คุณลิซ่า-จิตรดี พูลวรลักษณ์ คุณแม่นักธุรกิจคนเก่งแห่ง Major Development ของลูกสาวที่น่ารักทั้งสองคน เธอรู้ดีกว่าใครว่าเวลาเป็นของมีค่า และเวลาว่างหลังเเลิกเรียนของลูกจึงเป็นช่วงเวลาที่ไม่น่าสูญไปโดยเปล่าประโยชน์ เธอจึงส่งเสริมทักษะการเรียนรู้เพื่อให้ลูกๆ ได้รับประสบการณ์หลากหลายแง่มุม
เธอชอบให้ลูกๆ เรียนนอกหลักสูตรมากเท่าที่จะทำได้โดยไม่มีการบังคับแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับช่วงวัยของเด็กแต่ละคน รวมถึงจังหวะเวลาเป็นสิ่งสำคัญด้วย ถึงแม้เรียนแล้วจะพบว่าไม่ใช่สิ่งที่คิด หรือไม่ชอบ เธอก็ยังเชื่อว่าอย่างน้อยพวกเขาจะสามารถนำสิ่งที่เรียนรู้ไปต่อยอดได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยปราศจากการยัดเยียด
สำหรับลูกสาวคนโต น้องแคนดี้-สุภานัน พูลวรลักษณ์ วัย 16 ปี ที่แสนเรียบร้อยอ่อนหวาน ปัจจุบันเรียน Year 11 และคนน้อง น้องแคลร์-สุภัชชา พูลวรลักษณ์ วัย 14 ปี ขณะนี้เรียน Year 9 ที่ Bangkok Patana School เช่นเดียวกับผู้เป็นพี่ ทว่าน้องแคลร์นั้นนิสัยจะออกแนวลุยๆ ซ่าๆ อารมณ์ดี

ย้อนไปสมัยที่ลูกสาวทั้งสองยังเล็ก คุณลิซ่าจะให้เรียนเสริมด้านต่างๆ โดยเลือกให้เหมาะกับวัย ถึงเรียนแล้วไม่ชอบ แต่อย่างน้อยก็สามารถนำไปต่อยอดในชีวิตจริงได้
“เราจะให้ลูกเรียนหมดเพื่อเขาจะได้รู้ว่าชอบอะไร แล้วเราจะได้รู้ว่าลูกถนัดทางไหน ช่วงหนึ่งเขาไปเรียนทำอาหารนานเป็นปี เพราะมีเพื่อนไปเรียนด้วย แต่พอโตขึ้น ช่วงปิดเทอมมีไปเรียนที่ ABC Cooking Studio เขาไม่ได้ชอบมาก แต่ถือว่าอย่างน้อยก็เป็นพื้นฐานให้กับเขาได้ เช่น รู้จักวัตถุดิบต่างๆ การชั่งตวงวัด ดูตัวเลข เขาเอามาใช้ได้ในชีวิตประจำวัน
“หรือการเล่นดนตรี ก็เป็นการฝึกออกเสียงให้ถูกคีย์ ยืนให้สมาร์ท ร้องเพลงไม่หลง อ่านโน้ตได้ ต่อยอดได้หมด มีช่วงหนึ่งทั้งสองคนไปเรียนกับครูปาน (สมนึก คลังนอก) ทุกอย่างที่เรียนเป็นพื้นฐานในการไปต่อยอดได้หมด การใช้สี การจับคู่สี สามารถเอาไปใช้ในการแต่งตัวได้ เราจะมองออกว่าอย่างไหนคือสวย”
คุณลิซ่าพบว่ามีหลายวิชาที่ตอนเล็กๆ ลูกไม่ชอบเรียน แต่เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ลูกสาวคนโตกลับเป็นฝ่ายเอ่ยปากขอเรียนด้วยตัวเอง
“ที่ผ่านมาบางอย่างเราจัดให้เพราะอยากให้เขาลอง แต่บางอย่างเขาก็ไม่อยากทำ เช่น เคยให้เรียนเต้นสตรีทแจ๊สตอนอายุ 10 ปี เขายังไม่ชอบ ยังเขินๆ ไปไม่กี่ครั้ง พอไม่สนุกก็ไม่ไป แต่เมื่อสองสามปีที่แล้ว เขาเริ่มสนุก ชอบฟัง K-Pop หัดเต้น ก็มาขอเรียนเอง คราวนี้ไปกับเพื่อนทุกสัปดาห์ นัดครูเอง จัดการเองทุกอย่าง เลยคิดว่าอยู่ที่จังหวะเวลาด้วย ตอนนั้นเขาอาจยังไม่อินกับสิ่งนั้น แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าเขาชอบเรียนเต้นมาก
“การเต้นทำให้เขาได้ขึ้นเวทีโรงเรียน และที่ไปเรียนเต้น ใครที่ทำได้ดี โรงเรียนจะคัดเลือกเพื่อไปถ่ายมิวสิกวิดีโอ ที่ผ่านมาน้องแคนดี้ไม่ออกกำลังกายเลย พอเรียนเต้นอย่างน้อยก็ได้ออกกำลังกายบ้าง ได้ไปรู้จักเพื่อนจากโรงเรียนอื่น แทนที่จะอยู่บ้านหรือนั่งหน้าคอมฯ ทั้งวัน เลยคิดว่าเป็นการใช้เวลาที่มีประโยชน์ค่ะ”

ปีที่แล้ว น้องแคนดี้ตัดสินใจไปเรียนคอร์สสั้นๆ ช่วงปิดเทอมฤดูร้อน “เขาจะมีคอร์สสำหรับ Summer Preview ในสาขา Business ที่บอสตัน คือเราจะพาลูกไปดูมหาวิทยาลัยที่โน่นอยู่แล้ว แล้วนี่เป็นคอร์สเดียวที่ไปเช้า-เย็นกลับ เพราะลูกไม่ยอมนอนหอพักที่มหาวิทยาลัย เราก็ไม่บังคับ ให้เขาลองดูก่อน ถ้าเขาอยู่ได้ เราถึงค่อยขยับไปอีกขั้น อีกอย่างเราไปด้วย ก็ได้อยู่ด้วยกันทุกเย็น”
การสมัครเรียนคอร์สพิเศษของที่นี่ไม่ยุ่งยากอะไร และยังมีวิชาที่น่าสนใจให้เลือกมากมาย “ก็สมัครออนไลน์ แจ้งกับทางโรงเรียนไปเลย เขาจะให้ส่งเอกสารไป มีคอร์สเยอะค่ะ ถ้าคนไหนอยากเป็นหมอก็เรียนทาง Biology แต่ลูกลิซ่าเรียนบิสิเนส มีโปรเฟสเซอร์มาสอน ก็เหมือนคุณได้ใช้ชีวิตเด็กมหาวิทยาลัยเลย ได้เดินเรียนตามตึก มีสอนวิธีเขียนใบสมัครเพื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ต้องเตรียมเขียนโปรไฟล์ยังไง ปีหน้าค่อยขยับเป็นคอร์สที่ยาวขึ้น เลยบอกลูกว่าต่อไปให้สมัครเองนะ”
คุณลิซ่ายังบอกเราอีกว่า เธออยากให้ลูกๆ ได้ช่วยเหลือตัวเองมากขึ้นด้วย เพราะเมื่อก่อนเธอรู้สึกว่าทำทุกอย่างแทนลุูกๆ มากเกินไป นอกจากนี้ทั้งน้องแคนดี้และน้องแคลร์ยังไม่คล่องภาษาไทย แต่เธอก็ตั้งใจให้ลูกๆ หัดทำทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะคิดว่าลูกต้องอยู่ได้เมื่อไม่มีเธอ เธอยังถือคติว่าพ่อแม่สอนวิชาการไม่ได้ทุกเรื่อง แต่เธอต้องสอนเรื่องหลักการใช้ชีวิตให้แก่ลูกๆ
ก็อย่างที่คุณลิซ่าบอกกับเราว่า “มันเป็นเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่จะทำให้เขาโตขึ้น รู้จักการใช้ชีวิตที่ถูกที่ควร เราจะได้ไม่ห่วงเมื่อลูกต้องอยู่ไกลบ้าน”
บางครั้งสิ่งที่คุณลิซ่าสอนลูก คือการถอดบทเรียนจากความผิดพลาดของตัวเองด้วย “บอกลูกว่าแม่เคยพลาดแบบนั้นแบบนี้นะ เราจะบอกเขาตลอดเวลา เพราะไม่อยากให้ลูกพลาดเอง หรือบางเรื่องก็ไม่อยากให้คนอื่นสอน เราเป็นพ่อแม่ เราควรเป็นคนบอกลูกเองจะดีกว่า”
คุณลิซ่ามองว่า การสนับสนุนให้ลูกได้เรียนนอกหลักสูตร คือการเพิ่มต้นทุนสำหรับอนาคต ไม่ว่าจะเรื่องเรียน หรือเรื่องการใช้ชีวิตในสังคม ส่วนเรื่องการฝึกงาน เธอเคยส่งน้องแคนดี้ไปฝึกงานด้านการตลาดที่บริษัทลูกอมฮาร์ทบีทของคุณตา แต่เนื่องจากตอนน้ั้นน้องแคนดี้ยังเด็ก จึงรู้สึกเบื่อ แต่ตอนนี้น้องแคนดี้มาขอคุณแม่ฝึกงาน เรื่องจังหวะเวลาจึงเป็นเรื่องสำคัญ
สิ่งที่ให้แล้วไม่สูญเปล่า ก็คือการให้การศึกษาที่ดี เพื่อที่เขาจะได้นำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอดในอนาคตได้ เท่านี้คนเป็นแม่อย่างคุณลิซ๋าก็รู้สึกพอใจแล้ว