Home > Education > Schools > เปรียบเทียบนักเรียนไทยกับนักเรียนฟินแลนด์

ระบบการศึกษาของฟินแลนด์ได้รับการยกย่องในระดับนานาชาติ และกลายเป็นต้นแบบของโลก เมื่อมีการประกาศผลสำรวจการประเมินความรู้ของนักเรียนทั่วโลก (Programme for International Student Assessment-PISA) เป็นครั้งแรกในปี 2001 และปรากฏว่านักเรียนฟินแลนด์ได้คะแนนสูงสุด ทางด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ในหมู่ประเทศสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ส่วนนักเรียนไทยกลับกระเด็นไปอยู่อันดับท้ายๆ ของโลก (ไทย ฟินแลนด์ นักเรียน)

จากหนังสืออีเลคโทรนิคส์เรื่อง Lifelong Learning Focus Issue 01 ที่จัดทำโดย OKMD ได้นำข้อมูลสถิติมาวิเคราะห์ เพื่อแนะแนวทางสำหรับการเรียนรู้ตลอดชีวิตและดูทิศทางในอนาคต ดังนี้

United Nation Development Programme (UNDP) เริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 1990 พบว่าปี 2019 ฟินแลนด์ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาสูงมาก ซึ่งมีทั้งเยอรมัน ออสเตรเลีย และสิงคโปร์ ส่วนไทยจัดอยู่ในกลุ่มพัฒนาสูง ที่มีอิหร่าน และจีนรวมอยู่ด้วย โดยพิจารณาจากสุขภาพ การศึกษา และความเป็นอยู่ที่เหมาะสม 

สำหรับดัชนีทุนมนุษย์ Human Capital Index (HCI) ที่จัดทำโดย World Bank เมื่อปี 2018 พบว่านักเรียนไทยมีประสิทธิภาพเพียง 61% เท่านั้น และใช้เวลาเรียนเฉลี่ย 12.7 ปี แต่คุณภาพเทียบเท่าการเรียนเพียง 8.7 ปีเท่านั้น

ส่วนดัชนีทุนมนุษย์ในปี 2020 นักเรียนไทยได้ค่าดัชนีรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก และค่าเฉลี่ยของภูมิภาค ในการทดสอบเชิงเหตุผล (Harmonized Test Scores) แต่ทว่าก็ยังต่ำกว่านักเรียนในประเทศบรูไน มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม และสิงคโปร์ 

นอกจากนี้ดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลก Global Competitiveness Index (GCI) ซึ่งรวบรวมโดย World Economic Forum ปี 2019 นักเรียนไทยอยู่ในอันดับ 40 จาก 141 อันดับ โดยที่นักเรียนสิงคโปร์ครองอันดับ 1 ขณะที่นักเรียนเวียดนามครองตำแหน่งนักเรียนที่จัดอยู่ในประเทศที่มีการเติบโตด้านนี้สูงที่สุดในโลก 

ดัชนีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัล ปี 2020 ซึ่งรวบรวมโดย World Digital Competitiveness Rank นักเรียนไทยได้อันดับที่ 39 ส่วนนักเรียนในฟินแลนด์ครองอันดับ 10 

ส่วนดัชนีการศึกษา Education Index ปี 2019 นักเรียนไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มการพัฒนาการศึกษาระดับสูงเป็นอันดับที่ 95 ของโลก ส่วนนักเรียนฟินแลนด์ติดกลุ่มพัฒนาสูงมาก เป็นอันดับ 4 และสำหรับทักษะการทำงานในอนาคต ทางด้าน Hard Skills และ Soft Skills นักเรียนไทยได้อันดับที่ 64 ส่วนนักเรียนฟินแลนด์ครองอันดับ 4 อีกเช่นกัน 

ส่วนคะแนนด้านการสอนให้คิดเชิงวิพากษ์ นักเรียนไทยได้คะแนนเหนือกว่านักเรียนเวียดนามเพียงประเทศเดียว ขณะที่ฟินแลนด์ได้อันดับ 1 

เพราะอะไรการศึกษาของฟินแลนด์จึงเป็นเลิศ…ฟินแลนด์มีดีอย่างไร 

หนังสือเรื่อง Finding Sisu เขียนโดยกัตเทีย พันต์ซาร์ เธอได้พูดคุยกับศาสตราจารย์ดร.บาร์บารา ชไนเดอร์ แห่ง Michigan State University ซึ่งศึกษาเรื่องผลกระทบของบริบททางสังคมต่อความสามารถทางวิชาการและความอยู่ดีมีสุขของวัยรุ่น และได้เปรียบเทียบระหว่างกลุ่มนักเรียนมัธยมต้นชาวฟินน์กับอเมริกัน

เธอพบว่า “เมื่อต้องเผชิญความท้าทายที่ยากกว่าระดับของตัวเอง เด็กอเมริกันมีแนวโน้มที่จะล้มเลิกสูงกว่า ขณะที่เด็กฟินน์ล้มเลิกน้อยกว่ามาก พวกเขาสามารถยืนหยัดได้นานกว่า แม้ระดับความท้าทายจะสูงยิ่งก็ตาม”

ดร.ชไนเดอร์และทีมงานชาวฟินน์ จึงใช้เวลา 5 ปีร่วมกันศึกษาลึกลงไปอีกว่า เพราะอะไรนักเรียนบางคนถึงยอมแพ้ ขณะที่บางคนตัดสินใจที่จะกัดไม่ปล่อย 

“เรารู้ว่านักเรียนในอเมริกาเบื่อและเลิกสนใจสิ่งต่างๆ ง่ายมากในโรงเรียน และเราต้องพัฒนาสิ่งที่ท้าทายขึ้น สำหรับระดับทักษะความสามารถของพวกเขา ตอนนี้ฟินแลนด์ยอดเยี่ยมมากเรื่องวิทยาศาสตร์ ในทางกลับกัน นักเรียนอเมริกันล้มเลิกความสนใจด้านนี้หลังจบมัธยมปลาย

“ในมุมมองของฉัน มีหลายเหตุผลประกอบกัน ที่ทำให้ฟินแลนด์ประสบความสำเร็จ ในการวัดระดับของ PISA และประสบความสำเร็จในฐานะประเทศ ทั้งๆ ที่มีประชากรน้อย ประกอบกับการที่พวกเขาลงทุนเรื่องมนุษย์สูงอย่างยิ่ง พวกเขาลงทุนเรื่องการศึกษาและสังคมมากจริงๆ”

นอกจากนี้ฟินแลนด์ยังไม่มีหลักสูตรสำหรับเด็กที่มีความสามารถพิเศษด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะถือว่าเด็กทุกคนควรได้รับการพัฒนาไปพร้อมกันอย่างเท่าเทียม และให้ความสำคัญแก่เด็กที่เรียนอ่อนมากกว่าเด็กเรียนเก่ง 

นักเรียนฟินแลนด์ทุกคนจะเรียนเนื้อหาไม่มาก แต่เรียนในเชิงลึก มีการบ้านน้อย และเน้นการมีส่วนร่วมและการปฏิบัติมาก อัตราส่วนเด็กต่อห้องน้อย ทำให้ครูสามารถดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง ครูคนหนึ่งจะสอนนักเรียนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 3-6 ปี ทำให้ใกล้ชิดกับนักเรียน นอกจากนี้คุณภาพชีวิตของครูในฟินแลนด์ยังดีเทียบเท่ากับอาชีพแพทย์ และจะต้องจบปริญญาโท รวมทั้งต้องผ่านการสัมภาษณ์ด้านศีลธรรมอีกด้วย (ไทย ฟินแลนด์ นักเรียน)

ที่มา : Lifelong Learning Focus 01; www.parliament.go.th; Finding Sisu เด็ดเดี่ยวแม้โดดเดี่ยว สำนักพิมพ์ openbooks      

Tags
finland thai
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.