ในบรรดาผู้เข้าแข่งขัน Falling Walls Lab Thailand 2021 ที่ผ่านมา หนึ่งในผลงานที่เข้าตาคณะกรรมการก็คือ ผลงานของนักศึกษา อาจารย์ และนักวิจัย จากภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในชื่อผลงาน ‘ทางเลือกใหม่สำหรับกระดูกเทียมเพื่อใช้ในร่างกายมนุษย์’ ซึ่งคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 ของประเทศ
HELLO! ได้พูดคุยถึงผลงานดังกล่าวกับน้องมาร์ค-ธีระพงษ์ พลตื้อ นักศึกษาปี 4 และอาจารย์โจ-ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมป์ ซึ่งผนึกกำลังกันทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ
อยากทราบถึงแรงบันดาลที่ทำให้เด็กวิศวะหันมาทำวิจัยเรื่องกระดูกเทียม
ธีระพงษ์ : เป็นเพราะผมเจออาจารย์โจ ซึ่งพยายามใช้ความรู้ทางวิศวกรรมเครื่องกลที่มีอยู่มาทำกระดูกเทียม ที่หลายคนคงไม่คิดว่าเด็กวิศวกรรมเครื่องกลจะทำได้ คนชอบพูดว่าวิศวกรรมเครื่องกลเรียนทุกอย่างที่เคลื่อนไหว

ในร่างกายเราก็มีการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวของของเหลว ความเคลื่อนไหวของกระดูกข้อต่อ ซึ่งเป็นการแก้ความเข้าใจว่าวิศวกรรมเครื่องกลทำได้มากกว่าการเป็นวิศวกรโรงงานทำงานกับเครื่องจักร ผมจึงตัดสินใจทำงานกับอาจารย์โจ
ดร.พชรพิชญ์ : ความเชี่ยวชาญของผมคือการพิมพ์สามมิติ ก็มาคิดว่าเราจะนำความรู้ด้านเครื่องกลหรือการพิมพ์สามมิติมาทำประโยชน์อะไรได้บ้าง พบว่าเราสามารถทำกระดูกเทียมได้ ซึ่งประเทศเราต้องการ พอได้ทุนวิจัยมาก็ได้มาร์คนี่แหละที่มาช่วยทำให้เป็นผลงานที่จับต้องได้มากขึ้น
ความยากง่ายของงานชิ้นนี้
ดร.พชรพิชญ์ : ความยากของงานคือ เราเป็นวิศวกรผู้ผลิตก็จริง แต่คนที่จะนำสิ่งนี้ไปใช้ก็คือ หมอกับคนไข้ ซึ่งเราร่วมงานกับอาจารย์หมอที่คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผมก็นำฟีดแบคจากมุมมองของคุณหมอมาแปลเป็นภาษาที่นักศึกษาของเราเข้าใจได้
ความยากอีกอย่างของงานนี้ก็คือการหาอาจารย์หมอซึ่งส่วนใหญ่มีงานยุ่งมาก ซึ่งโชคดีที่ผมเจออาจารย์หมอที่คณะทันตแพทยศาสตร์ซึ่งสนใจงานวิจัยและพร้อมทุ่มเวลาให้พอดี
เพราะอะไรถึงเข้าแข่งขัน Falling Walls Lab

ธีระพงษ์ : อาจารย์ส่งให้ผมดูเล่นๆว่าเป็นการ pitch งานภายในเวลา 3 นาที ซึ่งผมชอบอยู่แล้ว ก็เห็นตรงกันว่าถ้าเราทำงานแต่ในห้องวิจัยคงไม่มีใครเข้าใจเรา ต้องมีการสื่อสารงานเราให้สาธารณชนเข้าใจ เพราะคนทั่วไปมักมองว่างานวิจัยขึ้นหิ้ง ใช้เงินมหาศาลแต่ไม่เห็นผลลัพธ์ออกมาเสียที ในที่สุดก็ส่งผลเสียกับนักวิจัยเอง (อาจารย์โจพยักหน้ารับ) ก็เลยคิดว่าเราน่าจะลงแข่ง
ในรอบคัดเลือกจาก Proposal ผมไม่ทราบเหมือนกันว่ามีคนสมัครมากเท่าไร เพราะเขาไม่ได้เผยตัวเลข แต่รอบชิงชนะเลิศมี 13 คน จากทั่วทุกวงการ เป็นการพรีเซนท์ออนไลน์ เขามีกฏง่ายๆครับว่า เวลา 3 นาทีกับ 3 สไลด์ ทั้งหมดเป็นภาษาอังกฤษ เราจะทำยังไงก็ได้ให้เขาเข้าใจงานเรา ถามว่าตื่นเต้นไหมยอมรับว่านิดหน่อย (หัวเราะเขิน)
เตรียมตัวอย่างไร
ธีระพงษ์ : ผมต้องร่างเนื้อหาก่อนว่าต้องมีวิชาการมากน้อยแค่ไหน แล้วส่งให้อาจารย์อ่าน อาจารย์แนะนำว่าลองใส่ตัวเลขสถิติว่าแต่ละปีต้องสูญเงินไปกับการผ่าตัดเท่าไร เพื่อให้คนแวดวงอื่นรู้สึกทึ่งว่างานเราสามารถลดการเสียเงินได้มหาศาลขนาดไหน แล้วเราก็ได้ผศ.ธนิศร์ ตั้งกิจเจริญกุล ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพและความเป็นสากลของนักศึกษา และเป็นอาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ช่วยฟังว่าภาษาผมเป็นยังไงบ้าง การออกเสียงถูกต้องไหม ภาษาท่าทางใช้ได้หรือยัง ใช้เวลาเตรียมตัวน่าจะเดือนหนึ่งได้

ผมเป็นคนสุดท้ายที่พรีเซนท์ หลังจากพรีเซนท์เสร็จ กรรมการบอกเดี๋ยวเราขอประชุมกันนะ สิบนาทีผ่านไปกรรมการก็กลับมาพร้อมกับผล เราได้รองชนะเลิศอันดับ 2 ก็เป็นความภาคภูมิใจของทีม ผมวาเราไม่จำเป็นต้องชนะหรอก โอเคถ้าชนะก็หมายถึงคุณเหมาะสมที่จะไปแข่งต่อ แต่อย่างน้อยเราก็สามารถบอกให้สังคมรู้ว่า วิศวะเครื่องกลคืออะไร ผมว่าแค่นั้นก็เป็นความสำเร็จแล้ว
ดร.พชรพิชญ์ : เมื่อก่อนผมก็เป็นเหมือนมาร์ค เราไม่ได้แอนตี้งานโรงงาน แต่เราไม่ชอบทำอะไรซ้ำๆเหมือนเดิมทุกวัน จนกระทั่งได้ทำงานกับอาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งตอนนี้ท่านเป็นศาสตราจารย์แล้ว ท่านเป็นแรงบันดาลใจให้ผมเรียนต่อและกลับมาเป็นอาจารย์เหมือนท่าน ซึ่งผมไม่เคยเสียใจเลยที่ตัดสินใจแบบนั้น ก็ดีใจที่ได้ pay it forward ให้กับรุ่นน้องมจธ. เพราะผมเองก็จบบางมด (ชื่อเล่นของมจธ.) ก็หวังว่าเขาจะ pay it forward ให้กับคนอื่นๆต่อไป
สำหรับอนาคตของงานวิจัยชิ้นนี้จะเป็นไปในทิศทางใด

ดร.พชรพิชญ์ : เรารู้ว่ามันมีศักยภาพ แต่ตอนนี้เราต้องยอมรับว่าคอขวดของงานวิจัยเรื่องเครื่องมือแพทย์ อยู่ที่การทำให้ผ่านมาตรฐาน การทดสอบแต่ละครั้งใช้เงินประมาณ 10 ล้านบาท เป็นหน้าที่ผมที่จะต้อง secure เงิน เพื่อให้มั่นใจว่าสิ่งที่เราทำจะไม่เป็นอันตรายต่อคน ซึ่งถ้ามีโอกาสใหม่เข้ามาเราก็พร้อมรับหมด
ภูมิใจมากกับการเสนอผลงานนี้มากน้อยแค่ไหน
ธีระพงษ์ : แน่นอนว่าภูมิใจมากๆ อยู่แล้วครับ (ยิ้มกว้าง) ผมคิดว่าจบแล้วจะเรียนโทต่อครับ อาจารย์ก็สนับสนุนให้เรียนต่างประเทศ ซึ่งผมเล็ง ETH Zurich ที่สวิสกับที่ฝรั่งเศสไว้ เพราะอยากหาภาษาที่ 3 ให้กับตัวเอง และคงจะเรียนวิศวะเครื่องกลต่อ เพราะอยากกลับมาเป็นอาจารย์ เป็นนักวิจัย ซึ่งสนุกเหมือนกัน
ดร.พชรพิชญ์ : ผมไม่ได้ภูมิใจในตัวเองมาก เพราะรู้ว่าสิ่งนี้มาแล้วก็ไป แต่ในฐานะที่ผมเป็นอาจารย์ ก็อยากให้คนที่เรียนวิศวะสามารถนำไปต่อยอดได้มากขึ้น และผมอยากทำให้คนรุ่นต่อๆไปเห็นว่าการเรียนวิศวะมีทางเลือกเยอะมาก ก็ไม่รู้ว่าจะมีใครเชื่อสักกี่คน แต่แค่บางคนเชื่อ ผมก็ว่าคุ้มค่าแล้วครับ

รู้จัก Falling Walls Lab
การแข่งขัน Falling Walls Lab ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำทุกปีที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน โดยเป็นการแข่งขันที่เฟ้นหานักคิดริเริ่มจาก 80 ประเทศทั่วทุกมุมโลก และจะจัดการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศที่เบอร์ลิน ในวันที่ 9 พฤศจิกายนเป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นวันที่กำแพงเบอร์ลินถูกทำลาย
โดยเป็นการแข่งขันกันเสนอไอเดียใหม่ๆ เป็นภาษาอังกฤษภายในเวลา 3 นาที เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการทลายกำแพงและขีดจำกัดการพัฒนาความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ ธุรกิจและสังคม มานำเสนอผลงานของตัวเอง