อย่าปล่อยให้ลูกสาวของคุณรู้สึกว่าการมีประจำเดือนเป็นหัวข้อ “ต้องห้าม” ที่ไม่ควรหยิบยกมาคุยกัน เพราะสัญญาณแห่งการก้าวข้ามสู่วัยสาวนี้ไม่ใช่เรื่องน่าอาย แต่ยิ่งคุยกันเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี ลูกคุณจะได้ไม่เชื่อหรือเข้าใจอะไรแบบผิดๆ และเติบโตเป็นสาวได้อย่างสมวัย เตรียมความพร้อมให้ลูกก่อนจะเป็น ‘สาว’

1. คุยเร็วเท่าไหร่ก็ยิ่งดี
ไม่มีสูตรสำเร็จบอกว่าควรคุยเรื่องนี้กับลูกตอนเขาอายุเท่าไหร่ แต่ขอให้เลือกใช้คำพูดหรือคำอธิบายที่เหมาะสมกับวัยของลูก เพื่อที่เมื่อลูกเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรก เขาจะได้มีพื้นความรู้มากพอที่จะไม่ตกใจหรือเข้าใจอะไรผิดๆ ที่สำคัญคือเขาจะได้รู้ว่าควรหันหน้าไปปรึกษาใครและมั่นใจมากพอที่จะถามคุณเพิ่มเติมในสิ่งที่เขายังไม่รู้
2. คุณควรเป็นฝ่ายเริ่มก่อน
อย่าคิดว่ารอให้ลูกถามก่อนค่อยคุยเรื่องนี้ เพราะสำหรับเด็กหลายคน พ่อแม่ไม่ใช่คนที่เขาคิดจะคุยเรื่องนี้ด้วยเลยคุณจึงเป็นคนที่ควรเริ่มเปิดประเด็นพูดคุยเรื่องนี้ก่อนตั้งแต่เขายังเป็นเด็ก เพราะยิ่งคุณกล้าคุยเรื่องนี้กับเขามากเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งรู้สึกสบายใจที่จะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดคุยกับคุณเองเมื่อถึงเวลาที่เขาเผชิญการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายจริงๆ
เริ่มจากการเล่าให้เขาฟังด้วยศัพท์แสงง่ายๆ ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับร่างกายของเขาบ้างและทำไมถึงเป็นอย่างนั้น แล้วเปิดโอกาสให้เขาถามในสิ่งที่เขาอยากรู้เกี่ยวกับการมีประจำเดือน แนะนำว่าควรคุยกันสองต่อสองในที่ๆ เป็นส่วนตัว เพื่อที่ลูกจะได้ไม่รู้สึกเขินอายหรือกลัวว่าจะมีใครมาได้ยิน และเมื่อมีโอกาสไปเดินซื้อของในซูเปอร์มาร์เก็ตด้วยกัน ลองพาลูกเดินไปตรงเซ็กชั่นผ้าอนามัยเพื่อที่ลูกจะได้รู้สึกคุ้นเคยและไม่เขินอายเมื่อถึงวันที่เขาต้องเลือกซื้อเองจริงๆ
3. เปิดอกคุยกับลูกชายด้วย
แม้การเปลี่ยนแปลงทางร่างกายแบบนี้จะเกิดกับผู้หญิงเท่านั้น แต่ความจริงพ่อแม่ควรคุยเรื่องนี้กับลูกชายด้วยเพื่อที่จะทำให้พวกเขาเข้าใจเรื่องการมีประจำเดือนอย่างถูกต้อง จะได้ไม่ไปแซวหรือแกล้งเพื่อนหรือพี่น้องผู้หญิงให้อายต่อหน้าคนอื่นๆ ด้วยการโพล่งออกไปว่า “นี่เธอกำลังมีประจำเดือนอยู่แน่ๆ เลย”
อธิบายให้ลูกชายฟังด้วยคำพูดง่ายๆ ว่าการที่เด็กผู้หญิงมีประจำเดือนนั้นก็เหมือนกับการที่เด็กผู้ชายเริ่มมีหนวดเคราหรือเสียงแตก ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามปกติเมื่อคนเราโตขึ้นและไม่มีอะไรน่าอายเลยสักนิด

4. เป็น “แม่แบบ” ของลูก
แม่สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้ลูกได้เวลาที่คุณมีประจำเดือน โดยการแสดงให้ลูกดูว่า แม่ยังทำอะไรได้บ้างเวลาที่มีประจำเดือน เช่น การเล่นกีฬาหรือการเดินทางท่องเที่ยว ลูกจะได้เห็นว่าการมีประจำเดือนนั้นไม่ได้ขัดขวางการใช้ชีวิตตามปกติของพวกเขาเลย และถ้าครอบครัวของคุณมีลูกหลายคน อย่าลืมสอนลูกคนอื่นไม่ว่าหญิงหรือชายด้วยว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องปกติ และไม่ใช่หัวข้อที่ควรนำไปพูดล้อเลียน ในทางกลับกัน พวกเขาสามารถเป็นกำลังใจให้ลูกคนที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายนี้ได้อย่างไรบ้าง

5. อยู่เคียงข้างเขาเมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ
สอนให้ลูกดูแลตัวเองเวลามีประจำเดือน เริ่มจากพาเขาไปเลือกซื้อผ้าอนามัยที่เหมาะสมกับเขา ซึ่งจะทำให้เขารู้สึกมั่นใจขึ้นไม่ว่าเขาจะใส่เสื้อผ้าแบบไหนหรืออยากเล่นกีฬาชนิดใดก็ตาม เขาจะได้เรียนรู้ว่าการมีประจำเดือนไม่ใช่อุปสรรคใหญ่ใดๆ เลย แถมสมัยนี้มีแอพอย่าง Period Diary หรือ Clue ที่ช่วยบันทึกและเตือนหากใกล้เวลามีประจำเดือน ซึ่งจะช่วยให้ลูกรู้ตัวล่วงหน้าก่อนจะถึงวันนั้นของเดือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใกล้วันสำคัญของเขาไม่ว่าจะเป็นวันสอบครั้งใหญ่ วันแข่งกีฬา หรือวันหยุดยาว
อย่าลืมสอนวิธีการรับมือกับอาการปวดประจำเดือนด้วยไม่ว่าจะเป็นการใช้กระเป๋าน้ำร้อนหรือแช่น้ำอุ่น เขาจะได้ไม่รู้สึกกลัวหรืออายหากเขาปวดท้องในวันนั้นของเดือน
…………………………………………………………………………………………………
www.gettyimage.com , www.pixabay.com