป็น 7 คน อาจารย์บอกว่าปีนั้นมีคนน่าสนใจหลายคน ทั้งสาขามี 35 คน ผมเป็นคนที่ 34” คุณพีเล่า
ก่อนเสริมว่า สาขานี้ไม่ได้รับเฉพาะวุฒิมัธยมปลาย แต่เปิดประตูให้คนที่ทำงานกู้ชีพหรือกู้ภัยมาก่อน สามารถสอบเข้าเรียนเพื่อเป็นนักฉุกเฉินการแพทย์ได้เช่นกัน “เป็นหลักสูตรสี่ปี การเรียนพื้นฐานจะเหมือนกับเรียนแพทย์เลย แต่ไม่ลึกเท่าแพทย์ ได้เรียนกับอาจารย์ใหญ่เพื่อเรียนกายวิภาคแต่ไม่ได้ผ่า แต่พอชั้นคลินิกเราเรียนเรื่องฉุกเฉินเหมือนแพทย์ เป็นการเรียนกู้ชีพขั้นสูง”
“ผมเริ่มออกไปกับรถฉุกเฉินตั้งแต่เรียนปีสอง เป็นวิชาเลือกให้เราออกไปนอกสถานที่ ผมอยากรู้ว่าก่อนที่จะเป็นขั้นแอดวานซ์ส่งโรงพยาบาล พี่ ๆ มูลนิธิเขาทำงานยังไง เราจะชอบมั้ย ไปเทสต์ตัวเองดู ไปกับมูลนิธิที่กาญจนบุรี โอ้โห!!บู๊หนักกว่าโรงพยาบาลอีก (หัวเราะ) เราก็ไปเป็นผู้ช่วย ไปจับงู ไปทำแผลนักเรียนรถล้ม แต่มันเป็นการตอบตัวเองได้ว่าสนุก เราเลือกถูกแล้ว” หนุ่มนักฉุกเฉินการแพทย์เล่า
“วันที่ผมจำได้แม่นยำ คือวันฝึกงานวันสุดท้ายของการเรียนปีสี่ ที่ห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลมหาราช นครศรีธรรมราช คือฝึกงานวันนี้แล้วจบเลย เป็นวันที่รับสี่เคสต่อกันในกะเดียวคือแปดชั่วโมง เคสสุดท้ายมาตอนใกล้จะลงเวรแล้ว คนไข้มีภาวะหนัก หัวใจหยุดเต้น แล้วเราสามารถกู้หัวใจที่หยุดเต้นของเขา จากไม่มีชีพจรแล้วให้กลับมามีชีพจรอีกครั้ง มันเป็นวันที่อิ่มเอมไปด้วยมวลความสุขต่าง ๆ ทั้งการได้ทำงาน การได้อยู่กับพี่ ๆ ที่เราสนิท ทุกอย่างในวันนั้นมัน fulfill เรา เป็น best day ของเรา“
ทุกเคสที่เข้ามาคือความประทับใจ บางเคสคนไข้เหนื่อยหอบ รู้สึกไม่สบายอะไรมา เราไปรับแล้วทำให้เขาหาย หรือเคสน้ำตาลตก ปลุกไม่ตื่น เราไปถึงบ้านเขา ให้ยาตัวเดียวหรือสองตัวแล้วเขาตื่นขึ้นมาเป็นปกติ เราภูมิใจเหมือนกันหมดไม่ว่าเคสนั้นจะยากหรือง่าย”
พี – พีรวิชญ์ พลอยนำพล
หลังจากไปเรียนที่สิงคโปร์ (โดยแลกมากับการได้สมาร์ตโฟนและโน้ตบุ๊ก) ทำให้คุณไตเติ้ลมีกลุ่มสังคมเป็นของตัวเอง และอยากเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่สิงคโปร์หรืออังกฤษตามเพื่อน ๆ แต่ด้านคุณพ่อที่ตอนแรกอยากให้ไปเรียนต่างประเทศ กลับอยากให้มาต่อมหาวิทยาลัยที่ประเทศไทยจะได้มีสังคมกับคนไทยบ้าง เป็นเหตุให้คุณไตเติ้ลได้เข้าเรียนสาขาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลักสูตรนานาชาติ โดยใช้คะแนน O-Level จากสิงคโปร์ยื่นสมัคร
“เพราะคะแนนได้แล้ว เลยไม่ต้องเรียน A-Level อีกสองปี ผม fast track เข้ามหาวิทยาลัยเลยเพราะไม่อยากเสียเวลา และการได้เรียนพื้นฐานตอนปี 1 ทำให้เรารู้ว่าเราชอบเคมีมากกว่าไฟฟ้า และเป็นวิชาที่ผมเรียนได้ดีที่สุดในสายวิทย์ตั้งแต่มัธยม และเกรดเราก็ถึง” คุณพีเล่าถึงการย้ายจากโรงเรียนมัธยมในสิงคโปร์มาเรียนที่ประเทศไทย พร้อมบอกถึงมุมมองต่อสายการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ “ก่อนเรียนผมก็คิดว่าเราต้องอยู่ในห้องแล็บ แต่ความจริงวิศวกรรมเคมีจะต่างจากนักวิทยาศาสตร์สายเคมี การทดลองการผสมสูตรเป็นสเกลเล็กมาก ๆ สูตรเคมีหนึ่งสูตร กับประโยคแค่สองประโยค เราสามารถคำนวณออกมาได้เป็นสองหน้ากระดาษเลย เป็นความท้าทายมากในการผ่านตรงนั้นมาได้”
“วิศวกรเคมีเป็นสายงานที่โรงงานอุตสาหกรรมต้องการ และสามารถไปต่อด้านธุรกิจได้ง่าย ตอนเรียนผมได้ฝึกงานในห้องแล็บของมหาวิทยาลัย ที่บริษัทต่าง ๆ เวลามีโปรเจ็กต์ก็จะขอให้แล็บนี้ช่วยคิดสูตรเคมีให้ เป็นแล็บที่ค่อนข้างมีชื่อเสียง ได้รางวัลมาเยอะ ผมเข้าแล็บตั้งแต่แปดโมงเช้าถึงหกโมงเย็น บางวันก็โอเวอร์ไทม์ไปถึงสามสี่ทุ่ม เวลาทำงานผมจะชอบอยู่ข้าง ๆ พี่หัวหน้าแล็บที่สนิทกัน คอยดูว่าเขาทำยังไง เขาก็ช่วยสอน ทำให้ผมได้เรียนรู้จากตรงนั้น เวลาที่เขามีอบรมการใช้เครื่องมือผมไม่ต้องอบรมแล้ว เพราะได้ลองใช้กับพี่ ๆ แล้ว”

จากรั้วมหาวิทยาลัยสู่วงการบันเทิง
ระหว่างที่เรียนมหาวิทยาลัย คุณพีอยู่ในสังกัดโมเดลลิ่งและมีผลงานในวงการบันเทิงอยู่บ้างแล้ว จากงานถ่ายแบบ ถ่ายโฆษณา กระทั่งระหว่างกำลังเรียนอยู่ชั้นปีที่ 3 เส้นทางสู่วงการก็ผ่านเข้ามาด้วยผลงานเรื่องแรก ‘YYY มันเว่อร์นะ’ และอื่น ๆ จนล่าสุด La Pluie The Series ที่รับบทนำคู่กับคุณไตเติ้ล-ธนธร เสนางคนิกร
“อาจารย์ก็เข้าใจ เขาคงมองว่าถ้าเรามีชื่อเสียงขึ้นก็จะได้ช่วยโปรโมตและเผยแพร่ความรู้ต่างๆ ให้กับประชาชนได้ อย่างเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น เรื่องซีพีอาร์ ตอนนี้มีคลิปที่ผมสอนซีพีอาร์เต็มยูทูบเลย รู้สึกว่าตัวเองมีประโยชน์” เขาเล่าพลางยิ้มเมื่อนึกถึงช่วงเวลาและประสบการณ์ที่ได้รับก่อนเรียนจบ
ความโชคดีของคุณพี คือการได้ทำงานที่รักและสนใจควบคู่ไปด้วยกัน ตั้งแต่วันที่ยังเรียนมหาวิทยาลัย จนปัจจุบันที่เขาเรียนจบแล้ว เขาก็ยังคงเลือกที่จะทำทั้งสองอย่างโดยไม่คิดวางมือจากด้านใดด้านหนึ่ง ที่สำคัญคืองานของเขาไม่เพียงเติมเต็มความสุขให้ตัวเอง แต่ยังมอบความสุขให้คนอื่นด้วย ทั้งผู้ชมที่ติดตามงานแสดง และคนไข้ที่เขาได้ช่วยเหลือในภาวะฉุกเฉิน คุณพีเล่าถึงภารกิจของนักฉุกเฉินการแพทย์เพิ่มเติมว่า “การทำงานของเราจะแบ่งออกเป็นสามกะ กะละแปดชั่วโมง คือเวรเช้า บ่าย ดึก หน้าที่ของเราจะมีทั้งที่ออกไปกับรถ และอยู่ที่ศูนย์สั่งการ ซึ่งเวลามีเหตุฉุกเฉิน คนโทรเข้า 1669 จะไปติดที่ศูนย์ใหญ่คือกรุงเทพฯ ศูนย์ใหญ่จะดูว่าเกิดเหตุใกล้กับโรงพยาบาลไหน ก็จะจ่ายงานตามโรงพยาบาลนั้น”
“เราต้องมีความพร้อมตลอดเวลา ไปช้าหนึ่งนาทีสองนาทีอาจจะปั๊มหัวใจไม่ขึ้นแล้วก็ได้ กลับกันถ้าเราไปเร็วคนไข้ก็รอด หรือทำยังไงถ้าหากคนไข้ไม่กลับมา เราก็ต้องคุยกับญาติ เพราะอาจจะมีเรื่องโรคประจำตัวต่างๆ หรืออาการที่หนักเกินไป สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผมคือความกดดัน เพราะมันคือความเป็นความตาย ทุกวันนี้ผมก็ยังตื่นเต้นอยู่ เพราะประสบการณ์เรายังไม่ได้เยอะ แต่เราก็ต้องพยายามรวบรวมสติให้ได้มากที่สุด”
ส่วนการทำงานบันเทิงควบคู่ไปด้วย ทำให้คุณพีต้องจัดสรรเวลาให้ลงตัว เพื่อที่จะได้ทำงานที่รักไปพร้อมกันได้ “ทุกวันนี้ที่ผมขึ้นเวรจะเป็นพาร์ตไทม์ ผมเลือกขึ้นสองหรือสามเวรแล้วแต่สัปดาห์ ถ้ามีงานในวงการติดต่อมาก็จะหาคิวที่ไม่ชนกับวันที่ต้องขึ้นเวร ถ้าคิวชนกันจริง ๆ เลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องแลกเวรหรือขายเวรกับเพื่อน”
“ในอนาคตอาจมีช่วงเวลาที่มีเหตุให้ต้องลดหน้าที่หนึ่งเพื่อไปโฟกัสอีกหน้าที่หนึ่งมากขึ้น แต่ผมคิดว่ายังไงก็จะทำสองวิชาชีพนี้ควบคู่กันไป อยากให้ตัวเองมีความสุขโดยที่ยังสามารถทำทั้งสองงานนี้ไปด้วยกันได้ เหมือนกับที่ทำอยู่ตอนนี้”

ช่วงที่ยังเป็นนักศึกษาปี 1 กิจกรรมที่สืบเนื่องกันมาเป็นประเพณีคือนักศึกษาวิศวะกับวารสารจะมีงานสังสรรค์กัน เดือนวิศวะจะได้พบปะกับดาววารสาร ในปีนั้นเองที่หน้าตาและบุคลิกของคุณไตเติ้ลเข้าตาแมวมอง และชักชวนเขาเข้าสู่วงการบันเทิง “คิดในใจว่าเขาจะมาหลอกอะไรเราหรือเปล่า (หัวเราะ) เพราะสมัยนั้นมีข่าวเรื่องคนโดนหลอกเข้าวงการเยอะ สุดท้ายก็ลองทำดู แต่ยังไม่ได้คิดจริงจังในตอนนั้น”
สองปีแรกไม่ผ่านเลย รู้สึกท้อว่าคงไม่มีพื้นที่สำหรับเราในวงการแล้ว แต่ผมก็ไม่ได้โฟกัสมาก ตัวเองจะโฟกัสกับสิ่งที่เป็นไปได้มากกว่า นั่นก็คือเรื่องเรียน แต่พอเข้าปีสาม ผมก็ได้งานเรื่องแรกคือ TharnType The Series ซีซั่นสอง เรื่องนี้กระแสค่อนข้างดี ทำให้เรามีกำลังใจในการทำงานวงการนี้ขึ้นมา”
ไตเติ้ล – ธนธร เสนางคนิกร
“พอทำงานด้วย การเรียนของผมก็ไม่ชิลล์ละ (หัวเราะ) เพราะต้องจัดการเรื่องเวลา แล้วปีสามผมเป็นเชียร์ลีดเดอร์ด้วย เลิกเรียนที่รังสิตสี่โมงครึ่ง ต้องไปซ้อมลีดที่ท่าพระจันทร์ให้ทันห้าโมงครึ่ง เป็นช่วงที่เรียนหนักมาก แต่สนุกมาก อะไรเข้ามาเราก็เปิดรับหมด เหนื่อยก็ยอม แต่มันทำให้ผมขาดคะแนนเช็กชื่อไป เลยต้องทำพรีเซนต์เพิ่มเพื่อแลกกับคะแนนส่วนที่เหลือ ก็เป็นทางออกที่แฟร์กับคนอื่นที่อาจารย์แนะวิธีให้”
นอกจากเรียนในคลาส ซ้อมลีดของมหาวิทยาลัย คุณไตเติ้ลยังต้องเรียนการแสดงควบคู่ไปด้วย โดยมีครูร่ม-ร่มฉัตร ธนาลาภพิพัฒน์ ทำเวิร์คช็อปเรื่อง TharnType ให้ และ ‘ครูลูกแก้ว-วริศรา บำรุงเวช’ สอนพื้นฐานการแสดง ส่วน ‘คุณชายอดัม’ (ม.ล.เฉลิมชาตรี ยุคล) มาเจาะลึกเรื่องการแสดง รวมทั้งวิเคราะห์และตีความภาพยนตร์ด้วยกัน
คุณไตเติ้ลเพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัยเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แน่นอนว่าการเรียนต่อปริญญาโทยังอยู่ในแผนที่วางไว้ แต่ระหว่างนี้ขอเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากงานในวงการก่อน “ตอนนี้งานหลักคือนักแสดง เรื่องเรียนโทยังไม่รู้เมื่อไร คิดว่าจะเรียนด้าน MBA และอยากไปเรียนต่างประเทศ จากไลฟ์สไตล์ที่ดูมาคิดว่าอังกฤษน่าจะเหมาะกับเรา แต่ยังไม่รีบ อายุสามสิบก็ยังเรียนได้ เพราะอยากโฟกัสกับงานแสดงก่อน ขอทำสิ่งที่ชอบไปจนรู้สึกพอหรืออิ่มตัว แล้วค่อยไปเริ่มกับเส้นทางใหม่” คุณไตเติ้ลกล่าวปิดท้าย.