เมื่อมองจากภายนอกแล้ว อาจพูดได้ว่ากีฬาขี่ม้าเป็นกีฬาที่สง่างามที่สุด ไม่ว่าจะด้วยเครื่องแต่งกายและท่วงทีเคลื่อนไหวทั้งของคนและม้า ทว่ากลับเป็นกีฬาที่ต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจ รวมถึงค่าใช้จ่ายอีกไม่ใช่น้อย แต่นั่นก็คือเส้นทางที่เลือกแล้วของคุณลรินดา นันทาภิวัฒน์หรือเกล้า นักขี่ม้าสาวไทยวัย 18 ปีที่อุทิศทุกลมหายใจเข้าออกให้กับม้าและกีฬาสุดโปรดของเธอ
ศิษย์เก่าโรงเรียนนานาชาติบางกอกพัฒนาที่ร่ำเรียนตั้งแต่ 2 ขวบจนจบชั้นไฮสกูลเร็วๆนี้คุณเกล้าบุตรสาวคนโตของคุณลดารินและคุณเรืองวิทย์ นันทาภิวัฒน์ มีกิจกรรมเสริมที่ต่างจากเด็กอื่นในวัยเดียวกันมาตั้งแต่อายุเพียง 3 ขวบเมื่อคุณแม่ของเธอแนะนำให้รู้จักกับกีฬาขี่ม้า
“คุณแม่ถามว่าอยากจะลองขี่ม้าโพนี่ไหม เป็น First Pony Rideหนูไม่กลัวเลยพอได้ลองขี่ก็ชอบเลยค่ะ รู้สึกสนุก อาจเป็นเพราะหนูเป็นคนชอบสัตว์อยู่แล้วด้วย เวลาอยู่บนหลังม้าแล้วมีความสุข ขณะที่บางคนอาจกลัว หรือขี่ไปนานๆ ก็เบื่อไปเลย แต่หนูเป็นคนที่ชอบอะไรแล้วไม่ค่อยเปลี่ยนใจ และต้องชอบสิ่งที่ทำก่อน ไม่อย่างนั้นจะไม่มุ่งมั่นพอที่จะทำให้ดีค่ะ”
เมื่อเริ่มฝึกขี่ม้าจริงจังตั้งแต่อายุ 7 ขวบ ตารางชีวิตของนักขี่ม้ารุ่นเยาว์ดำเนินไปอย่างมีวินัยเคร่งครัดยิ่งจวบจนถึงทุกวันนี้ คือฝึกซ้อมสัปดาห์ละ5-6 วันในช่วงโรงเรียนปิดเทอม และ 4-5 วัน ช่วงเปิดเทอม และเริ่มลงสนามแข่งประเภท Dressage หรือศิลปะการบังคับม้าในอีก 2 ปีต่อมากับเจ้าสตาร์ดัสต์ ม้าโพนี่ตัวแรกในชีวิต
“การแข่งขันประเภทนี้ต้องมีสมาธิสูงมากกับตัวเองและม้าของเรา เราต้องสนใจแต่ม้า คิดเสมอว่าจะให้ม้าเชื่อฟังเรายังไง ถ้าเขาไม่ฟังก็ต้องแก้ไขทันทีเป็นการฝึกคิดถึงวิธีแก้ปัญหาอย่างรวดเร็ว เราต้องขี่ไปตามจุดต่างๆแล้วบังคับม้าให้ทำท่าที่กำหนดไว้ซึ่งยิ่งระดับสูงขึ้นไป ท่าจะยิ่งยากขึ้นและเร็วขึ้น ต้องมีสมาธิในการบังคับม้า และสื่อสารความรู้สึกกับม้า เพราะม้าก็เหมือนคน บางวันเหนื่อย บางวันตื่น เราต้องคิดว่าจะบังคับม้าให้ฟังเรายังไง”
ตามล่าฝัน
คุณเกล้าเริ่มเข้าแข่งขันในระดับสโมสรที่นนทบุรี อีเควสเทรี่ยน ไรดิ้ง เซ็นเตอร์ ตอนอายุ 10 ขวบ โดยเริ่มจากระดับ Preliminary ซึ่งเป็นขั้นต้น แล้วก็ไต่ระดับขึ้นไปเรื่อยๆ โดยไปแข่งตามสโมสรขี่ม้าต่างๆ ในประเทศ ก่อนจะก้าวไปแข่งขันในสนามต่างประเทศ “เพิ่งเริ่มแข่งในระดับนานาชาติเมื่อปีที่แล้วค่ะ ไปแข่งที่เมืองนีซ ฝรั่งเศส เป็นการแข่งขัน C.D.I. (Concours de Dressage International) ที่มีนักกีฬาจากหลายประเทศ ทั้งรัสเซีย สเปน อิตาลีและประเทศโซนยุโรปมาเข้าร่วม ซึ่งประเทศในแถบเอเชียมีแค่ 1 คนจากไต้หวันและหนูที่มาจากประเทศไทย ซึ่งเป็นความภูมิใจที่สุดแล้ว เหมือนเราเป็นตัวแทนประเทศ เพราะที่สนามแข่งมีธงชาติไทยติดอยู่ด้วยค่ะ”
คุณเรืองวิทย์เล่าถึงลูกสาวอย่างภูมิใจไม่แพ้กันว่า “เกล้าได้แชมป์ประเทศไทยรุ่น Young Rider ซึ่งนักกีฬาต้องมีอายุไม่เกิน 21 ปีตอนอายุ 16 ปี เขาเริ่มตั้งใจว่าจะเอาจริงกับกีฬาชนิดนี้ตอนอายุ 14-15 ปี ความเอาจริงมีหลายขั้น เริ่มจากขั้นแรกที่เราเห็นว่าชอบขี่ม้าจริงจังก็ซื้อม้าโพนี่ตัวแรกให้ และอยู่กับเขามา 5 ปี พอสรีระเปลี่ยน เริ่มสูงขึ้น ม้าโพนี่ตัวเล็กเกินไป เราก็ถามเขาว่าอยากขี่แบบสนุกๆหรือเปล่า หรือยังอยากไปต่อในการแข่งขันที่สูงขึ้นซึ่งถ้าอยากไปต่อก็ต้องซีเรียสแล้ว ต้องหาม้าตัวใหญ่ที่เข้ากับเขาและเก่งพอที่จะไต่ระดับขึ้นไปด้วยได้ เพราะนี่คือกีฬาประเภทเดียวที่แข่งแบบคู่แต่พาร์ทเนอร์เป็นคนละสายพันธุ์ คือคนกับม้า ความสามารถต้องไปด้วยกันได้ ม้าที่ความสามารถไม่ถึงจะทำให้สู้คู่อื่นไม่ได้ แต่ไม่ใช่ว่าซื้อม้าแพงๆระดับโลกมาแล้วจะชนะเสมอไปถ้าคนขี่ความสามารถไม่ถึง”
ม้าใหญ่ที่สามารถลงแข่งระดับนานาชาตินั้นครอบครัวนันทาภิวัฒน์ต้องเสาะหาในต่างประเทศ โดยคุณลดารินเป็นผู้นั่งดูวิดีโอคลิปม้าเป็นร้อยตัว ติดต่อเพื่อนที่อังกฤษให้ไปดูให้ และไปลองขี่ให้ลูกสาว แต่ก็ไปได้ตัวจริงที่ประเทศเยอรมนี โดยได้รับการแนะนำจากเพื่อนของครอบครัวอีกท่านหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการได้ม้าดีก็คือการได้โค้ชผู้ฝึกสอนม้าและนักขี่ม้าที่เหมาะสมด้วย
“ตอนพาเกล้าไปฝึกซ้อมที่คอกนี้ครั้งแรกเมื่อปี 2012 คุณพ่อของโค้ชสัมภาษณ์ลูกว่าอยากไปถึงจุดไหน เกล้าก็ตอบไปว่าอยากติดทีมชาติสักครั้งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นซีเกมส์ เอเชี่ยนเกมส์และโอลิมปิก ถ้าเป็นไปได้ แล้วเขาก็บอกว่า ‘Let’s make it happen’และยังแนะนำด้วยว่าการจะไปเข้าแข่งขันระดับนั้น จะไปทั้งที ควรจะไปแล้วหยิบเหรียญให้ได้ เพราะค่าใช้จ่ายในการเตรียมตัวฝึกซ้อมและขนส่งม้าไปก็เท่ากันหลังจากนั้นเขาจัดโปรแกรมฝึกซ้อมให้ทันที ซึ่งต้องมาที่คอกเขาทุกซัมเมอร์ อย่างน้อยปีละ 7-8 อาทิตย์ ด้วยความที่เกล้าเองมีความชอบเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขาจึงยินดีที่จะไปฝึกที่เยอรมัน”
จุดหมายคือตัวแทนประเทศไทย
ณ เวลานี้คุณเกล้าอยู่ในขั้นตอนการสมัครเข้ามหาวิทยาลัยซึ่งการหาที่เรียนต้องพิจารณาจากตำแหน่งที่ตั้งของคอกม้าที่ฝึกซ้อมเป็นหลัก ก่อนจะเลือกมหาวิทยาลัยเป็นอันดับถัดไป
“คอกม้าอยู่นอกเมืองแฟรงค์เฟิร์ต ฉะนั้นมหาวิทยาลัยรัฐที่ใกล้ที่สุดก็มี GoetheUniversity Frankfurt และ FRA-UAS (Frankfurt University of Applied Sciences)แต่ที่จริงถ้าใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 1 ชั่วโมง ก็มีมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งค่ะ อยากไปเรียนแถว Heidelberg เพราะบรรยากาศดีและเมืองสวยมากมีมหาวิทยาลัยที่ค่อนข้างprivate และนักศึกษาไม่มากห้องเรียนเล็ก ทำให้รู้จักอาจารย์ดีขึ้น ไม่เหมือนมหาวิทยาลัยขนาดใหญ่ที่มีนักศึกษาห้องละ200 กว่าคน หนูอยากเรียนคณะ International Business จะได้กลับมาช่วยธุรกิจของคุณพ่อคุณแม่ในอนาคตด้วยค่ะ” นักขี่ม้าที่มีความฝันลึกๆว่าอยากเป็นนักธุรกิจกล่าว
เพราะเพิ่งประเดิมสนามแข่งนานาชาติ CDI ไปได้ปีเดียว จึงถือเป็นช่วงเก็บเกี่ยวประสบการณ์ นอกจากโค้ชมืออาชีพแล้ว ก็ยังมีเมนเทอร์ดูแลด้านจิตใจให้ลูกสาวด้วย
คุณลดารินอธิบายว่า “ทุกครั้งที่แข่งเสร็จ เขาจะรู้เลยว่าอยากทำให้ดีกว่านี้ อยากให้คะแนนออกมาดีกว่านี้ ซึ่งคนที่ไม่ใช่นักกีฬา Competitive จะไม่คิดแบบนี้นะคะเขาจะไม่หวังผลว่าต้องทำให้ดีแค่นั้น แต่ยังอยากทำให้ดียิ่งๆขึ้นอีก เขาแฮปปี้ที่มาถึงจุดนี้ได้ แต่วันที่แข่งแล้วออกมาผิดหวังก็มี ซึ่งท้ายที่สุดเขาก็ต้องเรียนรู้ว่าสิ่งที่เขาผิดหวังและสิ่งที่เขาพลาดไป เขาต้องกลับมาแก้ไข ย้อนกลับไปตอนที่เขาตกม้าครั้งแรก พ่อแม่ตกใจมาก แต่ตัวเขาเองนี่แหละที่ปีนกลับขึ้นหลังม้าด้วยตัวเองอีกครั้งเพราะเขาไม่ยอมแพ้ ตอนเด็กๆตกม้าก็ขึ้นใหม่ ตอนนี้เขาตกแล้วก็ต้องปีนกลับขึ้นไปใหม่ได้เหมือนกัน”
แต่การจะได้มาซึ่งชัยชนะ ไม่ใช่แค่การฝึกซ้อมอย่างหนักและความมีวินัยในตัวนักกีฬาเท่านั้นแต่ยังต้องมีความพร้อมของนักกีฬาและม้าเป็นสำคัญด้วยเช่นกัน “ไม่ใช่แค่เรื่องสมรรถนะทางกายแต่มีเรื่อง mentality ของเราด้วยค่ะ” นักขี่ม้าสาวกล่าว “ถ้าเราคิดว่ายังไม่พร้อม เราก็จะไม่พร้อมจริงๆ แต่ถ้าเราคิดว่าเราพร้อม เราก็จะมีสิทธิ์จะชนะได้ สิ่งที่จะช่วยได้คือฟังเพลง (ยิ้ม) ทำให้มีกำลังใจ และมีสมาธิค่ะ ไม่ได้คิดถึงอย่างอื่นเลย และไม่ได้ดูคู่แข่งคนอื่นตอนที่เขาเทรนด้วย เพราะเรามีหน้าที่ทำให้ดีที่สุดในแบบของเราเอง”
แม้จะตอบคำถามโค้ชเมื่อตอนถูกสัมภาษณ์เมื่อหลายปีก่อนว่าฝันไกลถึงโอลิมปิก แต่ในความเป็นจริงเธอบอกว่าฝันไปทีละก้าวน่าจะดีที่สุด “คิดทีละสเต็ปก่อนค่ะ ตอนแรกก็คิดถึงซีเกมส์ แต่พอดีตอนคัดตัวเพื่อไปซีเกมส์ 2017 ม้าเจ็บในสนามสุดท้าย ทำให้พลาดโอกาสเลยคิดถึงสเต็ปต่อไปก็คือเอเชียนเกมส์ปีหน้า ต้องรอดูว่าตอนนั้นเราพร้อมแค่ไหน อยากค่อยๆฝึกไปจนกระทั่งเราขี่ม้าได้ง่ายขึ้น ผลงานสม่ำเสมอขึ้น ถ้ารีบร้อนเราเองที่จะไม่มั่นใจค่ะ” ก่อนจะให้คำแนะนำถึงคนที่อยากขี่ม้าหรืออยากเป็นนักกีฬาขี่ม้าระดับอินเตอร์แบบเธอว่า “เริ่มจากลองขี่ม้าทั่วไปก่อน พยายามเรียนจากครูหลายๆ คน จะได้รู้ว่าเราชอบสไตล์ไหน และต้องอยากเรียนจริงๆ ไม่อย่างนั้นจะเบื่อและต้องมีใจรักม้า อีกสิ่งที่สำคัญมากๆคือผู้สนับสนุน อย่างหนูโชคดีที่ได้รับสปอนเซอร์จากกลุ่มบริษัทไทยเบฟฯมา 3 ปีแล้ว และสุดท้ายถ้าไม่มีคุณพ่อคุณแม่คอยอยู่ตรงนี้ ก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าจะมีคนคอยไกด์หรือหาแรงสนับสนุนได้ยังไง ดีใจมากค่ะที่ท่านสนับสนุนเราเยอะมากๆมาโดยตลอด”
ติดตามเรื่องราวฉบับเต็มได้ใน HELLO! ปีที่ 12 ฉบับที่ 18 วางแผงแล้ววันนี้
หรือติดตามฉบับดิจิตอลได้ทาง http://www.ookbee.com/Shop/Magazine/HELLOSPECIAL
และ https://shop.burdathailand.com