Home > Education > คนแรก ! เด็กไทยเจ้าของผลงานทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติ

เด็กหนุ่มวัย 20 ปีจากจังหวัดเชียงราย เฝ้ามองท้องฟ้าพร้อมกับฝันเงียบๆ ว่าสักวันหนึ่งเขาจะเดินทางไกลไปถึงอวกาศ วันนี้ความฝันของ น้องมอส-วรวุฒิ จันทร์หอม ขยับเข้าไปใกล้อีกนิด เมื่อผลงาน “การโค้งของผิวของเหลวในอวกาศ”(Capillary in Zero gravity) ของเขา ได้รับการคัดเลือกจากองค์การสำรวจอวกาศญี่ปุ่น หรือแจ๊กซ่า (Japan Aerospace Exploration Agency: JAXA) ให้นำไปทดลองจริงในสภาวะไร้น้ำหนักบนสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) ความพิเศษของโครงการในปี 2559 ก็คือ เป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้เยาวชนที่ผ่านการคัดเลือกเข้ารับชมการถ่ายทอดสดการทดลองทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่น ผ่านห้องบังคับการที่ศูนย์อวกาศสึคุบะ (Tsukuba Space Center) ประเทศญี่ปุ่น โดยน้องมอสเป็นเด็กไทยคนเดียวในบรรดาเยาวชนที่ได้รับคัดเลือกทั้งหมด 5 ประเทศ และมีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมหลักสูตรการฝึกเป็นมนุษย์อวกาศระยะสั้น 1 วันอีกด้วย

จุดประกายจากค่ายดาราศาสตร์
น้องมอสเริ่มต้นพูดคุยด้วยการแนะนำตัวว่า ตนเป็นชาวอำเภอเทิง จังหวัดเชียงราย เรียนชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนเทิงวิทยาคม ก่อนจะย้ายมาเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เชียงราย ซึ่งเป็นโรงเรียนวิทยาศาสตร์ภูมิภาค
พ่อแม่มีอาชีพทำนา และมีพี่ชายหนึ่งคนเป็นครูสอนวิทยาศาสตร์

“จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมสนใจเรียนวิทยาศาสตร์ เกิดจากตอนอยู่ชั้น ม.1 ครูวิทยาศาสตร์จะเข้มเรื่องการทำโครงงานวิทยาศาสตร์มาก ทำให้รู้สึกสนใจและฝันว่าอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ต่อมาได้เข้าค่ายดาราศาสตร์ของโรงเรียน ก็เริ่มหันมาสนใจเรื่องอวกาศตั้งแต่นั้นมา จริงๆ แล้วผมอยากเข้าร่วมโครงการกับ สวทช. มาตั้งแต่เรียนอยู่ ม.2 แต่ไม่ได้รับเลือก กระทั่งสุดท้ายได้มาเรียนชั้น ม.4 ที่โรงเรียนจุฬาภรณ์ราชวิทยาลัย เชียงราย และสอบเข้าโครงการพัฒนาอัจฉริยะภาพทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Junior Science Talent Project หรือ JSCP) รุ่นที่ 16 ได้รับทุนงานวิจัยถึงระดับปริญญาเอก

“ตอนนี้ผมเรียนอยู่ชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เดิมผมอยากเข้าเรียนวิศวกรรมการบินและอวกาศ ที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง แต่พอศึกษาข้อมูลดูแล้วเป็นส่วนหนึ่งของภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล จึงเลือกเรียนที่ มจธ. เพราะมีการวิจัยมาก การที่เข้ามาเรียน มจธ. ถือว่ามาเรียนถูกทางแล้ว ตรงกับที่เราชอบ เพราะเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศ ความฝันสูงสุดของผมคืออยากเป็นนักบินอวกาศครับ”

หลายคนอาจคิดว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องไกลตัว แต่สำหรับน้องมอส วิทยาศาสตร์อยู่รอบตัวเรา ขอเพียงรู้จักสังเกตและตั้งคำถามเพื่อหาคำตอบ นำไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง เป็นที่มาของแนวคิดในการทดลองครั้งนี้ ที่น้องมอสออกแบบเอง ซึ่งเกิดจากการสังเกตว่า ทำไมของเหลวที่อยู่ในภาชนะที่มีลักษณะเป็นหลอด ผิวของน้ำจึงมีลักษณะแตกต่างกัน

“จุดเริ่มต้นของการทดลองเกิดขึ้นจากการทำแล็บในห้องเรียน ผมสังเกตว่าของเหลวที่อยู่ในภาชนะที่มีลักษณะเป็นหลอด มักจะเปลี่ยนรูปไปตลอด ผิวของน้ำจะมีลักษณะแตกต่างกัน บางผิวมีลักษณะเว้าขึ้น บางผิวมีลักษณะเว้าลง ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนในการอ่านข้อมูล ผมจึงเริ่มหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูลต่างๆ เพื่อนำมาสนับสนุนการทดลองในครั้งนี้ และพบว่าความเว้านูนของน้ำขึ้นอยู่กับแรง adhesive และ cohesive ซึ่งในสมการจะมีแรงเนื่องจากแรงโน้มถ่วงอยู่ในสมการ ผมสงสัยว่าถ้าทดลองในสภาวะไร้น้ำหนัก ลักษณะของผิวของเหลวจะเป็นอย่างไร โดยการทดลองจะนำของเหลวต่างชนิดกันมาบรรจุในเข็มฉีดยา (Plastic syringe) จากนั้นสังเกตผิวของของเหลวแล้วนำมาเปรียบเทียบกับการทดลองบนโลก ผมจึงส่งโครงการนี้เข้าประกวดในช่วงเรียนชั้นปี 1 เทอม 2 บวกกับนาซาเองก็ให้ความสนใจเรื่องของเหลว เพราะเขาต้องขนส่งเชื้อเพลิงอย่างน้ำมันไปบนอวกาศ จึงอยากรู้ว่าบนอวกาศที่ไร้แรงโน้มถ่วงนั้น ของเหลวเหล่านี้จะเป็นอย่างไร เลยเลือกเอาน้ำเปล่า น้ำผลไม้ และน้ำมันใส่ลงในเข็มฉีดยาพลาสติกมาทดลองครับ”

“สำหรับผม นี่เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะสิ่งที่เราคิดได้ถูกนำไปทดลองในอวกาศจริงๆ และน้อยคนมากที่จะได้มีโอกาสเข้าไปในห้องควบคุมของแจ๊กซ่า ผมยังได้โอกาสจับมือมนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งกลับจากท่องอวกาศด้วย รู้สึกประทับใจมาก ประสบการณ์ครั้งนี้ยิ่งทำให้ผมชัดเจนในตัวเองมากขึ้นว่าอยากทำงานด้านนี้จริงๆ ครับ”

…………………………………………………………………………………………….

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ใน HELLO! Education 2017 วางแผงพร้อม HELLO! ปีที่ 12 ฉบับที่ 9 วันนี้ที่ร้านหนังสือทั่วประเทศ

หรือ https://shop.burdathailand.com/

http://www.ookbee.com/Shop/Issue?magid=HELLO

Tags
education
Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.