คุณอีฟ – ทยา ทีปสุวรรณ กับ คุณตั้น – ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ คู่รักนักการเมืองและนักการศึกษา คุณพ่อคุณแม่ของลูกๆ วัยรุ่นสามคน น้องเฟย์ – ณฤทัย วัย 18 ปี น้องฟินน์ – นรุตม์ วัย 16 ปี และน้องฟีฟ่า – ณฤพล วัย 12 ปี กับสไตล์การเลี้ยงลูกที่เดินไปพร้อมๆกัน ภายในบ้านของครอบครัวที่แสนอบอุ่น และ HELLO! จะพาไปส่องสไตล์การดูแลลูกๆ ของบ้านนี้ด้วยกันค่ะ คุณอีฟ-ทยา ทีปสุวรรณ-คุณตั้น ณัฏฐพล

คุณแม่ยังสาวบอกว่า “บ้านหลังนี้เป็นเซ็นเตอร์ของทุกคน มีแต่เสียงหัวเราะสนุกสนาน มีกิจกรรมตลอดเวลาทั้งเพื่อนอีฟเพื่อนพี่ตั้นและเพื่อนลูกเวียนกันมาแบบไม่ขาดสาย เรามีกฏของบ้าน เช่น ลูกสาวไม่ให้ค้างบ้านเพื่อน ต้องมีมารยาทกับผู้ใหญ่ ห้ามพูดโกหก ค่อนข้างไทยในเรื่องมารยาทการวางตัว ทำผิดได้แต่ห้ามพูดปด ปล่อยให้มีอิสระทางความคิดลองผิดลองถูก เลี้ยงลูกอย่างใกล้ชิด โชคดีที่อีฟมีลูกเร็ว มีเฟย์ตอนอายุ 26 เลยไม่มี generation gap เราเข้าใจวัยรุ่น คุยกันได้ทุกเรื่อง เขากล้าคุยกับเราเหมือนเพื่อน อีฟทำกิจกรรมกับลูกเยอะ เป็นบัดดี้กัน ขณะเดียวกันต้องเคารพผู้ใหญ่ มีสัมมาคารวะ รู้จักเกรงใจ มีค่านิยมความเป็นไทย ลูกสามารถแลกเปลี่ยนความคิดกันได้ แต่สุดท้ายถ้าพ่อแม่เห็นว่าสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับลูกคืออะไรลูกต้องเคารพ”


น้องเฟย์เรียนที่ St.Edwards School “ยังเป็นเหมือนลูกแหง่ ขี้อ้อน ขี้ประจบ ติดแม่ เราเรียกเขาว่าไจแอนท์เบบี้ เฟย์ชอบเข้าสังคม มนุษยสัมพันธ์ดี ร่าเริง หัวอาร์ต มีความคิดสร้างสรรค์ แต่เรื่องระเบียบมีน้อยกว่าน้องชาย ส่วนฟินน์อยู่ที่ Harrow School เป็นเด็กนิ่ง มีความรับผิดชอบ ตั้งใจเรียน ชอบกีฬา ดนตรี อีฟไม่ห่วงมาก เป็นคนตรงต่อเวลา มีระเบียบวินัยเพราะโรงเรียนที่นั่นเข้มงวดมาก ฟีฟ่าเป็นเด็กอินดี้ ขี้อาย เซนสิทีฟ โลกส่วนตัวสูง เวลารับปากอะไรคำไหนคำนั้น เบี้ยวไม่ได้ เป็นเด็กช่างจดจำ (หัวเราะ) ไม่พูดเยอะแต่คิดเยอะ ตอนนี้อยู่ที่ Shrewsbury International School”

แม้คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ มารดาของคุณอีฟเปิดโรงเรียนศรีวิกรม์ แต่เธอเลือกส่งลูกทั้งหมดเข้าเรียนที่โรงเรียนนานาชาติและโรงเรียนประจำของอังกฤษ “โรงเรียนศรีวิกรม์เป็นโรงเรียนไทย ช่วงที่อีฟเข้าไปบริหารจะเพิ่มหลักสูตร English Program เข้าไปด้วย ตอนเล็กเฟย์เรียนที่นี่ แต่ครูตามใจมาก เราคิดจะส่งลูกไปเรียนต่างประเทศอยู่แล้ว ไม่ใช่ว่าการศึกษาไทยไม่ดี แต่อยากให้เขาช่วยเหลือตัวเอง เรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่น มีวินัย ให้เรียนรู้ชีวิต นอกจากวิชาการ ยอมรับว่าอยู่เมืองไทยมีคนดูแลตามใจ มีพี่เลี้ยงคอยรับส่ง เรียนพิเศษ อีฟคุยกับพี่ตั้นตั้งแต่ต้นว่า พอลูกอายุสัก 11 – 12 อยากส่งเข้าโรงเรียนประจำก่อน เพื่อเตรียมเข้าโรงเรียนมัธยมที่ดี และเข้ามหาวิทยาลัยที่เขาต้องการ พอฟินน์จบ Year 6 ให้เขาไปเป็นหนูทดลองคนแรก คุณปู่คุณย่าและคุณยาย พี่น้องไม่อยากให้ไป โดนแอนตี้มากช่วงนั้น ฟินน์ก็ไม่อยากไป เป็นการตัดสินใจที่ยากมาก เพราะเราเป็นครอบครัวที่ใกล้ชิดกัน เรื่องความคิดถึงนี่ไม่ต้องพูดถึง ..ใจจะขาดเลย แต่ชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ที่จะได้จากการส่งลูกไปเมืองนอก กับการเก็บเขาไว้โดยที่ไม่ได้ใช้ศักยภาพของตัวเองเต็มที่ เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีการสื่อสารช่วยให้เราใกล้กันมากขึ้น ปิดเทอมบ่อย ฟินน์เป็นเด็กเรียนดี ชอบกีฬา มีความเป็นผู้ใหญ่ ถ้าผลักดันให้ได้พัฒนาศักยภาพตัวเองอย่างเต็มที่ ฝึกการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เป็นผู้นำบ้างผู้ตามบ้าง ช่วยเหลือตัวเอง น่าจะไปได้ในสภาพแวดล้อมที่ดีและมีระบบ เราดูโรงเรียนที่อังกฤษไม่ต่ำกว่า 30 – 40 แห่ง เลือกแล้วว่าไม่อิสระมากเหมือนอเมริกัน ใกล้กว่า แต่ถ้าจบไฮสคูลแล้วจะไปต่ออเมริกาเราก็ไม่ว่า”

ลงเอยที่ Brambletye School โรงเรียนเล็กในชนบทอังกฤษมีนักเรียนเพียง 260 คน แต่เด็กได้เรียนต่อในโรงเรียนระดับท็อป 10 เป็นจำนวนมาก “นอกจากวิชาการเข้มข้น สอนการใช้ชีวิต และให้เด็กเล่นกีฬาเยอะมาก ตอนแรกกลัวลูกโฮมซิค ปรากฏว่าฟินน์มีอาการแค่ไม่กี่วัน พ่อแม่แย่กว่า (หัวเราะ) เราติดต่อกันทางจดหมายและSkype คุยกันอาทิตย์ละครั้ง หยุดยาว Half Term เราให้ลูกกลับบ้าน หรืออีฟมีธุระเมืองนอกก็ไปหาเขา ทุกครั้งที่ลูกกลับมาจะให้เวลาเขาเต็มที่ อาจมีคุณภาพไม่มากนักเพราะต่างคนต่างยุ่ง”

น้องเฟย์กับการเรียนต่อเมืองนอก “เดิมทีจะเก็บไว้ เพราะเป็นลูกสาว แต่เฟย์ติดแม่มาก อยากให้เขารู้จักจัดการตัวเอง โดยไม่มีแม่คอยจ้ำจี้จ้ำไช ตอนที่ตัดใจส่งไปอีฟซึมเศร้าอยู่นาน ทุกวันนี้เขากลับมายังนอนกอดกันอยู่ ตอนเฟย์ไปไม่ราบรื่นเท่าฟินน์ เพราะไปตอนโต ปรับตัวลำบาก เขาคิดถึงเพื่อนที่นี่ คิดถึงพ่อแม่ แต่ตอนนี้ดีขึ้นมาก เป็นผู้ใหญ่ขึ้น จะบอกตลอดว่า ถ้าเฟย์ไม่ไหวกลับมาอยู่เมืองไทยให้พ่อแม่ดูแลได้นะ แต่พ่อแม่ไม่สามารถดูแลเฟย์ได้ตลอดไป สุดท้ายเขาปรับตัวได้ดี เฟย์กับอีฟยังคงเป็นแม่ลูกที่ซี้กันที่สุดในโลก”

ฟีฟ่าเด็กผู้ชายจิตใจอ่อนโยน รักสัตว์ พูดน้อยและขี้อาย มีฟินน์พี่คนรองเป็นไอดอล “อะไรที่ฟินน์ทำ ฟีฟ่าทำตามทุกอย่างเลย โชคดีที่ลูกทั้งสามคนรักกันมาก เฟย์กับฟินน์สนิทกันมาก เพราะห่างกันแค่ปีกว่า เพื่อนของทั้งสองคนรู้จักกันหมด ฟีฟ่ากับฟินน์จะเป็นพี่ชายน้องชายที่เล่นทุกอย่างด้วยกัน ฟินน์จะดูแลน้องเป็นอย่างดี”

‘ไอคิว’ ดี หรือ ‘อีคิว’ดี “ต้องบาลานซ์ แต่ยุคนี้อีคิวเผลอๆ สำคัญกว่า เพราะคุณต้องอยู่ในโลกที่สลับซับซ้อน มีความหลากหลายในมิติสังคม มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา ทำให้เด็กยุคใหม่ต้องปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีพอควร ตอนที่อีฟเข้าแวดวงการเมือง ใช้ทั้งไอคิว ความรู้ที่เรียนมา ประสบการณ์ แล้วอีคิวเป็นส่วนใหญ่ เพราะเราต้องดีลกับอะไรที่ไม่เคยเจอและไม่คิดว่าจะเจอ จึงปลูกฝังให้ลูกคิดว่าจะรับมือกับสิ่งที่เจอในแต่ละวันยังไงให้มีความสุขและประสบความสำเร็จ อีคิวเป็นเรื่องที่ต้องให้ความเข้าใจลูกมากๆ ต้องกล้าคุยกับเรา ทำผิดไม่เป็นไรแต่ต้องกล้ายอมรับ พ่อแม่ตักเตือนต้องฟังกันและกัน อีฟให้ลูกเถียงได้ด้วยความเคารพ และถ้าแม่มีคำตอบสุดท้ายลูกต้องฟัง ล่าสุดเฟย์มาขอไปเที่ยวสมุยกับเพื่อน พบกันครึ่งทาง แม่ไม่ไปด้วย ให้พี่เลี้ยงไป เขาก็เข้าใจ”

จากแม่สู่ลูก “คุณพ่อคุณแม่อีฟเป็นนักธุรกิจที่ทำงานหนัก ไม่ค่อยมีเวลาดูแล เราไปเที่ยวไหนต้องมีบอดี้การ์ดไปด้วย การเลี้ยงลูกของเราอาจจะสมัยใหม่ เพราะอีฟเล่นกับลูก เล่นกีฬาด้วยกัน ช้อปปิ้งด้วยกัน ใส่เสื้อผ้าด้วยกัน แลกของกันใช้ ฟังเพลงแนวเดียวกัน คุยกันเรื่องดารา เรื่องแฟชั่น เพื่อนเขาเรารู้จักหมด เพื่อนเราเขารู้จักหมด แต่ทิ้งระยะให้เขาได้ใช้ชีวิตวัยรุ่นของตัวเอง ไม่เคยขอดูโทรศัพท์ ไม่ก้าวก่ายชีวิตส่วนตัว ให้ Space พอสมควร อยากไปไหนกับเพื่อน ให้ไป แค่บอกว่าไปที่ไหนกับใคร กลับกี่โมง ไว้ใจกันและกัน”

วิชาการต้องไม่ทิ้ง “วิชาการเดี๋ยวนี้สำคัญ เพราะการแข่งขันสูง อีฟไม่คาดหวังว่าลูกต้องเป็นนักการเมือง เป็นนักธุรกิจ ฟินน์เรียนได้ A เกือบทุกวิชา แต่อยากเป็น DJ แม่ก็ไม่ว่า อยากให้เขาประสบความสำเร็จในสิ่งที่รัก สมมุติเฟย์อยากเป็นอาร์ติสท์เราต้องส่งเสริมเขา ฟีฟ่าอยากเป็นนักฟุตบอลเราก็ให้ ไม่ขีดเส้นให้ลูกเดิน แต่เดินไปกับลูก อาจไม่ไปทางตรง มีเลี้ยวซ้ายบ้าง เลี้ยวไปกับลูก ถ้าไม่ดีเราตบๆ ให้ตรงหน่อย สำคัญ เราต้องเดินแบบมีระยะห่าง ไม่ใช่ตามประกบ เราไม่ได้เป็นแม่ที่เพอร์เฟคท์ บางทีก็ไม่เข้าใจว่าลูกคิดอะไรต้องปรับๆ กันไป แต่โชคดีที่ลูกเชื่อฟัง เราว่าคำเดียวร้องไห้กระเจิง การทำให้แม่เสียใจถือเป็นเรื่องใหญ่หลวงสำหรับลูกนะ อีฟจะเป็นไม้หนึ่ง พี่ตั้นเป็นไม้สอง สิ่งที่ทำแล้วมีความสุขเสมอ คือได้เห็นพัฒนาการของลูก อาจมีบ้างที่อีฟกับพี่ตั้นเห็นไม่ตรงกัน แต่จะไม่เถียงต่อหน้าลูก เรามีกฏของว่า 1. ไม่ทะเลาะกันต่อหน้าลูก 2. ให้เวลากับลูกเต็มที่เวลาลูกกลับมา 3. ถ้าใครแรงอีกคนต้องเบา แล้วค่อยพูดกับลูก”

จากผู้บริหารโรงเรียนศรีวิกรม์ สู่ตำแหน่งรองผู้ว่ากทม. ดูแลนโยบายการศึกษาให้กับโรงเรียนของกทม.ทั้ง 438 แห่ง “ระหว่างที่ทำงานด้านการศึกษาของกทม. ได้เข้าไปพัฒนาหลักสูตร พัฒนาครู ริเริ่มโครงการ “โตไปไม่โกง” ในโรงเรียนสังกัด กทม. ประกอบกับเราดูโรงเรียนให้ลูกมาเยอะ ทั้ง Prep School, Senior School หญิงล้วน ชายล้วน สหศึกษา ไม่ต่ำกว่า 30 แห่ง เห็นผลว่าโรงเรียนประจำเปลี่ยนแปลงลูกไปในทางที่ดี เด็กได้อ่านหนังสือเยอะ ตั้งใจเรียนในห้อง สงสัยอะไรถามครู มีเวลาเล่นกีฬา เล่นดนตรีเยอะ เสาร์อาทิตย์ได้ทำกิจกรรมไม่ต้องเรียนพิเศษ ทำให้อยากนำโรงเรียนประจำที่เหมือนอังกฤษมาไว้ในเมืองไทย”

ชะตาลิขิต เมื่อเธอได้เจอมร.ไนเจล เวสต์เลค ซึ่งเป็นครูใหญ่ของ Brambletye School ที่น้องฟินน์และฟีฟ่าเคยเรียน และกลายเป็นคุณครูใหญ่โรงเรียนประจำในแบบของคุณอีฟ “คุณเวสต์เลครู้จักเด็กทุกคนในโรงเรียนเลย รู้แม้แต่คาแรคเตอร์ คุยกันถูกคอ เป็นคนที่เข้ากับเด็กทุกวัยได้อย่างไม่น่าเชื่อ จนวันหนึ่งคุณเวสต์เลคบอกว่าจะไม่อยู่โรงเรียนนี้แล้ว เราได้ฟังตกใจและเสียดาย เขาบอกว่าจะมาหาโอกาสในเมืองไทย เข้าทางเรา เราอยากทำโรงเรียนประจำอยู่แล้ว แต่ไม่มีคนเป็นเฮด มีที่อยู่ 1,400 ไร่ ตรงเขาไม้แก้ว ห่างจากพัทยา 15 นาที เขาสนใจทันที ภรรยาเขาเคยเป็นครูดนตรีที่ Bangkok Patana School เมื่อสิบกว่าปีก่อน ทั้ง 2 คนผูกพันกับเมืองไทยอยู่แล้ว เราอยากทำไม่ใช่เรื่องผลตอบแทนเป็นหลัก แต่อยากพัฒนาการศึกษาไทยให้เด็กมีทางเลือก ไม่ใช่รับแต่เด็กมีฐานะดี แต่ต้องให้โอกาสเด็กเก่งที่ด้อยโอกาสเพื่อมาเป็นช้างเผือกในโรงเรียนเรา ต่อไปเด็กพวกนี้จะเป็นกำลังสำคัญของบ้านเมือง เราคิดว่าต้องมีแบรนด์ เพราะคนไทยยังเชื่อมั่นในชื่อเสียงของโรงเรียน โดยเฉพาะแบรนด์อังกฤษอยู่ ติดต่อไป 14 แห่ง ปรากฏว่าตอบรับมา 13 แห่ง ต้องมานั่งเลือก เอาประสบการณ์ที่เราไปดูมาเยอะแยะบวกประสบการณ์ของคุณเวสต์เลค ประสบการณ์ของพ่อแม่ที่มีปัญหาเดียวกันคือ ลูกไม่ค่อยมีระเบียบวินัย เรียนพิเศษเยอะ แต่ยังไม่อยากส่งลูกไปเมืองนอกเพราะติดลูก เลยคิดว่านี่คือคำตอบของปัญหาต่างๆ โดยไม่ต้องใช้เวลาที่อยู่ในรถติดวันละหลายชั่วโมง เราจะยกคุณภาพให้เหมือนวชิราวุธกับวัฒนาแต่เป็นภาคภาษาอังกฤษ”

ทุ่มเทเพื่อโครงการ “เราช่วยกันทั้งครอบครัว สามี พี่น้อง และคุณพ่อพี่ตั้น เป็นงานที่ท้าทายและสนุก ที่สำคัญที่สุดคือเป็นงานที่เรารัก ด้วยแนวคิดที่ว่าอนาคตของชาติต้องเริ่มจากการศึกษาที่ดี เลยใส่เกียร์ 5 เดินหน้าเต็มที่”

อยากได้มรดกต้องเรียนให้จบตรี “สมัยนี้อยากให้จบโท แต่ต้องแล้วแต่เขาอีก จริงๆ แล้วอีฟทำกองทุนที่บ้านไว้ว่า ถ้าลูกไม่จบปริญญาตรี ไม่ได้สมบัตินะ เรียนโทก็ดี ถ้าจะเอกด้วยแล้วแต่ สำคัญที่สุดคืออยากให้เขามีความสุขกับวิชาที่เรียน ที่เขาอยากเป็น ใช้ศักยภาพของตัวเองให้เต็มที่ สุดท้ายอาจไม่มีลูกคนไหนกลับมาช่วยธุรกิจทางบ้านเลยก็ได้ ขอเพียงทำในสิ่งที่เขาชอบอย่างมีความสุข เป็นคนดีของสังคม คิดดี จิตใจดี คบเพื่อนดี สุดท้ายสร้างครอบครัวที่ดี เจอคู่ครองดี ให้ลูกรู้ว่าเงินหายากขนาดไหน รู้ค่าของเงิน ไม่ได้เกิดมาแล้วใช้อย่างเดียว เด็กยุคนี้ต้องปล่อยให้เขาใช้จินตนาการเต็มที่ ตอบแทนพ่อแม่ ตอบแทนสถาบัน ประเทศชาติ เอื้อเฟื้อกับคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา รู้ค่าของเงิน รักครอบครัว เรื่องประสบความสำเร็จหรือการหาเงิน ยังไม่เน้นหนักเท่ากับขอให้เขาเป็นคนดี สิ่งนี้สำคัญที่สุดค่ะ”
………………………………………………………………………………………………
Cr. Taya Teepsuwan , fayeteepsuwan , finnteepsuwann , fifateeps Instagram