พสุ ลิปตพัลลภ ลูกชายคนเดียวของคุณสุวัจน์ และหลานย่าคุณจรัสพิมพ์ ลิปตพัลลภ เขาเป็นทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลที่มีความรู้ความชำนาญในแวดวงตลาดเงินและตลาดทุน และได้ทำงานสะสมประสบการณ์ในต่างประเทศมากว่า 7 ปี ก่อนกลับมาบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของครอบครัวหลายโครงการ แต่กว่าจะมาถึงวันแห่งความสำเร็จนี้ เส้นทางการศึกษาของเขาผ่านความขรุขระถึงขนาดเกือบจะโดนไล่ออกจากโรงเรียนมาแล้ว
พลโทหญิงพูนภิรมย์ , คุณพสุ , คุณจรัสพิมพ์ , คุณพราวพุธ และคุณสุวัจน์ ลิปตพัลลภ
“ตอนอยู่ไฮสคูลที่อังกฤษผมซ่าส์สุดๆ เลย ทำทุกอย่างที่กฎห้าม โดนพักการเรียนไป 2 ครั้ง เกือบโดนไล่ออกไปทีนึง โหดมาก” ผู้บริหารหนุ่มรูปหล่อกล่าวอย่างขำๆเมื่อนึกถึงอดีตครั้งยังเรียนไฮสกูลอยู่ที่ Bradfield Collegeก่อนที่จะหันกลับมาตั้งใจเรียนในระดับปริญญาตรีทางด้านการเงินที่ Westminster University และจบปริญญาโททางด้าน real estate development จาก Cass Universityประเทศอังกฤษเขาพลิกผันตัวเองจากเด็กที่เกือบโดนไล่ออกจากโรงเรียนกลายเป็นเรียนจนจบปริญญาโทได้ในที่สุด “พอมาเรียนมหาวิทยาลัย ไม่มีกฎให้แหกแล้วก็ไม่รู้จะทำไปทำไม” คุณหลวงกล่าวเรียนรู้จากความผิดพลาด“ความผิดพลาดอย่างหนึ่งของผมก็คือผม play safe ผมไม่ได้เลือกเรียนสิ่งที่ผมชอบมากๆ ตอนเรียน A Level ผมเรียน film study ด้วย เป็นอะไรที่ผมชอบมาก แล้วผมก็มาคิดว่ามันจะสร้างอาชีพได้ไหม กว่าจะเริ่มมีเงินก็คงเหนื่อยมันจะเสี่ยงไปหรือเปล่า ก็เลย play safe ด้วยการเรียน Economics พอเรียนจบ High School ตอนนั้นมหาวิทยาลัยที่รับผมคือที่ SOAS (The School of Oriental and African studies,University of London) คอร์สนี้คือ Southeast Asian Studiesมันน่าสนุกมาก ผมเป็นคนชอบประวัติศาสตร์ คือเราได้เรียนเรื่องใกล้ตัวแบบเต็มๆ คอร์สน่าเรียนมากมหาวิทยาลัยก็ดี แล้วผมก็คิดว่าเรียนแล้วจะไปทำอะไรกินซึ่งมันไม่ควรจะคิดแบบนั้น แต่ทุกครั้งที่ตัดสินใจพลาดก้ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆเหมือนกัน”
“ตอนเรียนปริญญาตรีครั้งแรกผมเรียนบริหาร เอกมาร์เกตติง เรียนไปได้ปีครึ่ง แล้วผมสังเกตตัวเองกับเพื่อนที่เรียนด้วยกัน เขาเก่งกว่าผมเยอะ ถ้าไปต่อทางนี้และต้องแข่งกับคนพวกนี้เราคงจะรุ่งยาก และผมได้คุยกับขิง (เอกนัฏ พร้อมพันธ์) เพื่อนสนิท เขาเป็นคนฉลาด เรียนเซนต์คาเบรียลรุ่นเดียวกัน เป็นหัวหน้าชั้นที่โรงเรียนที่อังกฤษด้วย แล้วเขาไปเรียนออกซ์ฟอร์ด ผมไปนอนคุยกับเขา 2 วัน เขาเป็นคนคิดอะไรแบบโลจิคอล แนะนำให้เราคิดแบบนี้ๆ ตอนแรกผมคิดจะดร็อปมหาวิทยาลัยและเรียนคอร์สอื่นแทน พอคุยกับขิงเสร็จ ผมใช้เวลาวางแผนให้กับตัวเองว่าจะต้องเรียนยังไงให้จบเร็วที่สุด และอะไรที่ให้เราได้ใช้จุดแข็งของเราได้ดีกว่า ผมเลยเปลี่ยนเมเจอร์มาเป็นไฟแนนซ์ ดร็อปบางวิชาและเพิ่มบางวิชา อีกปีครึ่งผมก็เรียนจบจนเกือบได้เกียรตินิยมทั้งๆที่ปีแรกผมเกือบตก”
“ผมเลือกเรียนปริญญาโทต่อที่ Cass University เพราะมีBusiness School ที่แม้จะไม่เก่ามาก ไม่ได้เน้นทฤษฎี แต่เน้นให้ทำงานได้ และมหาวิทยาลัยนี้จะทำให้พอร์ตโฟลิโอของเราดีขึ้น เพราะ Westminster University ในความรู้สึกของผมมันก็กลางๆธรรมดาๆ ปรากฏว่าเรียนจบมาปี 2008 เกิดวิกฤตเศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจโลกไม่ดีมากๆ แบงก์แบร์ สเทิร์นส์ล้มมหาวิทยาลัยที่ผมจบมาก็กลางๆ เกรดผมก็โอเค ตอนนั้นสมัครงานไปทั้งหมด 33 ที่ ได้สัมภาษณ์ 2 ที่ แต่ก็ไม่ได้งานจนกระทั่งมีผู้ใหญ่ให้ความกรุณาแนะนำงานให้ผม ผมบอกว่าผมอยากไปอยู่ฮ่องกงมาก เขาบอกว่าเอาทีละขั้นใจเย็นๆอยากทำแบงก์อยากไปอยู่ฮ่องกง ฟังดูดีแต่ต้องหาวิธีและมีตำแหน่งว่างที่สิงคโปร์ เป็นเซลส์ขายอนุพันธ์ เกิดมาผมไม่เคยไปสิงคโปร์ ผมบอกว่าโอเคไปลองดูก่อน ถึงเวลาค่อยว่ากัน”
“การทำงานที่สิงคโปร์มีการแข่งขันสูงมาก เราไม่ได้ฉลาดมากแต่ก็อาศัยว่าเราก็เฉลียวพอเอาตัวรอดได้ ชีวิตก็ดี ได้เดินทางเยอะ ไปโรดโชว์ 5 ประเทศใน 6 วัน 2 ปีแรกเหมือนฮันนีมูนพีเรียดที่ยาวมาก เราได้เรียนรู้ทุกระบบทั้งบริษัทน้ำมัน บริษัทเรียล เอสเตท บริษัทเคมีภัณฑ์ โรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้า บริษัทขายไก่ เราเห็นหมด และสิงคโปร์เป็นประเทศที่แอดวานซ์มากที่สุดในทวีป เราไม่จำเป็นต้องเก่งมาก แต่เราต้องต้องอ่านเทรนด์ให้ออกและรู้จักคนเยอะๆ อย่าโลกแคบต้องโลกกว้าง ตอนนั้นรู้เลยว่าเรียนหนังสือต่อให้อยู่เมืองแบบลอนดอนหรือสิงคโปร์ แล้วไม่ขวนขวายเยอะๆไม่ได้หรอก อยู่ที่ไหนไม่เกี่ยวอยู่ที่ว่าใช้ประโยชน์ยังไงอย่าให้เสียโอกาส ผมรู้สึกว่าที่เรียนมา 4-5 ปี สู้ทำงาน 6 เดือนยังไม่ได้เลย เลยรู้ว่าเราพอไปได้ในเรื่องการขาย เราชอบเงินๆทองๆ แต่หลังจาก 6 – 7 ปี ธุรกิจการเงินการธนาคารเริ่มอืดมีการเปลี่ยนแปลงเยอะ รู้สึกอิ่มตัวและเริ่มตันก็เลยออกดีกว่า”
สานต่อธุรกิจครอบครัว
หลังจากการทำงานในต่างประเทศเป็นเวลา 7 ปี ก็ถึงเวลาที่ต้องกลับมาช่วยกิจการของครอบครัว “ผมก็ไปคุยกับพ่อว่ามีอะไรให้ทำไหม พ่อชวนมาทำด้วยกัน ผมบอกว่าโอเค ลองคุยคอนเซปต์ก่อน ผมชอบทำอะไรที่โปรเฟสชั่นนอลหน่อย ไม่ชอบทำอะไรกับกงสี ผมปวดหัวพอดีมีโปรเจกต์ทำร่วมกับพาร์ตเนอร์ 2 อันคือ พาร์ค 24กับรีสอร์ทมอลล์ บลูพอร์ต ที่หัวหิน ผมก็เลยตกลงมาทำแต่ผมไม่ชอบเอาเรื่องงานกับครอบครัวมาปนกัน ผมค่อนข้างชัดเจนมากๆ ถ้าผมคุยกับแม่ก็จะไม่เล่าเรื่องงาน จะเล่าเวลาไปเจออะไรตลกๆ แต่ถ้าคุยกับพ่อซึ่งทำงานด้วยกัน ผมก็พยายามชัดเจนมากว่ากินข้าวในแฟมิลีจะไม่คุยเรื่องงาน ผมปวดหัว ให้ไปเจอที่ออฟฟิศ7 โมงเช้าหรือวันเสาร์ได้ไม่มีปัญหา ผมพยายามแยกไม่อย่างนั้นชีวิตอึดอัด แบบนั้นเป็นแนวเถ้าแก่ แต่ผมเป็นพวก Gen Y ทำงานหนักได้แต่ต้องตัดทิ้ง ให้ตื่นลงมาทำงานที่บ้านผมไม่สามารถทำได้”คืนกลับให้สังคมนอกจากจะทำงานให้ครอบครัวแล้ว เขายังเป็นอาจารย์พิเศษ ถ่ายทอดประสบการณ์และความรู้ให้กับนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในระดับปริญญาโท
“ผมรู้สึกว่าได้ให้อะไรคืนกับสังคม คนอื่นอาจจะช่วยเรื่องโลกร้อน ช่วยสัตว์ แต่ผมช่วยเรื่องการศึกษา ผมว่ามันเป็นอะไรที่ผมทำได้ อย่างอื่นอาจจะบริจาคเงินแล้วจบแต่ตอน นั้นนั้นเขาไม่ได้ต้องการเงินมันเป็นเรื่องของความรู้ พอเราได้ แชร์สิ่งที่เรียกเราเรียนมามันเป็นอะไรที่ทำแล้วรู้สึกดีมาก
“ที่จุฬาฯ ผมสอนวิชา Alternative Management และReal Estate Capital Market และที่ ม.กรุงเทพ สอนวิชาDiversity in Cultural Communication เกี่ยวกับความแตกต่างในการสื่อสารในวัฒนธรรมต่างๆ เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์โดยเชื่อมกับทฤษฎีต่างๆ
“ผมชอบสอนหนังสือ ผมจะบอกนักศึกษาที่ผมสอนตลอดเวลาว่าทำอะไรอย่ายั้ง ถ้าชอบอันนี้ก็ทำให้มันสุดแลว้ อย่างอื่นจะตามมาเอง เหมือนที่สตีฟ จ็อบส์พูดว่า ทำสิ่งที่ตัวเองชอบแล้วทำให้ดีที่สุด แล้วถ้าเจอสิ่งที่ใช่ เราจะประสบความสำเร็จเอง อย่าคิดแต่ play safe เพราะเรายิ่งอายุน้อย เรายิ่งต้อง take risk ในเรื่องการศึกษาของเราผมว่าแค่ passion อย่างเดียวเดี๋ยวมันก็ฝ่อไป และต้องคุยกับคนเยอะๆ ทำตัวเป็นคนขี้สงสัย หาข้อมูลเยอะๆ ตอนเรียนผมคุยกับคนน้อยเกินไป สิ่งสำคัญที่สุดต้องมี discipline ต้องตั้งใจ อย่าฉาบฉวย เวลาผมคุยกับนักศึกษา ผมรู้สึกว่า โลกของเขายังไม่เปิดผมเลยบอกว่าถ้าไม่ชอบอ่านหนังสือก็ให้คุยกับคนเยอะๆ ผมเชื่อว่าการเรียนรู้คือการถามคน และต้องเรียนรู้ไปเรื่อยๆไม่มีหยุด คนชอบว่าระบบการศึกษาไทย แต่ถ้ามาลองสอน ลงในรายละเอียดจะรู้ว่ามันต้องใช้เวลาในการเปลี่ยน ไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนได้ในวันเดียว”
ปรัชญาในการดำเนินชีวิต
“เราต้องมีเป้าหมาย เราต้องมองไกลๆ อีก 10 ปี 20ปี 30 ปีอยากทำอะไร อยากเห็นตัวเองเป็นยังไง อย่างน้อยอาทิตย์หนึ่งคิดหนหนึ่ง สมมุติอยากเห็นตัวเรามีการงานอย่างไร มีบริษัท มีสินทรัพย์เป็นของตัวเองยังไงครอบครัว พ่อแม่จะอยู่ยังไงเป็นยังไง ยิ่งคิดละเอียด คิดบ่อยๆ คิดไปเรื่อยๆ แล้วตัวเราจะปรับไปเอง ต่อให้เราจะเลี้ยวซ้ายไปหาใคร เดี๋ยวเราก็จะเลี้ยวกลับมา สิ่งสำคัญในการทำงานต้องมีให้ได้คือ discipline มีระบบแต่ไม่มีระเบียบ ไม่มีความหมาย
“ผมเป็นคนไม่ยอมแพ้ ต้องสู้ ต้องเอาให้ได้ เราต้องใช้จุดแข็งของเราและต้องพยายามคิดนอกกรอบนิดนึงแต่ถึงเวลาทำจริงๆ มันไม่ได้ก็อย่าเครียด คือต้องจริงจังกับงานแต่อย่าเครียด เครียดไปไม่มีอะไรดีขึ้นแม้แต่อย่างเดียว”คำถามสุดท้ายที่ต้องถามคือมองภาพของครอบครัวออกหรือยัง
“ผมคิดว่าถ้าผมมีครอบครัว ผมต้องดูแลครอบครัวผมให้ได้ดีอย่างน้อยเท่ากับที่ผมได้ถูกดูแลมา อย่างเราไปเรียนอังกฤษได้เราก็อยากให้ลูกเราไปเรียน ไม่ต้องให้ภรรยาทำงานหนัก แต่มันยังไม่ถึงเวลา ตัวเองยังเอาไม่ค่อยจะรอดเลยครับ” หนุ่มโสดกล่าวปิดท้าย
………………………………………………………………………………..
photos : Pasu, Proudputh Liptapanlop ‘s instagram