เพราะความเชื่อที่ว่า ‘การศึกษาสามารถเปลี่ยนชีวิตคนให้ดีขึ้นได้’ ทำให้สองคู่หูทั้งคุณบิ๊ก-ฐิติพงศ์ พิสิฐวุฒินันท์ และคุณนัท-เอกฉัตร อัศวรุจิกุล ตัดสินใจทำสตาร์ทอัพเกี่ยวกับการศึกษาเป็นแหล่งรวมคอร์สออนไลน์ชื่อว่า SkillLane ขึ้น ในวันที่สตาร์ทอัพชื่อดังอย่าง Uber และ Airbnb เพิ่งเปิดตัวได้ไม่นาน ระหว่างที่สองบัณฑิตหนุ่มเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ กำลังเรียนปริญญาโท MBA ที่ Kellogg สหรัฐอเมริกานี่เอง ที่พวกเขาพบแรงบันดาลใจในการเปิดคอร์สออนไลน์อย่าง SkillLane ขึ้นที่นั่น
แรงบันดาลใจในการทำคอร์สออนไลน์ SkillLane เกิดจากการที่คุณนัทอยากเรียนวิชาหนึ่งแต่เรียนไม่ได้ เนื่องจากอุปสรรคเรื่องเวลา “มีอยู่ครั้งหนึ่งที่มีอาจารย์ข้างนอกมาสอนเรื่อง Financial Modelling และเพื่อนก็ย้ำนักย้ำหนาว่าคลาสนี้พลาดไม่ได้นะ เพราะดีมาก แล้วพอดีผมติดธุระไปเรียนไม่ได้ เสียดายมาก แต่ผมมาพบทีหลังว่ามีคลาสออนไลน์เหมือนกันเลย ก็เลยเหมือนจุดที่ทำให้เราเข้าใจว่าถ้าเราเรียนในห้องเรียนไม่ได้หรือไม่สะดวก เวลาว่างเราไม่ตรง เราไม่สามารถนั่งเรียนได้ทั้งวัน ก็เรียนออนไลน์ได้
“หลังจากนั้นไม่ว่าวิชาอะไรที่อยากเรียนก็จะเสิร์ชหาในออนไลน์ ซึ่งมีทุกอย่างเลยไม่ว่าจะเป็น Data Science หรือ Digital Marketing ผมได้ความรู้เยอะมากจากการเรียนออนไลน์ เพราะสะดวก เราสามารถใช้ชีวิตประจำวันของตัวเองไป และตอนเย็นก็ใช้เวลาแค่ 20 นาทีเพื่อเรียนหนึ่งบท ทำให้เราได้ทักษะใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ มากมาย เพราะมี discussion board ที่สามารถโต้ตอบกับครูได้ ก็คิดว่าเราอยากให้มีในประเทศไทยบ้าง”

สองหนุ่มเริ่มต้นทำคอร์สออนไลน์กันเอง โดยยังไม่มีโปรแกรมเมอร์ อาศัยว่าคุณบิ๊กเคยเรียนเขียนโค้ดดิ้งอยู่สามเดือน ทำให้พอมีความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีอยู่บ้าง จึงเขียนเว็บขึ้นเอง จากนั้น ลอนช์ Prototype เพื่อทดลองตลาดดูก่อน โดยที่พวกเขาเลือกสอนวิธีใช้โปรแกรม Microsoft Excel และเขียนเนื้อหาการสอนเอง ถ่ายทำและตัดต่อเอง โพสต์เอง และปล่อยให้ดูฟรี โดยให้คุณนัทเป็นผู้สอน ซึ่งปรากฏว่าฟีดแบคดีมาก และยังมีคนดูวิดีโอวิชานี้จนถึงทุกวันนี้
คุณบิ๊กบอกเราว่า “คอร์สนั้นมีคนดูเกือบพันคน แล้วทุกคนเรียนอย่างจริงจังด้วย ส่งอีเมลมาถามคนสอนว่า ผมทำตามแล้วมันติดตรงนี้ๆ ต้องแก้ไขยังไง ทำให้เรารู้ว่าจริงๆ คนไทยมีความต้องการเรียนคอร์สออนไลน์อยู่มาก ก็เลยคิดว่าน่าจะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต หลังเรียนจบพวกเราจึงกลับเมืองไทยเพื่อทำธุรกิจนี้แบบเต็มตัว”
หลังจากสอนฟรีมาระยะหนึ่ง จนปลายปี 2014 พวกเขาจึงลองเปิด SkillLane คอร์สออนไลน์ที่ต้องเสียเงินแบบ pay per course ดูบ้าง เพราะเริ่มมีความต้องการเรียนวิชาที่หลากหลายขึ้น เขาอาศัยวิธีประชาสัมพันธ์ SkillLane แบบปากต่อปาก เริ่มทาบทามอาจารย์เก่งๆมาสอน แม้ว่าจะยังโนเนมอยู่ก็ตาม
“เราเชื่อในทฤษฎีโดมิโน โดมิโนตัวหนึ่งสามารถผลักตัวใหญ่กว่ามันได้ 1.5 เท่า ถ้าโดมิโนล้มต่อกันไปเรื่อยๆ มันจะล้มไปจนกว่าจะไม่มีโดมิโนเหลืออยู่อีก ด้วยแนวคิดนี้ถ้าวันแรก SkillLane เชิญอาจารย์ที่มีชื่อเสียงมากๆ เขาอาจไม่มาทำกับเรา แต่เราก็ไม่ท้อหาไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่งเราไปถึงจุดที่กล้าชวนผู้เชี่ยวชาญมาสอน ทำให้เราสามารถขยายคอร์สออนไลน์ได้มากขึ้นเรื่อยๆ”

เป้าหมายของ SkillLane คือการเป็น First Destination of On Demand Skill ที่มุ่งเน้นกลุ่ม Young Professional อายุ 20-35 ปี ซึ่งบัดนี้เขาเข้าใกล้เป้าหมายไปได้มากแล้ว ล่าสุด SkillLane เปิดสอนคอร์สออนไลน์มากถึงพันกว่าคอร์ส มีคนเรียน 3 แสนกว่าคน ผ่านการระดมทุนมาแล้ว 3 รอบ ที่สองหนุ่มไม่ขอเปิดเผยมูลค่า แต่มีนักลงทุนใหญ่ๆอย่าง 500 Startups,Stock2morrow หรือคุณต๊อบ เถ้าแก่น้อย มาร่วมเป็นนักลงทุนด้วย อีกทั้งยังร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดหลักสูตรปริญญาโทออนไลน์ชื่อ TUXSA อีกทั้งธนาคารกสิกรไทยยังมาซื้อคอร์สเกี่ยวกับพัฒนาองค์กร เพื่อเสริมความรู้ให้กับพนักงานของตน
ถามว่าแหล่งรวมคอร์สออนไลน์ SkillLane มีคู่แข่งไหม คุณบิ๊กบอกเราว่า “ใน youtube ซึ่งเปิดมาก่อนเราตั้งนานมีวิชาฟรีมากมาย แต่ทำไม SkillLane ยังแจ้งเกิดได้ ก็เพราะเราคัดเลือกมาแล้วว่าคนที่จะมาสอนต้องเก่งจริงและรู้ลึกในเรื่องที่สอน มีการเรียบเรียงโครงสร้างวิชาว่า ถ้าอยากเรียนรู้เรื่องนี้เขาควรเริ่มเรียนแบบไหน แล้วค่อยๆพัฒนาไปอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จนตอนนี้เรามีให้ทำ pre-test และ post-test เพื่อดูว่าผู้เรียนพัฒนาขึ้นหรือเปล่า”
คุณนัทเสริมว่า “ตอนนี้ทุกอาชีพถูก disrupt ทั้งนั้น ทุกคนต้องพัฒนาตัวเองขนานใหญ่ ซึ่งผมคิดว่า SkillLane ยังไปได้อีกไกล เพราะไม่ว่าความรู้อะไรที่เรารู้เมื่อปีที่แล้ว มาวันนี้อาจใช้ไม่ได้แล้วก็ได้ ซึ่งถ้าต้องเรียนในห้องเรียนคงไม่สะดวก SkillLane ตอบโจทย์ผู้เรียนตรงนี้ครับ”