กวาดรางวัลมากมายทั้งลีลาการเต้นแจ๊สและบัลเล่ต์ เป็นเพราะเริ่มเรียนพื้นฐานมาตั้งแต่ยังเรียนชั้นเตรียมอนุบาลในคลับหลังชั่วโมงเรียนที่โรงเรียนนานาชาติเซนต์แอนดรูว์ ทำให้วันนี้‘เบลล่า-กุญช์จารี จีระแพทย์’ ลูกสาวหัวแก้วหัวแหวนของคุณหนิง-ศรัยฉัตร กุญชร ณ อยุธยา จีระแพทย์และคุณโบ๊ท-จามร จีระแพทย์ กลายเป็นนักเต้นที่กำลังมาแรงในเวทีแข่งขันระดับนานาชาติ ‘หนิง-ศรัยฉัตร’ สุดภูมิใจ
“เรามีลูกผู้หญิงก็อยากให้เรียนบัลเล่ต์ แต่ไม่เคยคิดเลยว่าจะมาไกลขนาดนี้ค่ะ” คุณแม่กล่าวอย่างปลื้มๆ ก่อนจะเล่าเรื่องราวแปลกประหลาดให้ฟังว่า “ตอนเบลล่าอายุได้ขวบกว่าเคยพาเขาไปตรวจดีเอ็นเอกระพุ้งแก้ม เป็นการประมวลผลว่าลูกนิสัยอย่างไร ถนัดอะไร ก็ได้ผลวิเคราะห์ว่าลูกเหมาะจะเป็นนักเต้น ตอนนั้นนึกภาพไม่ออกเลยค่ะว่าลูกเราจะเป็นแดนเซอร์ได้ยังไง เพิ่งมานึกได้ตอนเบลล่าได้แชมป์ที่หนึ่งของประเทศว่าลูกเรามีพรสวรรค์ทางนี้จริงๆค่ะ”
ผลจากการหมั่นสังเกตพฤติกรรมและความสนใจของลูกอย่างใกล้ชิด ทำให้คุณหนิงเห็นว่าลูกสาวสนใจการเต้นจริงจัง จึงตัดสินใจสมัครคลาสเรียนเต้นบัลเล่ต์นอกเหนือจากการเป็นเพียงกิจกรรมหนึ่งในโรงเรียน
“สำคัญที่สุดต้องดูโรงเรียนใกล้บ้านค่ะ ต่อให้ครูเด่นดังแค่ไหน แต่ถ้าต้องฝ่ารถติดไปเรียนทุกวัน ลูกสุขภาพจิตเสียเราก็ไม่เอา เลยไปเจอโรงเรียนชื่อ Dance Plus Academy ของครูต้น (บดินทรเดชา อินทรประเสริฐ) ที่เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะก็พาลูกไปสมัครเรียนบัลเล่ต์ทันที จนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เบลล่าเห็นเพื่อนเต้นแจ๊สก็บอกว่าอยากเรียนตรงนี้เพิ่ม ครูเลยเริ่มจากเต้นเป็นกลุ่มก่อน ต่อมาได้ไปแข่งขันเต้นแจ๊สเวทีCSTD ประเทศไทยได้ที่ 1 จากนั้นเป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งในเวทีเดียวกันระดับเอเชียแปซิฟิกได้ที่ 2 และจากนั้นได้ไปแข่ง CSTD ที่ออสเตรเลียได้ที่ 2 มาค่ะ”
สอนให้รู้แพ้รู้ชนะ
“ครูอยากให้เบลล่าไปเปิดประสบการณ์แข่งเต้นที่ออสเตรเลีย หนิงไปกับลูก 2 คน เราต้องเตรียมพร็อบประกอบการเต้น เตรียมเสื้อผ้า ตื่นตีสี่มาแต่งหน้าทำผมให้ลูก แล้วก็สอนลูกด้วยว่าเมื่อเข้าหลังเวทีแล้วต้องดูแลตัวเอง เพราะแม่ไม่มีสิทธิ์เข้าไป หนูต้องรู้จักดูแลตัวเองถ้าผมหรือเครื่องสำอางไม่เรียบร้อย หนูต้องเติมเอง ซึ่งครั้งนั้นเบลล่าลงแข่งบัลเล่ต์แต่ไม่ได้รางวัลอะไรแต่ได้รู้จักคำว่าแพ้ หนิงรีบไปหาลูก ยิ้มแล้วเดินไปกอดเขา ลูกก็มองหน้าเพราะเขาแคร์แค่ว่าแม่จะเสียใจหรือเปล่า เราก็บอกว่าไม่เลย หนูเป็นผู้ชนะของแม่ เบลล่าบอกว่าเขาเองก็เสียใจ แต่เห็นว่าเพื่อนอีกคนร้องไห้เลยต้องปลอบใจเพื่อน (ยิ้ม)
“แต่พอกลับไปที่โรงแรม เขาถามว่าได้ยินเสียงปรบมือดังมากตอนเต้นอยู่บนเวที แล้วทำไมเขาไม่ได้รางวัล คำพูดนี้ทำให้หนิงคิดว่าเราเอาลูกมาทำร้ายหรือเปล่า เร็วไปไหมสำหรับเด็กอายุเท่านี้ที่จะเจอกับคำว่าแพ้และต้องเข้าสู่สนามแข่งขันหนิงตั้งสติตอบลูกไปว่ามันไม่ใช่วิ่งแข่งที่เห็นชัดเจนว่าใครเข้าเส้นชัยก่อนหลัง แต่การเต้นคือศิลปะ กรรมการอาจจะมองแล้วชอบหรือไม่ชอบบางอย่างไม่เหมือนกัน แต่เสียงปรบมือคือการที่หนูชนะใจคนดู ซึ่งธรรมชาติของเด็กจะอยู่กับปัจจุบัน วันต่อมาเขาก็ลืม ไปลงแข่งประเภทกลุ่มก็ได้รางวัลที่2 เขาได้รู้จักทั้งคำว่าแพ้และชนะแล้วค่ะ”
“หนิงมองว่าการเต้นไม่ได้แค่สอนให้เด็กเต้นเป็น แต่ทำให้เด็กมีทักษะการเข้าสังคม เขาได้เรียนรู้ความสมหวังและความผิดหวัง พร้อมทั้งเรียนรู้ที่จะจัดการอารมณ์ตัวเอง เช่นในวันที่เบลล่าได้ถ้วยรางวัลที่ 1 หนิงถามว่าทำไมหนูไม่ยิ้มเลย เขาตอบว่าเพื่อนรักหนูไม่ได้รางวัล เราเลยรู้ว่าลูกกำลังถนอมน้ำใจเพื่อน ก่อนขึ้นเวทีครูจะสอนเด็กให้ถ่อมตน เวลาชนะอย่าดีใจมาก เพราะขณะที่เรากำลังดีใจอยู่นั้น มีคนอื่นเสียใจอยู่ เบลล่าจะคิดถึงเพื่อนเสมอ เพราะการเต้นประเภทคู่และกลุ่มต้องการทีมเวิร์กสูงมาก สิ่งสำคัญที่สุดคือหนิงยกคะแนนความทุ่มเทให้ลูกเต็มร้อยเลย เพราะต้องซ้อมท่าเดิมๆซ้ำแล้วซ้ำเล่า ปกติซ้อมเต้นทุกวันหลังเลิกเรียนวันละ 1 ชั่วโมงครึ่ง ช่วงที่ต้องไปแข่งอาจจะซ้อมตั้งแต่เช้าถึงเย็นก็มี นักเต้นมีความอดทนและมีวินัยสูงเหมือนนักกีฬา ครูสอนทักษะการเต้น แต่หนิงเป็นเหมือนโค้ชคอยให้กำลังใจลูกให้เขาสบายใจที่สุดว่าอยู่กับเราแล้วเขาบ่นได้ เหนื่อยได้ แต่แค่ชั่วครู่แล้วต้องเรียกสติกลับคืนมา และเมื่อได้รางวัล เขาเกิดการเรียนรู้ว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน แต่เกิดจากหมั่นทำด้วยตัวเองซึ่งไม่มีอะไรเกินความสามารถไปได้”