Thai International School ร่วมมือผู้เชี่ยวชาญ เปิดมิติใหม่แห่งการศึกษาแบบ Phenomenon-Based Learning
การศึกษาถือเป็นปัจจัยสำคัญของเด็กๆ ในยุคสมัยนี้ โดยเฉพาะการศึกษาที่ไม่เพียงแต่สอนความรู้เชิงทฤษฎี แต่เป็นการเสริมสร้างให้เด็กๆ ใช้ความคิดสร้างสรรค์ และมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งในวันนี้โรงเรียนน้องใหม่ย่านปทุมธานี อย่าง Thai International School (TIS) ได้เปิดโอกาสในการมอบประสบการณ์การเรียนรู้แบบ Phenomenon-Based Learning ภายใต้การร่วมมือของ คุณปอนด์-ชยพล หลีระพันธ์ ผู้อำนวยการ โดยร่วมกับดร.ซาริ มูโฮเนน นักการศึกษาผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้ของฟินแลนด์ เพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของนักเรียนให้ดีที่สุด


Phenomenon-Based Learning คืออะไร?
จากคำกล่าวของดร.ซาริ มูโฮเนน เกี่ยวกับคอนเซ็ปต์หลักของ PhBL นั้น เธอบอกว่ามีอยู่สองสามอย่างด้วยกัน นั่นคือการให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการหา Phenomenon บางครั้งก็เป็นการหาจากการสอน มีบ่อยครั้งที่มาจากการตั้งคำถามหลากหลายว่าเรื่องที่เรียนเกี่ยวกับอะไร โดย ดร.ซาริยกตัวอย่างว่า
“อย่างเช่นรองเท้า เด็กจะได้สืบค้นเรื่องรองเท้าในแง่มุมต่างกันในแต่ละวิชา เช่นรองเท้าในแง่มุมของวิชาสังคมศาสตร์ วิชาภาษาอังกฤษ หรือวิชาศิลปะ ซึ่งครูจะชักชวนนักเรียนพูดคุย ก่อนจะพบเป้าหมายร่วมกันในตอนจบ ในการเรียนรู้แบบนี้นักเรียนจะไม่ถูกมองข้าม ซึ่งสำคัญมาก และในกระบวนการเรียนการสอนแบบนี้ เทคโนโลยีจึงมีส่วนสำคัญมาก ในการบันทึกเอกสาร การหาข้อมูล เพื่อทำเป็นแผ่นพับ หรือละครสั้นๆ การเรียนรู้แบบนี้จึงไม่ได้มีแค่บทเรียนเดียว แต่เป็นการเรียนรู้ระยะยาวที่อาศัยความร่วมมือจากส่วนต่างๆ”

แผนการศึกษาอันน่าตื่นเต้นของ Thai International School (TIS)
เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้ว ที่ ดร. ซาริ นำการศึกษาแนวใหม่ PhBL มาฝึกอบรมแก่ครูในโรงเรียน TIS โดยที่นำหลักสูตรตรงมาจากประเทศแห่งการศึกษาอย่างฟินแลนด์ คุณปอนด์อธิบายว่า
“ฟินแลนด์นำหลักสูตร Phenomenon-Based Learning มาใช้ในโรงเรียนเมื่อปี 2016 ซึ่งเป็นหลักสูตรที่รวมเอาวิชาการหรือศาสตร์ต่างๆเข้าด้วยกัน มีความคล้ายคลึงกับ Problem-Based Learning ซึ่งต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์เป็นหลัก… ไม่ใช่การเรียนรู้จากแค่การอ่านหนังสือ หรือทำการบ้าน แต่ต้องมีความเข้าใจที่แท้จริง อย่างที่เราเรียกว่า ทักษะการสื่อสารรอบด้าน (Multiliteracy) ซึ่งเป็นการสื่อสารสองทาง ไม่ใช่แค่การเชื่อโดยไม่มีการพิสูจน์”
โดยคุณปอนด์นั้น ได้ทดลองหลักสูตรกับลูกสาววัยอนุบาล 3 ของเขาเอง โดยเขาอธิบายถึงการเรียนรู้แบบ PhBL ผ่านลูกสาวของเขาว่า
“เราให้เขารวมกลุ่มกับเพื่อนทำรีเสิร์ชเกี่ยวกับแมว ให้เด็กๆ ไปศึกษาอวัยวะต่างๆ พวก หู ลิ้น ตา ส่วนกลุ่มลูกสาวได้เรื่องลิ้นแมว เขาก็ไปศึกษา แล้วมาพรีเซนท์หน้าห้องว่าเขาเรียนรู้อะไร ทำให้เขาเห็นความเชื่อมโยงกันของทุกวิชา เพื่อนำไปสู่จุดหมายเดียวกัน ครูช่วยเขาตัดกระดาษเป็นรูปลิ้นแมว และติดบับเบิ้ลเพื่อแทนปุ่มรับรส ทำให้เขารู้สึกตื่นเต้นกับความรู้ที่ได้ เขากลับมาเล่าให้ผมฟังด้วยว่า ‘ป่าป๊ารู้ไหมว่าตาแมวเป็นแบบนี้ๆนะ’ จากการฟังเพื่อนพรีเซนท์ ซึ่ง PhBL เน้นการร่วมมือกันเป็นอันดับแรก และรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น”

สิ่งที่เด็กๆ ได้เรียนรู้
มิสเตอร์เจอรัลด์ อี.เชิน ครูใหญ่ของ TIS บอกเราว่า “Phenomenon-Based Learning เป็นการเรียนรู้แบบเด็กเป็นศูนย์กลาง และเป็นการเรียนรู้จากการตั้งคำถามเกี่ยวกับศาสตร์ต่างๆมากมายหลายแขนง ซึ่งเป็นทักษะของศตวรรษที่ 21 ช่วยให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ในบริบทชีวิตจริง
“และให้นักเรียนแสดงสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ผ่านผลงานของตัวเอง ซึ่งต่างจากชั้นเรียนในอดีตที่เป็นการเรียนรู้จากตำรา นักเรียนจะมีความกระตือรือร้นมากขึ้น และบังคับตัวเองให้เรียนรู้ และทำให้ประสบการณ์การเรียนรู้มีความหมายอย่างมากสำหรับพวกเขา”

สร้างปรากฏการณ์ด้วย PhBL
มิสเตอร์แม็กซ์ รองครูใหญ่ และครูวิชาภาษาอังกฤษและวิชาสังคมศึกษา ของนักเรียน Grade 4 และ Grade 6 พูดถึงโครงการสำคัญ 2 อย่างในปีการศึกษานี้ของ TIS ว่า
“ปีนี้เป็นปีที่ 3 แล้วที่โรงเรียนเรานำ PhBL มาใช้ในการเรียนการสอน ต้องบอกว่านอกจากเด็กจะได้ความรู้และมีความกระตือรือร้นในการเรียนแล้ว ยังมีทักษะที่ดีในการหาความรู้ ไม่ใช่แค่นั่งฟังครูสอนเหมือนอย่างที่เคยทำมา… แม้ว่าในเด็กเล็ก ครูจะยังช่วยสอนอยู่ แต่กับเด็กโต ครูจะเป็นเหมือนที่ปรึกษาของกลุ่ม ให้โจทย์ไปคิด โดยมีครูคอยคอมเมนท์และให้ทิศทาง เน้นให้เด็กค้นคว้าวิจัยสิ่งที่ตัวเองต้องใช้ในการ พรีเซนท์ เพื่อให้ถึงเป้าหมายนั่นคือการได้ความรู้”
ซึ่งสำหรับครูทุกคนของ TIS เองก็สนุกกับการใช้ PhBL ในการสอน มร.แม็กซ์ให้ความเห็นว่า “เราใช้ PhBL ในการประเมินตัวเอง ในโปรแกรม Mentor การสนับสนุนแบบเฉพาะราย คำวิจารณ์ รวมทั้งกิจกรรมช่วยเหลือต่างๆ แก่คุณครูตลอดทั้งกระบวนการนี้
“ครูของเราจะรวมกันเป็นชุมชน และแบ่งปันไอเดีย รวมทั้งทำกิจกรรมร่วมกัน นอกจากนี้ครูของเรายังได้เรียนรู้จากครูของพวกเขาอีกที และนี่คือการสนับสนุนที่สำคัญจากโรงเรียนแก่ครูของเรา และนอกจากนี้ดร.ซาริ ยังช่วยเราวางรากฐานกรอบคิด ให้การฝึกอบรมที่ดีมาก และให้ฟีดแบคที่มีค่ามากครับ”

เป็น 3 ปีที่ TIS ได้เริ่มใช้การเรียนการสอนด้วย Phenomenon-Based Learning ทำให้คุณปอนด์รู้ได้ว่า เด็กๆ นั้นมีความกล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิด โดยที่ยังมี Critical Thinking อยู่ในกระบวนการ และมีอิสระในการเลือกมุมมอง โดยการสร้างบทเรียนในชีวิตให้เด็กๆ ได้อย่างแท้จริง
