Home > Education > Solitude ในแบบของอรนลิน โลจนะโกสินทร์

ในยุคของ Social Dilemma คำว่า ‘Solitude’ หรือความสันโดษดูจะเป็นความหรูหราและหายากมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับจิตรกรแล้ว Solitude ของพวกเขาน่าจะอยู่ที่การได้ออกไปอยู๋ท่ามกลางธรรมชาติเพียงลำพัง โดยมีสี พู่กันและผืนผ้าใบ เป็นเครื่องมือบันทึกโลกที่หมุนเร็วจี๋ ให้เป็นภาพนิ่งตามความรู้สึก ไม่ต่างจากจิตรกรเมื่อหลายร้อยปีก่อน ( Solitude ในแบบของอรนลิน โลจนะโกสินทร์ จิตรกรหญิงผู้นำเทคนิค )

ในงานแสดงศิลปะกลุ่มนำโดย ยุทธิ์ สุริพงศ์ ,นพนันท์ ทันนารี และคุณอรนั้น ใช้ชื่อนิทรรศการว่า Solitude ซึ่งตั้งชื่อจากวิธีการทำงานของจิตรกรที่วาดรูปกลางแจ้ง ต้องเผชิญลมฟ้าอากาศ เฝ้าสังเกต ซึมซับแสงแดด ดมกลิ่นของดิน รวมถึงสัมผัสของลม เป็นการใช้เวลาในชีวิตไปกับการอยู่กับตัวเอง เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาได้สำรวจด้านในตัวเอง

บรรยากาศการแสดงงาน Solitude ที่ ARTIST+RUN Gallery

“อรว่าเราสามคนมีความคล้ายกันอย่างหนึ่ง คือรักสันโดษ จิตระหว่างทำงานเราจะเห็นเหมือนกันหมดว่าเป็นช่วงที่จิตเราว่าง เป็นการอยู่กับธรรมชาติ ถ่ายทอดความรู้สึกที่เราเห็นออกมาเป็นสี โดยไม่เน้นเรื่องราว งานอรไม่ได้มีคนไม่มีสิ่งปลูกสร้าง แต่อรใช้สีในการเล่าเรื่อง อรเชื่อว่าสีสามารถคุยกับจิตเราได้ ทุกคนมีความเชื่อมโยงกับสี แรงบันดาลใจของอรมาจากตรงนี้

“อรจะวาดภาพตอนตะวันขึ้นกับตอนตะวันตกดิน เพราะเป็นช่วงเวลาที่มีสีเยอะสุด จริงๆรูปที่วาดยากสุดคือ  First Light เพราะต้องค่อยๆบิลท์ไปเรื่อยๆ ต้องค่อยๆป้ายทีละบางๆแล้วรอให้แห้ง แต่ถ้าไม่มีสมาธิแล้วผสมสีเน่าก็พังเลย ต้องคิดก่อนแล้วค่อยๆทำ”

งานแสดงภาพทิวทัศน์โดย 3 ศิลปินซึ่งมีที่มาแตกต่างกันชื่องานว่า ‘Solitude’ หนึ่งในจิตรกรเหล่านั้นก็คือคุณอรนลิน โลจนะโกสินทร์ หรือคุณอร ซึ่งผ่านการปูพื้นฐานราว 1 ปี ที่ Camberwell College of Art ก่อนจะสำเร็จการศึกษาด้าน Fine Art ที่ Central Saint Martins

(จากซ็าย) คุณอังกฤษ​ อัจฉริยโสภณ อาจารย์นคร พงษ์น้อย คุณอรนลิน โลจนะโกสินทร์ คุณยุทธิ์ สุริพงศ์ และคุณนพนันท์ ทันนารี

คุณอรให้ความเห็นเกี่ยวกับการเรียน Fine Art หลังยุค Modern Art ว่า “เวลาน้อยมาก ปีเดียวนักเรียนได้ลองหลายอย่างมากเกินไป แต่ละอย่างได้ทำแค่อาทิตย์เดียว แล้ว Fine Art ในโลกศิลปะหลังยุค Modern Art ของเราเลิกสอน skill ไปนานแล้ว แต่เขาจะสอนวิธีคิด แต่ไม่ได้สอนให้ทำเป็นนะ ให้ขายงานได้ พูดได้ ให้มีไอเดียบรรเจิด คอนเซปต์มาก่อน และต้องไปค้นคว้าวิธีทำเอง”

มิน่าเล่าเด็กคนอื่นๆ ถึงได้หนีไปทำกราฟิก งานกระดาษ งานฟิล์ม ที่อาจจะง่ายกว่าการใช้มือทำ แต่เธอไม่ถอย เพราะชอบงานที่ใช้ฝีมือ

“จริงๆงานเพนท์ติ้งมันยาก ตอนอยู่อังกฤษไม่ได้ทำเลยไม่มีใครสอน ไม่มีใครทำอะไรอย่างนี้ด้วยมือ ต้องใช้เครื่อง หลักเบสิกเก่าๆที่สอนคนวาดอะไรอย่างนั้น สมัยนี้จะมองว่าเชย เป็นงานโบราณงานข่าง

“สิ่งที่มีประโยชน์ที่สุด อรว่าเป็นเรื่องของกระบวนการคิดและการนำเสนอ ครูจะให้เราทำ research ให้เกิดไอเดีย ค้นหาข้อมูล การไปจากจุด A ถึง B หาที่มาที่ไปของโปรเจกต์ แต่สุดท้ายแล้วเหมือนซื้อของสดเป็น แต่ทำอาหารไม่อร่อย ไม่รู้จะปรุงวัตถุดิบอย่างไรให้ออกมากลมกล่อม สรุปว่าถ้าไม่มี skill แล้วมันไม่เวิร์ก”

คุณอรระหว่างการสร้างสรรค์งาน

ตกผลึกมวลรวม

หลังเรียนจบกลับมาทำแบรนด์ Seasons of Living ซึ่งเป็นธุรกิจนำเข้าเครื่องเรือนระดับไฮเอนด์จากอิตาลี  อยู่นานราว 7 ปี คุณอรก็ตัดสินใจไป upskill ตัวเองอีกครั้งที่ The Florence Academy of Art ซึ่งเป็นโรงเรียนช่างวาดรูปแนวประเพณี

“การเรียนแบบนี้เป็นวิธีเรียนแบบฝรั่งเศสตั้งแต่สมัยศตวรรษที่ 19 แล่้ว พอมีโมเดิร์นอาร์ตเข้ามา การสอนแบบนี้ก็ตายตามไปด้วย แต่โรงเรียนนี้เปิดมาได้ 20 กว่าปี และได้หลักสูตรการสอนมาจากทายาทคนสุดท้ายของศิลปินที่ล่วงลับไปแล้ว ซึ่งเรียนหลักสูตรนี้จากฝรั่งเศส คือถ้าไม่มีคนนี้ ทุกวันนี้ศิลปะแบบนี้ก็คงหาเรียนได้ยากมากค่ะ

“อรชอบเรื่องสีและแสง มันเป็นอะไรที่มหัศจรรย์ เราสามารถเพิ่มหรือลดได้บนผ้าใบแบนๆ มันเป็นหน้าต่างไปสู่อีกมิติหนึ่ง คือความสุข”

ศิลปินสาวผู้หลงใหลการวาดภาพแบบโอลด์มาสเตอร์ที่หาได้ยากยิ่งในปัจจุบัน

ที่นี่เองที่คุณอรเก็บเกี่ยวประสบการณ์และเทคนิคการวาดรูปแบบโบราณ และนำมาผนวกกับการสร้างสรรค์งานจิตรกรรมแบบร่วมสมัย แม้เทคนิคการวาดจะเป็นแบบโอลด์มาสเตอร์ แต่มุมมองและการสร้างเรื่องราวของภาพเป็นลักษณะเฉพาะตัวของศิลปิน

และนี่เองเป็นที่มาของงานแบบโอลด์มาสเตอร์ที่หลายคนอาจลืมไปแล้วว่า ครั้งหนึ่งงานสไตล์นี้เคยเป็นที่นิยมมากในอดีต

สำหรับผู้ที่ต้องการชมผลงานแบบโอลด์มาสเตอร์ของคุณอรนลินในนิทรรศการ Solitude สามารถชมได้ที่ ARTIST+RUN จนถึงวันที่ 20 ธันวาคมนี้ และสามารถติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ของเธอได้ใน HELLO! Education 2020

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.