ในแต่ละยุคสมัยมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ การศึกษาก็เช่นกัน ที่ในปัจจุบันการเรียนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียวดูจะไม่ตอบโจทย์เหมือนสมัยก่อน เมื่อความสนใจของเด็กยุคดิจิทัลสั้นลงเรื่อยๆ และมักจะถูกหันเหไปตามสิ่งเร้าใจอื่นๆ รอบตัว ดังนั้นหากอยากให้เด็กได้รับความรู้ ผู้สอนไม่ว่าจะเป็นครู หรือพ่อแม่เอง ก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับเด็กในยุคนี้ Nanolearning จึงเป็นหนึ่งในตัวช่วยการเรียนรู้ที่น่าจับตามอง

ที่มาของการเรียนแบบ Nanolearning
- ช่วงความสนใจของเด็กสั้นลงเรื่อยๆ เด็กจะไม่สามารถตั้งใจเรียนนานเป็นชั่วโมงๆ ได้
- ความเหนื่อยล้าจากการดูหน้าจอทั้งวัน ไม่ว่าจะเรียนออนไลน์ หรือเล่นเกม เล่นโซเชียลมีเดียต่างๆ
- หากเนื้อหามีความยาวและเข้าใจยาก จะทำให้เด็กเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากเรียน และจับใจความสำคัญไม่ได้
- การเรียนในช่วงเวลาสั้นๆ ในขณะที่เด็กสนใจ จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
อะไรคือ Nanolearning?
Nanolearning เป็นการให้เด็กเรียนรู้ในระยะเวลาเพียงสั้นๆ ต่อครั้ง ถ้าเปรียบเป็นพิซซ่าก็เหมือนกับการให้ผู้เรียนกินพิซซ่าทีละชิ้นเล็กๆ แทนที่จะให้กินทีเดียวทั้งถาด การเรียนแบบนี้เป็นการเรียนแบบต่อเนื่องที่ผู้เรียนจะได้ความรู้แบบไม่ต้องเสียเวลาเรียนเป็นชั่วโมง และมีการใช้เครื่องมือในการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเนื้อหา ซึ่งการเรียนแบบ Nanolearning นั้น นอกจากจะใช้สมาธิและความสนใจในการเรียนเพียงระยะเวลาสั้นๆ ต่อครั้ง ยังมีความน่าสนใจและสนุกสนาน ทำให้เด็กเข้าใจบทเรียนได้ง่ายกว่า และได้ผลลัพธ์ในการเรียนรู้ที่ดีกว่าการให้นั่งเรียนแบบเดิมนานๆ
4 ข้อต้องรู้เมื่อนำ Nanolearning มาปรับใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการเรียน
- รู้ความต้องการของผู้เรียน เช่น เด็กไม่ชอบการเรียนเนื้อหายากและยาว แต่ชอบการทดลองและความสนุก
- กำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ให้ชัดเจน ว่าต้องการให้ผู้เรียนได้ความรู้เรื่องอะไรบ้าง
- เลือกเครื่องมือในการให้ความรู้อย่างเหมาะสม เช่น การใช้รูปภาพ วิดีโอ กรณีศึกษา แบบฝึกหัดหรือการถามคำถาม แอปพลิเคชั่น พอดแคสต์ เป็นต้น
- ทำให้สั้น กระชับ แนะนำว่าให้อยู่ภายใน 5 นาที ต่อการเรียนแต่ละครั้ง และเรียนต่อกันเป็นซีรีย์ต่อเนื่อง
Image : Julia M Cameron from Pexels