Home > Education > News > แช็ทจีพีที ตัวช่วยที่ดี หรือภัยคุกคามของการศึกษา 

จากที่ HELLO! Education ได้เคยนำเสนอเรื่องราวของ แช็ทจีพีที มาแล้วหลายครั้ง ว่าเป็น AI ที่สร้างขึ้นโดย Open AI ของอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐีอัจฉริยะ เพื่อใช้เขียนงานต่างๆ 

บุคลากรในแวดวงการศึกษาจึงเกรงว่า นักเรียนจะใช้มันในการเขียนรายงานส่งครู ตลอดจนการแอบลอกเลียนงานของผู้อื่นโดยไม่ไ้ด้รับอนุญาต 

แต่ทว่า ในกระแสต่อต้าน ก็ยังมีเสียงสนับสนุน บรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัยของสิงคโปร์ ต่างก็สนับสนุนการใช้ แช็ทจีพีที เพราะเห็นว่าสามารถช่วยให้นักเรียน ตั้งคำถามได้ดีขึ้น และเสริมทักษะการคิดวิเคราะห์ 

นอกจากจะไม่ห้ามแล้ว โจนาธาน ซิม อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา ที่ National University of Singapore (NUS) ยังอ้าแขนรับ ChatGPT ในการเขียนรายงาน และใช้ในการให้คะแนน กับการประเมินเนื้อหา 

“ที่ผมสนับสนุนก็เพราะแช็ทจีพีทีช่วยให้นักเรียน เข้าใจงานเขียนทางวิชาการที่ดีและไม่ดี และใช้ทักษะการวิพากษ์วิจารณ์ในการปรับปรุงสิ่งที่ AI ทำขึ้น” 

แช็ทจีพีที
Photo: Getty Images

อาจารย์ซิมเป็นหนึ่งในอาจารย์มหาวิทยาลัย ที่เริ่มคิดหาวิธีการใช้ AI ช่วยงาน แทนที่จะมองว่าเป็นภัยคุกคาม 

ใช้ หรือ ไม่ใข้ 

ตั้งแต่แช็ทจีพีทีเปิดตัวมา ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากทั่วโลก แสดงความกังวลว่าแช็ทบอทนี้ จะเขียนบทความที่คล้ายคลึงกับมนุษย์เขียน ตามความประสงค์ของผู้ใช้งาน 

เนื่องจากประเทศสิงคโปร์มีความตื่นตัวเรื่องนี้กันมาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ สิงคโปร์ ประกาศกลางที่ประชุมรัฐสภาว่า จะต้องสอนนักเรียนใช้ AI ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อกระบวนการเรียนรู้ โดยที่นักเรียนจะต้องมีคอนเสปท์ และทักษะการคิดพื้นฐานที่แน่นหนาเพียงพอเสียก่อน 

ตั้งคำถามดีขึ้นด้วย ChatGPT 

ผศ.ไบรอัน ลี หัวหน้าโครงการการสื่อสารแห่ง Singapore University of Social Sciences (SUSS) บอกว่า การใช้ แช็ทจีพีทีทำงานวิจัย ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องไม่ดีเสมอไป แต่กลับช่วยให้ครูอาจารย์สามารถใช้มัน ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้ดี 

แช็ทจีพีที
Photo:Getty Images

อาจารย์ซิมยังพบว่า นักเรียนของเขาจะตั้งคำถาม ก็ต่อเมื่อพวกเขาสับสนกับคำตอบของแช็ทบอท ซึ่งตามปกตินักเรียนอาจจะอายที่จะถามในห้องเรียน เพราะกลัวโชว์ความโง่ 

ข้อจำกัดของ ChatGPT 

ผศ.แบรี่ เชอร์วูด แห่งโปรแกรมภาษาอังกฤษ Nanyang Technological University บอกว่า การใข้แช็ทจีพีทีในการเขียนงานวรรณกรรมนั้น ยังไม่สามารถทำได้ 

“บทความที่เขียนโดยแช็ทจีพีทีนั้น มีความถูกต้องตามมาตรฐานทางไวยากรณ์ การสะกดคำ และการใช้ภาษา แต่ไร้ซึ่งชีวิตชีวา ไม่มีความผิดปกติ ความแปลกประหลาดใดๆ หรืออะไรทำนองนั้น มันไม่ใช่นักเขียนที่ยิ่งใหญ่” 

อาจารย์ซิมยังบอกอีกว่า เขาไม่ห่วงว่านักเรียนจะใช้บอทในการโกง และครูจะต้องทบทวนตัวเองว่า เพราะอะไรนักเรียนถึงโกง 

“ผมถามลูกศิษย์หลายคนเกี่ยวกับเรื่องนี้ ทุกคนตอบตรงกันว่า พวกเขาเลือกที่จะโกง ก็เพราะมองไม่เห็นประโยชน์จากสิ่งที่เรียน และการบ้านที่ทำ” 

เพราะถ้าหากครูอธิบายให้ลูกศิษย์ฟังว่า พวกเขาจะได้ทำความเข้าใจบทเรียน จากการทำรายงาน พวกเขาก็จะทำอย่างจริงจัง ซึ่งถ้าหากครูกระตุ้นให้นักเรียน ใช้เครื่องมือนี้อย่างเปิดเผยและโปร่งใส มีการแนบภาคผนวกเป็นบทโต้ตอบกับ แช็ทจีพีทีืก็จะช่วยให้ครูรู้ว่านักเรียนใช้มันในการทำรายงานอย่างไร 

แช็ทจีพีที
Photo: Getty Images

ติวเตอร์ไทยก็ไม่หวั่น

คุณสาธร อุพันวัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เลิร์น คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้นำทางด้าน EdTech และเจ้าของโรงเรียนกวดวิชา OnDemand ที่คร่ำหวอดในวงการติวสอบให้แก่นักเรียนไทยมานานเกือบสองทศวรรษ บอกกับ HELLO! Education ถึงการรุกคืบของแช็ทจีพีทีในแวดวงการศึกษาว่า

“เราต้องมองว่านี่คือเครื่องมือพิเศษ ถามว่าแล้วครูควรปรับ หรือการเรียนการสอนควรปรับอย่างไร เราจะประเมินการบ้าน ที่นักเรียนส่งมาแบบหยาบๆไม่ได้แล้ว ต้องดูอย่างละเอียดว่า คำตอบของเขาเกินวัย หรือเกินความสามารถของนักเรียนหรือเปล่า 

“ถ้าเกินเราจะมีวิธีหรือกระบวนการตรวจสอบอย่างไร ผมว่าทุกวันนี้ AI ก็อยู่กับเราตลอดเวลาโดยที่เราไม่รู้ตัวอยู่แล้ว ซึ่งผมมองว่ามันกลับจะช่วยเราด้วยซ้ำ ถ้าเรามองว่าเป็นเครื่องมือและเรามีความเข้าใจ เราไม่ต้องกลัว และจะปรับตัวได้เอง”

แช็ทจีพีที
คุณสาธร อุพันวัน Photo courtesy of LEARN Corporation

เทรนด์การศึกษาในอนาคต 

คุณสาธรยังบอกเราอีกว่า เทรนด์การศึกษาของโลกเวลานี้ ก็คือ EdTech เทคโนโลยีจะเป็นตัวขับดันสำคัญในการเรียนรู้ของคน ทำอย่างไรมนุษย์จะอยู่ร่วมกับเทคโนโลยีได้อย่างสมดุล มีหลายอย่างที่เทคโนโลยียังไม่สามารถแทนที่มนุษย์ได้ เช่น เรื่องของจิตใจ ความรัก ความสัมพันธ์ที่ดี เพราะเชื่อว่าเมื่อเราให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีมากเข้าๆ เราจะต้องหันกลับมามองเรื่องจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องการเป็นอันดับหนึ่งอยู่ดี   

เขายังบอกอีกว่า ChatGPT ก็เหมือนกับนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในอดีต ที่เมื่อแรกมนุษย์ยังรู้จักไม่ดีพอ ก็อาจจะต่อต้านเป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องไม่ลืมว่าทุกอย่างต่างก็มีข้อดีและข้อเสีย เราจึงควรใช้อย่างระมัดระวัง โดยไม่ต่อต้านเท่านั้นเอง 

ที่มา : todayonline.com     

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.