Home > Education > Schools > High School > ปีย์ ภักดีจิตต์ และสลิน นิลสุวรรณากุล

ทั้ง ปีย์ ภักดีจิตต์ หรือปีเตอร์ และเจ็ม-สลิน นิลสุวรรณากุล ต่างก็เป็นนักเรียนชั้น Year 13 ที่ Bangkok Patana School ผู้มีความคิดอยากช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสกว่าตนเอง และแทนที่จะแค่คิดในใจหรือไม่ก็บริจาคเงินเท่านั้น พวกเขากลับเลือกที่จะทำเรื่องใหญ่กว่านั้น 

นั่นคือการชักชวนเพื่อนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติอื่นๆ ใน The Youth Fund ทำนิตยสารภาษาอังกฤษขึ้นมาโดยให้ชื่อว่า ERAWAN โดยที่ ปีย์ ภักดีจิตต์ เป็น Chairman of The Youth Fund  และเป็นผู้หาทุนให้กับ ERAWAN ส่วนเจ็ม-สลิน นิลสุวรรณากุล เป็น Editor-in-Chief ของนิตยสารฉบับแรก 

นอกจากจะก่อตั้งนิตยสารแล้ว พวกเขายังริเริ่มจัดงานกาลาดินเนอร์ เพื่อขายบัตรระดมทุน นำเงินไปช่วยเหลือนักเรียนโรงเรียนวัดนาคปรก ปีย์ ภักดีจิตต์ เล่าถึงที่มาของโปรเจกต์นี้ว่า 

“ตอนแรก The Youth Fund (TYF) ซึ่งเป็น Parent Organization มีนักเรียนโรงเรียนนานาชาติอย่างเช่น Bangkok Patana School, Concordian International School, Ruamrudee International School และ International School Bangkok เป็นต้นมาร่วมด้วย 

“ช่วงแรกเราทำโครงการเกี่ยวกับโควิด-19 หลังจากนั้นพอเราเห็นว่ามีคนทำเยอะมากแล้ว เราก็เลยหาโจทย์ใหม่ที่เราคิดว่า อาจจะเป็นปัญหาที่คนไม่ให้ความสำคัญมาก”

ปีเตอร์ ภักดีจิตต์
ปีย์ ภักดีจิตต์ หนึ่งในตัวตั้งตัวดีผู้จัดกาลาดินเนอร์ในโรงแรมห้าด่วเพื่อการกุศลติดต่อกันมาเป็นปีที่สองแล้ว

เจ็มเสริมว่า “เราก็เลยโฟกัสไปที่การศึกษา และช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากโควิดแทน ทีนี้ทั้งหนูกับปีเตอร์ไปเข้าค่ายธรรมะสำหรับเยาวชนที่วัดนาคปรกตั้งแต่เด็กๆ ก็เลยโทรถามครูใหญ่ของโรงเรียนดูว่าขาดอะไร 

“และพบว่านักเรียนโรงเรียนนี้ขาดอยู่ 2 อย่างคือ เขาไม่มี iPad หรือ Tablet หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่จะช่วยให้พวกเขาเรียนออนไลน์ได้ และเรื่องค่าใช้ไฟฟ้า เราอยากช่วยลดค่าไฟของโรงเรียนลง ก็เลยแนะนำให้ทางโรงเรียนติดตั้งแผงโซล่าร์เซลล์ นอกจากจะช่วยลดค่าไฟของวัดนาคปรก และจะได้ช่วยเรื่อง sustainability ให้กับโรงเรียนและวัดอีกด้วย”

ปีย์ ภักดีจิตต์ และเจ็ม ซึ่งเป็นสมาชิกวงออร์เคสตร้าเดียวกัน จึงได้ชักชวนเพื่อนๆ ในวงซึ่งมาจากโรงเรียนนานาขาติแห่งอื่นๆ มาร่วมทำโปรเจกต์นี้ด้วย แล้วจากนั้นก็ขักชวนเพื่อนของเพื่อนมาร่วมด้วย และได้ถามผ่านติวเตอร์ของตนว่า มีนักเรียนคนไหนที่สนใจอยากช่วยเหลือสังคมกับพวกเขาไหม 

และแน่นอนมีหลายคนมาช่วยตามความถนัดของตนเอง “เพราะหนูคิดว่าเพียงแค่เราสองคนกับเพื่อนๆ ในกลุ่ม คงไม่พอที่จะแก้ปัญหาค่ะ”

เจ็มพูดถึงการเริ่มภารกิจสำคัญของเธอกับลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อสองปีก่อนในช่วงการระบาดของโควิด-19 พอดี 

“เราไม่อยากแค่ขอเงิน แต่เราอยากให้ผู้ให้ทุนเราทราบว่า พวกเขาจะได้รับอะไรเป็นการตอบแทน ไม่ใช่แค่ให้เงินเพราะเราขอ หรือเพราะรู้จักเรา เราอยากให้พวกเขาเห็นความจริงใจของเราว่า เงินที่เขาให้มาเป็นการลงทุนไปกับเรา ก็เลยคิดว่าจะทำนิตยสารเพื่อระดมทุนจากการขายโฆษณา”

นับเป็นงานที่ท้าทายสำหรับนักเรียน Year 10 ที่ไม่เคยมีประสบการณ์การทำนิตยสารมาก่อน แต่ทั้ง ปีย์ และเจ็มก็ไม่ถอย พวกเขาแบ่งงานกัน ปีเตอร์เก่งในเรื่องการหาไอเดียใหม่ๆ เข้าสังคมเพื่อทำความรู้จักคนใหม่ๆ และขายโฆษณาให้กับสปอนเซอร์ ส่วนเจ็มดูแลเรื่องเนื้อหาของนิตยสาร และคิดว่าจะทำปีละฉบับ

ปีเตอร์ ภักดีจิตต์
เจ็ม คู่หูและลูกพี่ลูกน้องคนเก่งของปีเตอร์ ในฐานะ Editor-in-Chief ของนิตยสาร ERAWAN ที่ทั้งคู่ช่วยกันปลูกปั้น

“สิ่งที่ยากที่สุดสำหรับผม คือการทำให้คนเข้าใจว่า เราทำเพื่ออะไร จะเป็นแค่นิตยสารอีกเล่มหนึ่งที่มาๆ หายๆ และเงินไปไหน เราก็ต้องทำให้ทุกคนเห็นว่าเรามีแผนงานอย่างนี้ๆ นะ โชว์ตัวเลขอย่างโปร่งใสเลยว่า เงินที่ได้จากการขายโฆษณา 30% จะไปที่โซล่าร์เซลล์ อีก 20% เป็นค่าใช้จ่ายในการทำงาน ตอนแรกจะทำแค่ 20 หน้า ก็ค่อยๆ เพิ่มเนื้อหาจนเป็นอย่างที่เห็น” ปีเตอร์บอกกับเรา

แม้ว่าจะเพิ่งเข็นฉบับแรกออกมาได้สำเร็จ ซึ่งตั้งชื่อว่า ERAWAN อันมีที่มาจากชื่อช้างเอราวัณในตำนาน เพื่อแสดงถึงความมีพลัง สะท้อนถึงภารกิจของโปรเจกต์นี้ แต่ก็ล่าช้ากว้ากำหนดการเดิมเป็นเวลาเกือบปี เนื่องจากโควิด 

เจ็มให้เหตุผลว่า “โควิดทำให้เราทำงานยาก นัดพบสปอนเซอร์ก็ยาก การประชุมออนไลน์ก็ไม่ค่อยช่วยเท่าไร การพยายามให้ทุกคนมารวมกันในที่เดียวก็ยาก แต่ก็ไม่เป็นไร” 

“สิ่งที่เราสองคนเรียนรู้จากงานนี้คือ เรียนรู้ที่จะปล่อยวางครับ” ลูกพี่ลูกน้องทั้งสองหัวเราะพร้อมกัน 

กาลาดินเนอร์เพื่อการกุศล

แม้ว่าทั้งสองจะอุทิศตนในการทำนิตยสารจนสำเร็จเป็นรูปเล่มแล้ว ก็ยังไม่พอ พวกเขายังจัดกาลาดินเนอร์เพื่อระดมทุนอีกด้วย ซึ่งสร้างความประทับใจให้กับแขกผู้มาร่วมงานเป็นอย่างมาก ปีเตอร์บอกเราถึงเหตุผลเบื้องหลังว่า

“ไอเดียนี้เกิดจากตอนที่ผมไปฝึกงานในแผนกมาร์เก็ตติ้งที่โรงแรมแกรนด์ไฮแอท เอราวัณ พี่เขาถามผมว่า ‘ปีเตอร์…ในมุมมองของเด็กเราจะทำยังไงให้สามารถดึงแขกเข้ามาในช่วงโควิด’ 

ปีเตอร์ ภักดีจิตต์
อวดนิตยสาร ERAWAN ที่พวกเขาช่วยกันทำ

“ผมกับเจ็มก็เลยช่วยกันคิดว่า เราน่าจะทำกาลาดินเนอร์ และนำวงออร์เคสตร้ามาแสดง และมีการเสิร์ฟอาหารเครื่องดื่ม ผมเลยทำพรีเซนเทชั่นมาเสนอพี่เขา ปรากฏว่าเขาชอบ ก็เลยออกมาเป็นงานดินเนอร์กลางแจ้งที่ทุกคนสนุกกันมาก 

“เพราะเราอยากให้ ERAWAN เป็นนิตยสารที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตั้งแต่การเลือกฟอนต์ปก การเลือกรูปข้างใน และการหาสปอนเซอร์ที่ตรงกับกลุ่มผู้อ่านเรา ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีรายได้ค่อนข้างสูงขึ้นมาหน่อย 

“และอยากให้ ERAWAN เป็นนิตยสารที่ใช่สำหรับสปอนเซอร์ เหมือนงานกาลาที่ผมเคยจัด ก็ต้องลงดีเทลทุกอย่างเพื่อให้งานออกมาสมบูรณ์แบบ เพราะผมกับเจ็มอยากจะ create best experience for our clients และยังได้เงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือคนที่ด้อยโอกาสกว่าเรา” 

ปีเตอร์และเจ็มจัดงานกาลาดินเนอร์ปีที่สอง เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และจากนี้ไปอนาคตของคู่หูคู่นี้จะเป็นอย่างไร ติดตามอ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มของพวกเขาได้ใน HELLO! Education ปี 2022 

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.