นักเรียนอเมริกัน ไฮสคูลคนเก่งจากโรงเรียนมัธยมปลายชั้นดีอย่าง เกรย์สัน ฮาร์ท เขาใฝ่ฝันอยากเป็นนักแสดง หรือไม่ก็ครู เขาเชื่อมาตลอดเลยว่า การเรียนมหาวิทยาลัยน่าจะเป็นหนทางเดียว ที่นำเขาไปสู่งานที่ดี มีความมั่นคง และชีวิตที่มีความสุข
แต่แล้วโควิด-19 ก็เปลี่ยนชีวิตเขา และนักเรียนมัธยมปลายในสหรัฐฯ อีกมากมาย ฮาร์ทก็ไม่ต่างจากหนุ่มสาวอีกนับแสนคน ที่ค้นพบตัวเองในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่จะเลือกไม่เรียนต่อ
พวกเขาเลือกที่จะทำงานเป็นรายชั่วโมง หรือทำงานที่ไม่จำเป็นต้องใช้ใบปริญญา ขณะที่อีกหลายคนตัดสินใจยุติการเรียน เพราะไม่อยากเป็นหนี้เงินกู้เพื่อการศึกษา เพราะค่าเล่าเรียนที่สูงลิบลิ่ว
จำนวนการสมัครเรียนมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ช่วงปีค.ศ. 2019-2020 ลดลง 8% แม้จะมีการปรับเปลี่ยนเป็นการเรียนในห้องเรียนแล้วก็ตาม ซึ่งจะส่งผลที่เลวร้ายตามมา
สำหรับผลเลวร้ายที่สุดคือ สิ่งนี้เป็นสัญญาณที่ชี้ให้เห็นว่า นักเรียนอเมริกัน รุ่นใหม่เสื่อมศรัทธาในใบปริญญา สำหรับผลร้ายรองลงมา ดูเหมือนว่าเด็กที่ไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยในช่วงโควิด เลือกที่จะหยุดเรียนเป็นการถาวรเลย ส่งผลกระทบต่องานวิชาชีพแพทย์ พยาบาล และการสาธารณสุข จนถึงไอที ที่ในอนาคตจะขาดแคลนคนทำงานวิชาชีพเหล่านี้

ข้อมูลจากศูนย์การศึกษาและการงานแห่ง Georgetown University ชี้ให้เห็นว่า เด็กที่เลิกเรียนต่อมหาวิทยาลัย หมายความว่าพวกเขาจะมีรายได้ทั้งชีวิต น้อยกว่าคนที่เรียนจบมหาวิทยาลัยถึง 75% และหากเศรษฐกิจทรุดลงเมื่อไร คนที่ไม่มีปริญญาจะตกงาน ซึ่งจะส่งผลต่อสถานะทางเศรษฐกิจของประเทศ
คนรุ่นเบื่อเรียน
จากการพูดคุยกับนักการศึกษา นักวิจัย และนักเรียน พบว่าเด็กรุ่นใหม่เบื่อหน่ายสถาบันการศึกษา พวกเขาต้องเรียนรู้ด้วยตัวเอง ระหว่างการเรียนออนไลน์ และส่วนใหญ่ทำงานพาร์ทไทม์
จนบางคนเห็นว่าการเรียนไม่ได้อะไร และคิดว่าการเรียนมหาวิทยาลัยอีก 2 หรือ 4 ปี ไม่ช่วยอะไร ขณะเดียวกันหนี้การศึกษาของนักเรียนที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ทำให้นักเรียนไม่อยากเรียนต่อ
ตอนที่ฮาร์ทยังเด็ก เขาฝันที่จะเรียนวิชาละครเพลงที่ Penn State University และครอบครัวก็สนับสนุน เขาจึงเข้าเรียนที่โรงเรียนมัธยมปลายเอกชนคริสเตียน เพื่อจะเข้ามหาวิทยาลัยได้ง่ายขึ้น
แต่เมื่อต้องเปลี่ยนไปเรียนออนไลน์ ทำให้เขาพบอิสรภาพแบบใหม่ ความเครียดในการเรียนลดลง

“ผมสามารถทำทุกอย่างที่อยากทำ ทำสิ่งที่ผมคิดว่าสำคัญ และผ่อนคลายขึ้น ผมเพลินกับชีวิตมากยิ่งขึ้น”
ฮาร์ททำงานในร้านเครื่องดื่มสมูทตี้ เขามีรายได้สม่ำเสมอ แม้จะไม่มีใบปริญญาก็ตาม ทำให้หลังจากจบไฮสคูลแล้ว เขาก็ตัดสินใจยกเลิกแผนเรียนต่อมหาวิทยาลัยไปเลย
จูงใจด้วยค่าแรงอัตราสูง
ครูใหญ่และครูแนะแนวต่างก็ช็อค เมื่อเห็นนักเรียนที่จบมัธยมปลายจากโรงเรียนรัฐบาลและเอกชน แห่ไปทำงานในโกดังของ Amazon หรือไม่ก็ทำงานรับจ้างทั่วไป จำนวนนักเรียนที่ไม่เรียนต่อทั่วทั้งสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
พวกเขามักทำงานเสิร์ฟ หรือไม่ก็เป็นพนักงานขายของ บ้างก็ทำงานโรงงานที่ต้องการแรงงาน โรงงานประกอบรถบรรทุก EV กับแบตเตอรี่ยี่ห้อฟอร์ด มูลค่า 5.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่เพิ่งเปิดใกล้กับเมืองแจ็คสัน รัฐเทนเนสซี ซึ่งสัญญากับคนท้องถิ่น ว่าจะจ้างงานมากถึง 5,000 ตำแหน่ง และในการก่อสร้างโรงงานดังกล่าว ก็ต้องใช้แรงงานหนุ่มสาวจำนวนมาก
ยังคงลูกผี-ลูกคน

ท่ามกลางความชุลมุนวุ่นวายในช่วงการแพร่ระบาด ทำให้นักเรียนจำนวนมากถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เรียนไม่ทันเพื่อน จึงไม่มีความพร้อมในการเรียนต่อมหาวิทยาลัย
ตัวแทนระบบโรงเรียนในแจ็คสัน เกรก แฮมมอนด์ บอกว่า นักเรียนยังมีโอกาสที่จะได้เรียนต่ออีกหลายอย่าง รวมทั้งการชมงาน College Fair สำหรับนักเรียนมัธยมปลายปีสุดท้ายที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี
“ครูแนะแนวโรงเรียนของเรา ให้ความสนับสนุนนักเรียนม.ปลายที่ด้อยโอกาส แม้จะเป็นการยากที่จะวางแผนการเรียนหลังจากเรียนจบ และเช่วยเหลือนักเรียนที่ไม่เข้าร่วมใช้บริการการช่วยเหลือเหล่านี้”
ผู้เชี่ยวชาญยังบอกอีกว่า ถ้าเรื่องนี้จะมีข้อดีก็คือ ยังมีคนหนุ่มสาวอีกมากที่มองหาหลักสูตรการศึกษา นอกเหนือจากการใช้เวลา 4 ปีเรียนปริญญาตรี และมีบางรัฐที่ต้องการการฝึกงานมากกว่า
ตามที่กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ประกาศว่า จำนวนเด็กฝึกงานได้เพิ่มจำนวนขึ้น จนใกล้เคียงกับจำนวนเด็กฝึกงานในช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้ว
2 ใน 5 คนรุ่นใหม่ตั้งตารอที่จะสมัครมหาวิทยาลัยในอนาคต

จากการสำรวจความคิดเห็นของ Intelligent.com พบว่า 38% ของผู้ตอบแบบสอบถามชาวอเมริกันวัย 18-24 ปี บอกว่า พวกเขามีแผนที่จะสมัครเรียนมหาวิทยาลัยในอนาคต ส่วนอีก 32% ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเรียนมหาวิทยาลัยดีหรือเปล่า ขณะที่ 30% บอกว่าตอนนี้พวกเขาไม่สนใจที่จะเรียนต่อ
วงการที่เด็กรุ่นนี้สนใจก็คือ แวดวงธุรกิจและการเงิน แวดวงสาธารณสุข แวดวงสื่อและการสื่อสาร แวดวงคอมพิวเตอร์และไอที รวมทั้งแวดวงอาหารและการโรงแรม
ซึ่งหากพวกเขาเว้นช่วง gap year เอาไว้ ก็น่าจะมีข้อได้เปรียบดังนี้ “นักเรียนที่ไม่มีเป้าหมายหรือมีทิศทางที่ชัดเจน หรือยังไม่พร้อมสำหรับการเรียนมหาวิทยาลัย gap year ดูเหมือนจะเป็นคำตอบเพราะช่วยให้นักเรียนมีทางเลือกมากขึ้น พวกเขาสามารถสร้างแผนอนาคตได้ตรงกับความต้องการของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้ได้รับความรู้ ทักษะและประสบการณ์มากมายหลายแขนง
แต่กระนั้น gap year ก็ยังมีข้อเสียตรงที่ นักเรียนอาจขาดแพชชั่นหรือแรงจูงใจในการทุ่มเททำกิจกรรมต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับความรู้และชุดทักษะ ซึ่งอาจไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไป
ที่มา : Voice of America