ช่วงนี้นอกจากคุณพ่อคุณแม่จะต้อง work from home แล้วยังต้องคอยดูแลลูกๆให้ study from home กันอีกด้วย ซึ่งนอกจากการจัดเตรียมอุปกรณ์และสื่อการเรียนออนไลน์ให้ลูกอย่างพร้อมเพรียงแล้วนั้น ต้องไม่ลืมตระหนักด้วยว่าการให้ลูก จ้องหน้าจอนานๆอาจส่งผลเสียต่อสายตา ของลูกๆได้
ในแต่ละวันที่ลูกเรียนออนไลน์ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5-6 ชั่วโมง แม้จะมีช่วงเวลาพักแต่การจะใช้เวลาเพ่งมองดูข้อมูลหน้าจอ อยู่กับสื่อการเรียนการสอน ทั้ง โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต หรือโทรศัพท์มือถือ ระยะใกล้เป็นเวลานาน ๆ อาจมีผลทำให้เกิดอาการแสบตา ปวดตา ปวดศีรษะ หรือมีอาการการมองไม่ชัดหลังเลิกเรียนได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาสายตาผิดปกติอย่าง สายตาสั้น หรือตาดำเข ที่ส่งผลกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาว

โดยทางกรมอนามัยได้ออกมาแนะนำถึงวิธีการที่เหมาะสมในการใช้สายตาสำหรับการเรียนออนไลน์ ซึ่งคุณพ่อคุณแม่อาจนำไปปรับใช้ได้ คือ
1) หลักการพักสายตาแบบ 20-20-20
ระยะเวลาการใช้สายตาในการเรียน Online และ On Air เพ่งดูหน้าจอ ด้วยหลักการ 20-20-20 คือ ใช้สายตามองใกล้ติดต่อกันไม่เกิน 20 นาที โดยควรพักใช้สายตา 20 วินาที ด้วยการมองไปที่ระยะห่าง 20 ฟุต (6 เมตร) เพื่อเป็นการพักสายตา แล้วกลับมาใช้สายตาใหม่ได้
2) ปรับแสงสว่างให้พอเหมาะ
จัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการเรียน ไฟไม่มืดหรือสว่างเกินไป เพราะแสงเข้าตามากเกินอาจทำให้เกิดจอประสาทตาเสื่อม จึงต้องปรับหน้าจอให้สว่างพอดี
3) กะพริบตาบ่อยๆ
แนะนำให้กระพริบตาบ่อย ๆ หลับตาพัก (นับ 1-5 แล้วลืมตาใหม่) เพราะการใช้สายตานาน ๆ อาจเกิดภาวะตาแห้ง เคืองตา กะพริบตาน้อย (ปกติคนเรากะพริบตา 10-12 ครั้งต่อนาที) ภาวะตาแห้งจะดีขึ้น รวมถึงตำแหน่งที่นั่ง หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีลมพัดมาก ลมแอร์ตกใส่ ระดับของโทรศัพท์มือถือไม่สูงเกินไป จะทำให้เปิดเปลือกตามากขึ้น ควรอยู่ระดับต่ำกว่าสายตา ช่วยลดภาวะตาแห้ง (ข้อมูลราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย, 24 มิถุนายน 2564)

นอกจากข้อแนะนำดังกล่าวแล้ว อีกวิธีที่ส่งเสริมการมีสายตาที่ดีให้กับลูกๆได้ก็คือการเลือกผักผลไม้สีเขียวเข้ม สีเหลือง สีส้ม สีแดง เช่น ผักตำลึง ผักบุ้ง แครอท ฟักทอง มะเขือเทศ มะม่วงสุก มะละกอ สับปะรด แคนตาลูป ให้ลูกได้รับประทาน เนื่องจากสารแคโรทีนอยส์ในผักผลไม้ดังกล่าว ช่วยในเรื่องการมองเห็นในที่มืด ลดความเสื่อมของเซลล์ลูกตา ลดความเสี่ยงต่อการเป็นต้อกระจก และยังช่วยให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานได้ดีอีกด้วย
Source : กรมอนามัย
Cover Image : Andrea Piacquadio from Pexels