สิงคโปร์ (Singapore) เป็นประเทศเกิดใหม่ที่ขึ้นชื่อเรื่องการศึกษา ว่าเป็นประเทศที่สามารถสร้างเด็กที่มีคุณภาพ ด้วยหลักสูตรที่มีความเป็นเลิศด้านวิชาการ
ดังจะเห็นได้จากผลการสอบ PISA ปี 2015 ที่นักเรียน สิงคโปร์ (Singapore) สามารถขึ้นแท่นชนะ ญี่ปุ่น แคนาดา จีน เยอรมัน รัสเซีย และสหรัฐอเมริกา
ทั้งนี้เป็นเพราะรัฐบาล สิงคโปร์ (Singapore) เล็งเห็นว่า ‘ทรัพยากรเพียงอย่างเดียวที่ สิงคโปร์ (Singapore) มี ก็คือทรัพยากรมนุษย์’ การพัฒนามนุษย์จึงเป็นภารกิจสำคัญของรัฐบาลภายใต้การนำของลี กวน ยู นายกรัฐมนตรีคนแรกของ สิงคโปร์ (Singapore) และยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้งจนถึงทุกวันนี้

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เมื่อนักเขียนชาว สิงคโปร์ อย่างเควิน ควาน ก็ทำให้ Crazy Rich Asians นิยายภาษาอังกฤษเบสต์เซลเลอร์ที่เขาเขียนถึงบรรดามหาเศรษฐีในเอเชียเป็นที่กล่าวขานถึง จนฮอลลีวู้ดต้องนำหนังสือมาทำเป็นหนังโรแมนติกคอมิดี้ที่สามารถทำรายได้สูงสุดในทศวรรษ และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมอีกด้วย
ฉลาดและเป็นมนุษย์ที่ดียิ่งขึ้น
เป้าหมายต่อมาของการพัฒนาการศึกษาของประเทศ สิงคโปร์ จึงไม่เพียงแต่สอนให้ ‘เด็กฉลาดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังสอนให้เด็กรุ่นใหม่เป็นมนุษย์ที่ดียิ่งขึ้น’
ด้วยเหตุนี้โรงเรียนรัฐบาลของประเทศสิงคโปร์จึงมีคุณภาพสูง แต่ทว่าค่าเทอมถูก เด็กนักเรียนประถมของสิงคโปร์เสียค่าเล่าเรียนเพียงเดือนละ 5 ดอลลาร์สิงคโปร์เท่านั้น และมีความหลากหลายแตกต่างกันไปตามความถนัดของเด็ก ไม่ว่าจะเป็นวิชาชีพ วิชาช่างหรือวิชาไหน ก็สามารถพัฒนาตนเองจนเป็นกำลังสำคัญของประเทศได้ในอนาคต
ทั้งนี้ต้องยอมรับวิสัยทัศน์ของผู้นำสิงคโปร์ ที่นำนโยบายสองภาษามาใข้กับการศึกษาตั้งแต่เริ่มก่อตั้งประเทศเมื่อปี 1966 มีการจัดตั้งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ในปี 1980 ด้วยการควบรวมมหาวิทยาลัยสิงคโปร์กับมหาวิทยาลัยนันยาง

สอนให้น้อย เรียนรู้ให้มาก
และต่อมาได้กำหนดนโยบาย ‘Teach Less, Learn More’ (TLLM) ในปี 2006 ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษาแบบองค์รวม มากกว่าการเรียนเพื่อเตรียมสอบเพียงอย่างเดียว
แนวทางการสอนวิชาเลขอันโดดเด่นของสิงคโปร์ ที่เปิดกว้างให้เด็กที่อ่อนเลขสามารถเรียนเสริมเพื่อให้ทันเพื่อนคนอื่นในชั้นเรียนได้ ซึ่งปรากฏว่าได้ผลดีโดยไม่ปล่อยให้เด็กต้องถูกทิ้งห่างไม่มีทางไปต่อ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าพ่อแม่ชาว สิงคโปร์ ก็ไม่ต่างจากพ่อแม่ชาติอื่น เพราะจำเป็นจะต้องให้ลูกเรียนพิเศษหลังเลิกเรียน ทำให้เด็กเครียด เพราะช่วยไม่ได้ที่จะซึมซับความเครียดจากพ่อแม่
ในการสอบเพื่อจบชั้นประถมศึกษา ได้กลายเป็นจุดสำคัญที่จะชี้ชะตา นักเรียนประถมที่สอบได้คะแนนดีจะได้เรียนในโรงเรียนที่เป็นที่หมายปอง และสามารถคาดเดาอนาคตได้เลยว่า เด็กที่เรียนโรงเรียนเหล่านี้จะต้องมีอนาคตไกล อาจจะได้ไปเรียนต่อต่างประเทศ และได้งานราชการดีๆ ทำ
ส่วนเด็กที่ทำผลสอบไม่ดี ก็จะต้องเข้าเรียนในโรงเรียนช่างหรือวิชาชีพอื่นๆ ซึ่งรัฐบาลจัดเตรียมไว้ให้
เน้นส่งเสริมคุณภาพครู
ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ คุณภาพของครู ครูในสิงคโปร์จะได้รับการฝึกเพิ่มเติมปีละ 100 ชั่วโมง และสามารถรับมือการสอนเด็กชั้นเรียนละ 36 คน ซึ่งมีเด็กมากกว่าชั้นเรียนของประเทศที่พัฒนาแล้ว
ซึ่งการให้ครูที่มีความเป็นเลิศสอนเด็กห้องรียนใหญ่ ย่อมต้องดีกว่าให้ครูธรรมดาสอนเด็กห้องเรียนเล็กมากมายนัก
ครูที่ต้องการคำยกย่องสรรเสริญ แต่ไม่ต้องการตำแหน่งผู้บริหาร ย่อมกลายเป็น ‘ครูที่ยอดเยี่ยม’ และสามารถช่วยพัฒนาเพื่อนครูด้วยกันให้เก่งยิ่งๆขึ้นไปอีก ครูเก่งๆของสิงคโปร์จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการกระทรวงศึกษาธิการ และรับโบนัสก้อนโต นอกเหนือจากเงินเดือนที่ไม่น้อยหน้าครูโรงเรียนเอกชน

มุ่งการประยุกต์ใช้ในโลกแห่งความเป็นจริง
และภายในปี 2023 นี้ โรงเรียนแทบจะทั่วทั้งสิงคโปร์จะต้องเข้าร่วมโครงการ ‘Applied Learning’ วิชาต่างๆ อาทิเช่น คอมพิวเตอร์ หุ่นยนต์ อีเลคโทรนิกส์ รวมทั้งวิชาการละครและกีฬา ในบรรยากาศจำลองแบบเสมือนจริง โดยไม่ต้องสอบ
ที่โรงเรียนมัธยมศึกษา Deyi มีการสอนวิชาสื่อสารมวลชนเพื่อปรับปรุงทักษะการสื่อสารของนักเรียน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการสิงคโปร์ถึงกับจ้างพนักงานแนะแนวเกี่ยวกับอาชีพ 100 อัตรา ที่ผ่านการทำงานในอุตสาหกรรมดังกล่าว เพื่อมาทำงานร่วมกับโรงเรียน นัยว่าเพื่อกระจายความนิยมทางด้านอาชีพ ซึ่งเป็นที่นิยมอยู่เพียงไม่กี่อาชีพ ได้แก่ วิชาชีพแพทย์ นายธนาคาร และการรับราชการ
เป้าหมายของการศึกษาในสิงคโปร์แต่ละช่วงชั้น นักเรียนประถมจะต้อง ‘รู้จักและรักชาติ’ นักเรียนมัธยมจะได้รับการสอนให้ ‘เชื่อมั่นในชาติและเข้าใจว่าอะไรสำคัญสำหรับชาติ’ ส่วนนักศึกษามหาวิทยาลัยจะต้องจบการศึกษาพร้อมกับแนวคิดว่า ‘ภูมิใจในความเป็นสิงคโปร์และเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชาติกับโลก’
ภาษาอังกฤษเป็นกุญแจสำคัญ

เป็นที่ทราบดีว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ และพหุวัฒนธรรม เพราะฉะนั้นในการจะสร้างระบบการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ขึ้นมา รัฐบาลจึงมุ่งเน้นการใช้ระบบทวิภาษา (Bilingual)
โดยรัฐบาลสิงคโปร์เล็งเห็นความสำคัญของภาษาอังกฤษ ในฐานะหนึ่งในห่วงโซ่สำคัญที่เชื่อมโยงผู้คนในสังคมพหุวัฒนธรรม ทั้งยังเป็นทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่ล้ำค่าในระดับชาติและระดับสากล
การที่รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการใช้ภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ต้น จึงกลายเป็นแต้มต่อที่สำคัญสำหรับชาวสิงคโปร์ ที่เอื้อให้พวกเขามีโอกาสใหม่ๆ ทั้งในด้านการศึกษา การทำงาน การปรับตัวทางวัฒนธรรม ซึ่งจำเป็นมากสำหรับโลกยุคใหม่
แม้ว่าในยุคหนึ่งจะมีผู้คนพูดถึงสำเนียง Singlish ซึ่งเป็นภาษาอังกฤษสำเนียงสิงคโปร์ก็ตาม แต่นั่นคือเมื่อหลายทศวรรษที่แล้ว มาทศวรรษนี้ชาวสิงคโปร์รุ่นใหม่สามารถก้าวข้ามสำเนียงดังกล่าว และสามารถพูดภาษาอังกฤษได้เหมือนเจ้าของภาษาเลยทีเดียว