Home > Education > มารู้จัก ดร.ธีระพงศ์ ยะทา ผู้นำแนวคิดใหม่ทางสายวิทย์ Scientist Entrepreneur จาก Imperial College

จุดหักเหที่ทำให้เขาพาชีวิตมาได้จนถึงจุดนี้ ก็เมื่อเขาได้รับทุนรัฐบาลไทยไปเรียนปริญญาโทและเอกเรื่องนาโนเทคโนโลยีที่ Imperial College  กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ  เพราะที่นี่เองที่ ดร.ธีระพงศ์ ยะทา ได้บ่มเพาะทักษะความเป็นนักธุรกิจควบคู่ไปกับการเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดี

“ผมไม่ได้เป็นแค่นักวิทยาศาสตร์ แต่เป็น Scientist Entrepreneur นักวิทยาศาสตร์ที่มีความเป็นผู้ประกอบการ เข้าใจแนวคิดทางธุรกิจที่มุ่งหน้าสร้างสินค้าใหม่ๆออกวางตลาด” ดร.ธีระพงศ์ ยะทา อาจารย์คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเจ้าของรางวัลศิษย์เก่าสหราชอาณาจักรดีเด่น สาขาผู้ประกอบการบอกกับเรา

จากเหนือสุดของประเทศ สู่ฝั่งตะวันตกของโลก

ดร.ธีระพงศ์เกิดและโตที่จังหวัดเชียงราย เขาจบมัธยมต้นจากโรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัยเชียงราย และมัธยมปลายที่โรงเรียนสามัคคีวิทยาคมเชียงราย

“ตอนเรียนม.ปลายผมมีโอกาสเข้าค่ายโอลิมปิกวิชาการ ระดับภาคเหนือ และได้เข้าโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งนำเด็กไปเทรนเพื่อจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทำให้ผมอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่นั้น พอม.6 ผมเลยตัดสินใจเรียนต่อคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในสาขาชีววิทยา เพราะได้ทุนพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์

ดร.ธีระพงศ์ ยะทา
ดร.ธีระพงศ์กับทีมวิจัย

“จากนั้นผมสอบชิงทุนรัฐบาลไปเรียนปริญญาโทและเอก ที่ Imperial College ตามความต้องการของศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ เพื่อเรียนสาขา Molecular Medicine ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคณะแพทยศาสตร์ ผมไม่ใช่แพทย์นะ แต่เป็นนักวิทยาศาสตร์ด้านการแพทย์ ศึกษาเรื่อง Nano delivery system ระบบนำส่งนาโน”

การสร้างทรัพย์สินทางปัญญา

ที่นี่เองที่เขาได้เป็นลูกศิษย์ของดร.อามิน ฮาจิโต และได้มีส่วนร่วมในงานวิจัยของอาจารย์ท่านนี้ เป็นการเปิดโลกใหม่ให้เขาได้รู้จักเรื่องสิทธิบัตร และทรัพย์สินทางปัญญา

“โชคดีที่ผมได้ซูปเปอร์ไวเซอร์ที่ดีมาก ดร.อามินไม่ได้มองว่าผมเป็นนักเรียน แต่เหมือนเราเป็นเพื่อนร่วมงาน ตลอดเวลาที่มีผลงานวิชาการออกมา เขาจะแบ่งรายได้ให้นักเรียนอย่างผมด้วยมากถึง 20% ทั้งที่ปกตินักเรียนได้แค่ 5%  ซึ่งแฟร์มาก เป็นครั้งแรกที่ผมรู้จักการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เขาพาผมไปคุยกับนักกฏหมาย และหมอ ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับผม เขาเรียกว่าเป็น ecosystem ที่ไม่ใช่ให้เราเป็นแค่นักวิทยาศาสตร์ แต่มีความเข้าใจเรื่องธุรกิจด้วย

ดร.ธีระพงศ์ ยะทา
ดร.ธีระพงศ์กับดร.อามิน ฮาจิโต โปรเฟสเซอร์แห่งอิมพีเรียลคอลเลจที่เปิดโลกทรัพย์สินทางปัญญาให้กับลูกศิษย์อย่างเขา

“ซึ่งถ้าบริษัทไหนสนใจใช้งานวิจัยของเราไปใช้ในธุรกิจ เขาจะติดต่อ Imperial Innovation และถ้าเขาทำแล้วขายได้ ทาง Imperial College จะจ่ายค่าลิขสิทธิ์เรา ซึ่งบางทีเราก็ลืมไปเลย (หัวเราะ) ตอนเรียนผมได้จดสิทธิบัตรเรื่องการใช้ไวรัสของแบคทีเรียที่ไม่ก่อโรคในมนุษย์ในการนำส่งยีนเพื่อรักษามะเร็ง และเป็นวิทยานิพนธ์ตอนผมจบเอกด้วย”

5 ปีแห่งการสร้างนวัตกรรม

หลังจากจบปริญญาเอก เขากลับมาทำงานเป็นนักวิจัยที่ศูนย์นาโนฯ “ตอนนั้นจุดเด่นของผมคือการสร้างนวัตกรรมใหม่ แต่การทำวิจัยเรื่องไวรัสนำส่งยีนยังเป็น deep tech อยู่ เราต้องการทำวิจัยที่ใช้ได้จริงไม่ขึ้นหิ้ง ก็เลยต้องเปลี่ยนมาศึกษาเรื่องระบบนำส่งนาโนในการส่งวัคซีนสมุนไพรในสัตว์เศรษฐกิจแทน ก็เลยย้ายมาทำด้านนี้ และได้มีโอกาสร่วมงานกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ”

ผลงานที่สร้างชื่อให้เขาก็คือ วัคซีนในปลานิล “เราได้โจทย์จากเอกชนมาว่า มีโรคในปลานิลที่ต้องรักษาด้วยวัคซีน แต่ทีนี้ปลาบ่อหนึ่งมีเป็นหมื่นๆตัว ฉีดทีละตัวคงไม่ไหว ผมก็เลยทำนาโนวัคซีนที่สามารถโรยในบ่อปลาโดยไม่ต้องฉีด”

โชว์วัคซีนปลานิลที่ต่อยอดจากผลงานวิจัยทางนาโนเทคโนโลยี

ห้าปีที่เขาทำงานในศูนย์นาโนฯ ดร.ธีระพงศ์สามารถจดสิทธิบัตรได้ราวสิบกว่าเรื่อง มีผลงานทางด้านวิชาการที่ได้ตีพิมพ์อีกมากมาย “สมัยเรียนอาจารย์ให้เราเขียนเอง พอมาทำงานที่ไทยผมเลยสามารถทำได้ ในขณะที่คนจบปริญญาเอกคนอื่นไม่เคยมีโอกาสทำ แต่เหมือนอิมพีเรียลบ่มเพาะเรื่องนี้ให้เราแล้ว เราก็ต่อยอดเป็นหัวหน้าโครงการได้เลย

“เผอิญจุฬาฯ มีโมเดลใหม่ที่เปิดกว้างให้อาจารย์ทำธุรกิจโดยใช้องค์ความรู้ของตัวเอง ผมเลยย้ายมาเป็นอาจารย์ที่คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯเสียเลย แล้วก็หยิบผลงานสมัยเรียนมาใช้ที่นี่ ทำให้นิสิตเรียนรู้ว่าการทำโปรดักท์ต้องขายได้จริง กลายเป็นความท้าทายใหม่ที่เราต้องทำให้เกิดขึ้น

ด็อกเตอร์คนเก่งเจ้าของนิยาม Scientist Entrepreneur

 

“สำหรับคนที่ไม่ชอบเรื่องธุรกิจ ก็อยู่ในห้องแล็บไป อาจไม่ต้องขายของ แต่ต้องเข้าใจว่า pain point ของผู้ประกอบการคืออะไร สิ่งหนึ่งที่ผมเจอคืออาจารย์หรือมหาวิทยาลัยในไทยมักทำวิจัยเรื่องที่ตัวเองอยากทำ หรือค้นผลงานตีพิมพ์ทางวิชาการที่ยังไม่มีคนทำ ซึ่งถ้าเป็นสิ่งที่ตลาดไม่ต้องการก็เปล่าประโยชน์ ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ผู้ประกอบการ จึงต้องหาความต้องการของตลาดให้เจอ แล้วมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ pain point ดีกว่า อย่าคิดเอาเอง”

แนวคิด Scientist Entrepreneur เป็นแนวคิดใหม่ที่เพิ่งเป็นที่รู้จักเมื่อไม่นานมานี้ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์ยุคเก่าบางท่านเมื่อคิดค้นผลงานทางวืทยาศาสตร์ได้แล้ว ไม่สามารถนำมาสร้างธุรกิจเพื่อทำเงินได้ และโดยมากอยู่แต่ในแวดวงการศึกษา ดังนั้นสถาบันการศึกษาชั้นนำในโลกตะวันตกบางแห่งจึงริเริ่มที่จะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่จัดการขายลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาเหล่านี้ เพื่อช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ทั้งยุคเก่ายุคใหม่สามารถทำเงินจากผลงานที่คนเองมีส่วนร่วมได้

เราขอให้ดร.ธีระพงศ์ทิ้งท้ายถึงเยาวชนรุ่นใหม่สักหน่อย เกี่ยวกับการเรียนและการงาน ซึ่งเขาพูดได้อย่างน่าคิดว่า “ทุกคนไม่จำเป็นต้องเป็นนักวิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ขอแค่ได้เลือกสิ่งที่อยากทำ เพราะถ้าเราไม่อยากถึงทำไปก็คงไม่มีความสุข เพราะฉะนั้นเลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบและถนัดที่สุด และทำให้ดีเท่านั้นเองครับ”

 

 

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.