Home > Education > ต้องฟัง! เลี้ยงลูกให้มีสุขภาพดีแบบเด็กญี่ปุ่นได้…ง่ายนิดเดียว

ในการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ The Lancet พบว่า เด็กญี่ปุ่นมีโอกาสที่จะมีชีวิตยืนยาว และสุขภาพดีที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับเด็กจากประเทศอื่น ซึ่งต้องยกเครดิตให้การปลูกฝังนิสัยการกินกับไลฟ์สไตล์ที่ดีจากพ่อแม่ ซึ่งคุณเองก็หยิบยกมาใช้กับลูกรักของคุณได้

.

เปลี่ยนสนามรบบนโต๊ะอาหารให้เป็นพื้นที่แห่งความสุข

การกินข้าวแบบญี่ปุ่นนั้นให้ทั้งความอิ่มท้องและเปี่ยมด้วยคุณประโยชน์ ซึ่งเมื่อเติมอาหารดีๆ เข้าร่าง เด็กๆ ก็จะอยากกินอาหารขยะน้อยลง จึงลดความเสี่ยงของการเป็นโรคอ้วนตลอดจนโรคอื่นๆ ได้

แทนที่จะต้องทะเลาะกันทุกมื้ออาหาร ลองเปลี่ยนมาสร้างบรรยากาศการกินที่สนุกดีกว่า เริ่มจากการคำนึงถึงหน้าตาของอาหารและคุณค่าที่จะได้รับให้มากขึ้น ไม่ถึงกับต้องไปเรียนการทำเบนโตะแบบมือโปร หรือเสิร์ฟแต่สาหร่ายทะเล ซูชิ หรือโทฟุให้ลูก เพียงแต่คำถึงถึงสีสันและการจัดจานให้สวยงามขึ้นอีกหน่อย พร้อมเสิร์ฟอาหารที่ทำจากพืชผักให้มากขึ้น รวมถึงธัญพืชเต็มเมล็ด และไขมันดีอย่างปลาที่มีโอเมก้า-3 ในขณะที่ลดการกินอาหารแปรรูปตลอดจนรสหวานและเค็มให้น้อยลง

ยืดหยุ่นเรื่องการกินบ้าง

ทั้งที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนมและของหวานอร่อยๆเต็มไปหมด แต่เด็กๆที่นั่นกลับไม่มีปัญหาเรื่องอยากกินขนมมากกว่ากินข้าว นั่นก็เพราะพ่อแม่ยอมให้เด็กๆได้เพลิดเพลินกับของอร่อยและขนมเป็นบางโอกาสในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ได้เข้มงวดจนเกินไป เด็กๆจึงไม่รู้สึกเกร็งและฝืนใจเมื่อถึงเวลามื้ออาหาร

ชักชวนให้เด็กๆ ลองอาหารจานใหม่

ชักชวนให้เด็กๆ ลองอาหารจานใหม่

ความชอบหรือไม่ชอบอาหารของเด็กๆ นั้นเปลี่ยนไปตามกาลเวลา ซึ่งพ่อแม่สามารถปลูกฝังนิสัยการกินที่ดีให้เด็กๆ ได้ด้วยการให้พวกเขาได้เห็นตัวเลือกที่หลากหลาย ยิ่งถ้าเด็กได้เห็นหรือชิมอาหารใหม่ๆ ที่หลากหลายและดีต่อสุขภาพมากเท่าไหร่ เขาก็จะได้กินอาหารที่มีประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น

แต่ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเด็กๆ จะส่ายหัวดิกเมื่อคุณชวนเขากินอาหารเมนูใหม่ๆ เป็นครั้งแรก เพราะเด็กๆ ต้องได้เห็นหรือชิมอาหารใหม่ๆ อย่างน้อย 12 ครั้งเขาถึงบอกได้ว่าชอบมันไหม คุณจึงไม่ควรยอมแพ้เมื่อลูกปฏิเสธไม่ยอมกินตั้งแต่ครั้งแรก แต่ควรชวนเขาอยู่เรื่อยๆ ต่อให้เป็นคำ “เล็กๆ” ก็ตามทีโดยไม่กดดัน

ปรับสมดุลอาหารในจานแบบคนญี่ปุ่น

ปรับสมดุลอาหารในจานแบบคนญี่ปุ่น

การกินอาหารนอกบ้านอาจทำให้เรากินอาหาร “มากเกินไป” ได้ เพราะปริมาณอาหารที่เสิร์ฟมานั้นเกินความต้องการของร่างกายไปมาก ดังนั้นเมื่อทำอาหารกินเองที่บ้าน ลองหันมาปรับปริมาณการกินให้เป็น “ปกติ” กันดีกว่าด้วยวิธีง่ายๆ คือเสิร์ฟอาหารในจานที่เล็กลงแบบที่คนญี่ปุ่นกินกัน นั่นคือใช้จานขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4-6 นิ้วกับชามเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 นิ้วซึ่งมีความจุประมาณ 100-200 มิลลิลิตรแทน

ปล่อยให้เด็กๆ ได้วิ่งและกระโดดโลดเต้น

ปล่อยให้เด็กๆ ได้วิ่งและกระโดดโลดเต้น

จริงอยู่ที่การบอกให้เด็กๆ ยอมวางแท็บเบล็ตนั้นเป็นเรื่องยาก แต่เด็กๆ จำเป็นต้องได้ทำกิจกรรมที่ออกแรงพอประมาณอย่างน้อย 60 นาทีต่อวัน กุญแจสำคัญคือการทำให้มันเป็นเรื่องสนุก! เช่น การชวนลูกเดินเล่นในหมู่บ้านแล้วแข่งกันว่าระหว่างที่เดินใครจะเจอดอกไม้สีขาวมากกว่ากัน หรือการปล่อยให้ลูกเล่นแบบฟรีเพลย์ในสนามเด็กเล่น ซึ่งเด็กญี่ปุ่นนั้นเดินหรือขี่จักรยานไปโรงเรียนในอัตราที่สูงมาก จึงทำให้พวกเขาได้ออกแรงและมีความเสี่ยงต่ำต่อการเป็นโรคอ้วน

เด็กๆ ถูกออกแบบมาให้วิ่ง กระโดด เคลื่อนไหว และเมื่อพวกเขาได้ทำทุกสิ่งที่ว่ามาแล้ว พวกเขาจะเรียนได้ดี มีความสุขและมีสมาธิมากขึ้น ซึ่งนิสัยนี้จะส่งผลให้พวกเขามีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดีต่อไป

พยายามใช้ชีวิตแบบพร้อมหน้าพร้อมตากัน

ปลูกฝังการกินอยู่ที่ดีต่อสุขภาพให้ลูกตั้งแต่เล็กๆ  ด้วยการทำอาหารมื้ออร่อยและดีต่อสุขภาพให้เด็กๆ เห็นเป็นตัวอย่างแทนที่จะกินอาหารนอกบ้านหรือสั่งอาหารมากินเป็นประจำ จากนั้นก็กินอาหารร่วมกันทั้งครอบครัวเพราะการชักชวนที่เป็นบวกของพ่อแม่ระหว่างการกินข้าวพร้อมหน้าพร้อมตากันนั้นช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคอ้วนในเด็กได้ และถ้าจะให้ดียิ่งขึ้น ควรชวนเด็กๆ ให้ช่วยทำอาหารด้วยเพราะเขาจะสนุกและอยากชิมฝีมือของตัวเอง

พยายามใช้ชีวิตแบบพร้อมหน้าพร้อมตากัน

ออกกฎเกณฑ์บ้างเมื่อเป็นเรื่องปากท้องของลูกๆ

พ่อแม่บางคนอึดอัดใจที่จะต้องใช้อำนาจกับลูก แต่เมื่อเป็นเรื่องการกินและการปลูกฝังนิสัยแล้ว พ่อแม่ญี่ปุ่นไม่ลังเลที่จะใช้อำนาจเหนือลูกๆ (แต่ไม่ใช่ในแบบเผด็จการ) โดยวางกฏเกณฑ์หรือแนวทางที่ลูกควรทำตามโดยไม่ตอกย้ำคำว่า “เพราะแม่/พ่อบอกให้ทำ” ซึ่งนั่นจะทำให้เด็กๆ ไม่เชื่อใจพ่อแม่ได้ ในทางกลับกัน พวกเขาเลือกที่จะอธิบายว่าทำไมเด็กๆ ถึงควรทำเช่นนั้น เพื่อเป็นการสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้พวกเขาโตขึ้นมาพร้อมกับการเปิดรับรสชาติ ความชอบ และปลูกฝังนิสัยที่จะทำให้พวกเขามีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดีมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหนในโลกใบนี้ก็ตาม

……………………………………………………………………………….

www.gettyimage.com , www.pixabay.com

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.