อย่างที่กล่าวไปในตอนที่แล้วว่า เซอร์เคน โรบินสัน นักการศึกษาชาวอังกฤษผู้ล่วงลับ เผย ถึงโรงเรียนในฝัน 15 แห่ง ที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ผู้ปกครองและครู ซึ่ง HELLO! Education ได้รวบรวมโรงเรียนในฝันที่ เซอร์เคน โรบินสัน เขียนไว้ในหนังสือ Creative Schools. The grassroots Revolution That’s transforming Education มาไว้ ณ ที่นี้แล้ว เซอร์เคน โรบินสัน เผย อีกว่าโรงเรียนเหล่านี้ถือเป็นการปฏิวัติการศึกษาที่มีแนวร่วมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
Khan Academy
ออนไลน์

ข่านอะคาเดมี ก่อตั้งโดยซัลมาน ข่าน โดยมีจุดเริ่มจากการติวเลขให้กับลูกพี่ลูกน้อง แล้วจึงขยายวงกลายเป็นการสอนผ่านวิดีโอ และใช้ YouTube เป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ และขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ จนมีผู้สนับสนุนรายใหญ่ไม่ว่าจะเป็นบิล เกตส์ หรือกูเกิล แจ้งความจำนงค์ว่าอยากสนับสนุนข่านอะคาเดมี
เซอร์เคน ยังกล่าวอีกว่า ข่านอะคาเดมีช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ตามความเร็วที่เหมาะสมกับตนเอง สามารถลงลึกมากตามความสนใจและเท่าที่ความช่ำชองของผู้เรียนเอื้ออำนวย การเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ช่วยให้การทำการบ้านและเวลาเรียนในห้องมีประสิทธิผลสูงสุด ประดุจนั่งร้านทางวิชาการที่ดี จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันข่านอะคาเดมีกลายเป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไร และให้การศึกษาแก่ทุกคนโดยไม่คิดมูลค่าใดๆทั้งสิ้น มีผู้ติดตาม 7.11 ล้านคน และมีผู้รับชมมากกว่า 1.94 พันล้านครั้ง
High Tech High
ซานดิเอโก แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2000 ประกอบด้วยโรงเรียนมัธยมปลาย มัธยมต้น และประถมศึกษา ให้บริการนักเรียนมากกว่า 5,000 คนต่อปี เน้นหลักสูตรแบบ Project-based Learning
แลร์รี โรเซนสต๊อก ครูใหญ่ผู้ก่อตั้งอธิบายถึงหลักสูตรนี้ว่า “คุณใช้วิธีการของเทค ได้แก่การทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม การให้คนในทีมช่วยสอนกันเอง การเรียนรู้จากประสบการณ์ การประยุกต์ใช้ความรู้ การเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนลงมือเสาะแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง ขณะเดียวกันก็ใช้เนื้อหาวิชาการสายสามัญ เป็นการผนวกรวมวิธีการเรียนของเทคให้เข้ากับเนื้อหาวิชาการสายสามัญ เป็นการมุ่งสู่แก่เนื้อหาวิชา มากกว่าการเรียนให้ครบๆ มีการแสดงผลงานให้สาธารณชนชมอย่างสม่ำเสมอ และผู้เรียนต้องสนุกกับมัน”
Matthew Mass High School
รอชเดล สหราชอาณาจักร

เซอร์เคน โรบินสัน เผย ว่าสิ่งที่ทำให้แมทธิวมอสส์ต่างจากโรงเรียนอื่นอย่างมาก นั่นคือ ระเบียบวาระการเรียนรู้ (Learning Agenda) โดยวางผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของโรงเรียน และมุ่งเน้นการวิจัยเพื่อค้นหาวิธีที่ช่วยให้พวกเขาเป็นผู้เรียนที่มีประสิทธิผล สามารถพึ่งพาตนเองและปรับตัวให้อยู่รอดในสถานการณ์ที่บีบคั้น นั่นคือต้องรู้ว่าควรทำอย่างไรแม้ในเวลาที่ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร
ผู้เรียนของแมทธิวมอสส์จะต้องเรียนรู้ผ่านโครงงานชื่อ My World 2 คาบต่อกัน สัปดาห์ละ 4 หน โดยมีครูเป็นผู้อำนวยความสะดวก เป็นทั้งไกด์และโค้ช กลายเป็นประสบการณ์การเรียนรู้ที่ทรงพลังและมีคุณค่าอย่างแท้จริง”
Democratic School of Hadera
ฮาเดรา อิสราเอล

เซอร์เคน โรบินสัน เผย ว่าโรงเรียนแห่งนี้เป็นแห่งแรกในโลกที่เรียกตัวเองว่าเป็นโรงเรียนวิถีประชาธิปไตย ก่อตั้งเมื่อปี 1987 โดยยาคอฟ เฮชต์ และให้นักเรียน ครู และผู้ปกครองโหวตว่าจะทำการเรียนการสอนในหลักสูตรอะไรดี โรงเรียนนี้ได้กลายเป็นต้นแบบของโรงเรียนในสหรัฐฯและทั่วโลก
แนวคิดหลักของโรงเรียนคือ 1.นักเรียนเป็นผู้เลือกสิ่งที่พวกเขาต้องการเรียน รวมถึงรูปแบบวิธีการเรียน 2.ให้บริหารจัดการกันเองโดยยึดหลักประชาธิปไตย 3.ประเมินผลเป็นรายบุคคล ไม่มีการเปรียบเทียบ ไม่มีการทดสอบและออกเกรด 4.เป็นโรงเรียนที่นักเรียนเติบโตจากสี่ขวบเป็นวัยผู้ใหญ่
Boston Arts Academy
บอสตัน สหรัฐอเมริกา

ก่อตั้งขึ้นในปี 1998 ทว่าประสบปัญหาด้านวิชาการไม่ต่างจากโรงเรียนอื่น เพราะมีสัดส่วนนักเรียนที่ยากจนสูง แอน คลาร์ก ครูใหญ่บอกว่า แม้ทางโรงเรียนจะเน้นศิลปะ แต่นักเรียนที่จบออกไปกลับเลือกเรียนต่อด้านออกแบบและวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งทางเลือกเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักเรียนจะไม่มีวันเข้าใจได้เลย หากไม่ได้ถูกสอนแบบสหวิทยาการ ซึ่งช่วยให้พวกเขาค้นพบว่าตนเองมีจุดแข็งด้านนี้ซุกซ่อนในตัว
นักเรียนของที่นี่จะเรียนศิลปะครึ่งวัน ส่วนอีกครึ่งวันเรียนวิชาสายสามัญ เป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เป็นสหวิทยาการมากที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ นอกจากนี้การที่เด็กได้รับคำวิจารณ์ชิ้นงานศิลปะของตัวเอง ทำให้พวกเขาสามารถรับมือกับคำวิพากวิจารณ์ในอนาคตหลังจบการศึกษาได้ดีกว่านักเรียนทั่วไป และนี่คือเหตุผลที่นักเรียนของที่นี่ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นอย่างมาก
Thomas S.Kenan Institute for the Arts
นอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา

หนึ่งในโครงการ A+ ของรัฐนอร์ทแคโรไลนา เพื่อทดสอบแนวคิดที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเราหันมาเอาจริงเอาจังกับการเรียนการสอนวิชาศิลปะ หรือถ้าเราสอนนักเรียนโดยใช้ศิลปะเป็นสื่อและใ้ห้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะ จะสามารถสร้างผลสะเทือนอะไรได้ไหม และถ้าสร้างแรงสะเทือนได้จริง จะเป็นแรงสะเทือนแบบไหนกัน
ปรากฏว่านักเรียนของโรงเรียนนี้ มีผลการสอบสูงกว่าค่าเฉลี่ย และที่เหนือกว่านั้นคือ ปัญหาทางวินัยและความประพฤติของนักเรียนลดลง นอกจากนั้นนักเรียนยังมีสิ่งที่เรียกกันว่า “ปัจจัยสร้างความสุขสันต์” ที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของนักเรียน นอกจากนี้ครูยังรู้สึกว่าตนเองมีอำนาจและมีความสามารถแบบมืออาชีพมากขึ้นกว่าเดิม
Blue School
นิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา

โรงเรียนประถมศึกษาและมัธยมต้นในแมนฮัตตัน ที่ก่อตั้งโดย Blue Man Group โดยมีวัตถุประสงค์คือ เพื่อมองการศึกษาเสียใหม่ให้สอดคล้องกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไป และสร้างประชาคมผู้เรียนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสุข และรู้จักเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความคิดหาญกล้า เพื่อสร้างโลกที่ปรองดองและยั่งยืน
ทางบลูสคูลเชื่อในการเป็นพันธมิตรกันระหว่างครอบครัวกับโรงเรียน เพื่อให้พ่อแม่มีส่วนร่วมอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่แค่ในฐานะผู้ปกครองเท่านั้น แต่ในฐานะผู้เรียนเองด้วย กิจกรรมที่ครอบครัวมีส่วนร่วมในแต่ละปีมีทั้งกลุ่มอภิปราย การพบปะสังสรรค์ของสมาชิกประชาคม การประชุมอย่างเป็นกันเอง และกิจกรรมที่เป็นทางการ เพื่อสนับสนุนพันธกิจและวิสัยทัศน์ของโรงเรียน
Summerhill School
ซัฟโฟล์ค สหราชอาณาจักร

Summerhill School ก่อตั้งโดย A.S.Neill เมื่อปี 1921 และกลายเป็นต้นแบบของโรงเรียนวิถีประชาธิปไตยในยุคหลัง โดยมีปรัชญาของโรงเรียนคือ
“เพื่อมอบอิสรภาพให้ผู้เรียนแต่ละคน ให้เขาสามารถรับผิดชอบชีวิตของตนเองได้ และดำเนินชีวิตไปตามความสนใจ เพื่อพัฒนาไปเป็นคนในแบบที่ตัวเขาเองเชื่อว่ามันคือเขา สิ่งนี้เองที่จะนำไปสู่ความรู้สึกมั่นใจตัวเองในเบื้องลึก ทั้งยังนำไปสู่การยอมรับตนเอง ในฐานะปัจเจกบุคคลได้อย่างแท้จริง”
นอกจากนี้เซอร์เคนยังสรุปเกี่ยวกับ 15 โรงเรียนที่นำเสนอนี้ได้อย่างชัดเจนว่า “โรงเรียนทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิวัติอันยาวนาน และการปฏิวัติครั้งนี้ต้องเกิดขึ้นเพื่อพวกเราทุกคน ไม่เฉพาะคนส่วนน้อยที่ถูกเลือกอีกต่อไป”
ที่มา : Creative Schools. The Grassroots Revolution That’s Transforming Education หรือชื่อไทยว่า โรงเรียนบันดาลใจ เขียนโดยเซอร์เคน โรบินสัน และลู อโรนิกา วิชยา ปิดชามุก แปล