สร้างเสียงฮือฮาจากเวทีแข่งขันมาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ ไทยแลนด์ ซีซันแรก ว่าน้องเซน-ภูรินทร์ ฉัตรเฉลิมชัย เป็นเชฟเด็กที่สามารถเข้ารอบ 5 คนสุดท้าย แถมยังรูปหล่อสูงยาวเข่าดีจนมีแฟนคลับตามส่องมากมาย แต่ใครจะไปทราบว่าอีกด้านหนึ่งน้อง เซน มาสเตอร์เชฟ จูเนียร์ นั้นเป็นสาวกคนรักสัตว์แปลก อย่างงูและตุ๊กแก ซึ่งเป็นสัตว์ชวนสยองสำหรับคนทั่วไป
เราจึงไปพูดคุยกับตุณแม่กระแต-อรนุช ฉัตรเฉลิมชัย ว่าเพราะอะไรน้องเซนถึงอยากเลี้ยงสัตว์เลื้อยคลาน
“แม่ผมอยากเลี้ยงงู” คำถามนี้อาจเป็นคำถามที่ผู้ปกครองบางคนอาจพบเจอ และเป็นบททดสอบตบะว่าคุณแม่จะยิ้มรับหรือกรี๊ดแตกดีหรือเปล่า คุณกระแตจึงอึ้งเล็กน้อย เมื่อลูกชายมาขออนุญาตเธอเลี้ยงงู ตุ๊กแก เต่า และกิ้งก่า ในบ้าน
“ตอนเซนขอครั้งแรกบอกลูกว่าอาม่าคงไม่ไหว เพราะมันดูน่ากลัว เขาก็ไปค้นข้อมูลมาให้ดูเลยว่า เป็นพันธุ์ที่ไม่อันตรายต่อคนเลี้ยง ถามว่าแล้วมันกินอาหารแบบไหน เขาก็บอกกินหนู แล้วจะไปเอาหนูจากไหน เขาบอกว่ามีฟาร์มที่เพาะหนูขาย เราก็แค่คีบมาขยับขึ้นๆลงๆให้เหมือนมีชีวิต มันจะงับแล้วค่อยๆกลืนลงท้อง
“เวลามีงานโชว์สัตว์เลี้ยงตามห้างที่มีฟาร์มงูมาออกบูธ เอางูมาให้เด็กจับ เป็นพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงในหมู่คนที่ชอบ เวลาไปงานเซนก็จะขอไปมุมนี้เพื่อเล่นกับงู ให้งูพันคอ แล้วเขาก็มีรุ่นพี่ไฮสคูลที่โรงเรียนชอบสัตว์เหล่านี้ เลี้ยงเยอะกว่าน้องเซนอีก เวลาโรงเรียนมีงานแฟร์เขาจะเอางูมาโชว์เป็นตู้ๆ ให้รุ่นน้องดู เซนจะชอบคุยกับพี่คนนี้ว่าเลี้ยงยังไง ตอนแรกคนเป็นแม่ก็ทำใจลำบาก กลัวเพราะเราไม่มีความรู้”

ทางออกของการหาสัตว์เลี้ยงคู่ใจ
“ตอนเล็กๆเซนเขาก็ชอบหมาแมวนะคะ ตอนอยู่บ้านหลังเก่าก็เคยเลี้ยงแล้วตาย พอย้ายมาบ้านหลังปัจจุบัน เขาก็อยากเลี้ยงหมา แต่ก็บอกเขาว่าถ้าหนูอยากเลี้ยงหนูก็ต้องตามเก็บฉี่เก็บอึมันด้วยนะลูก เขาก็อึ้งไปบอกว่ารอก่อนก็ได้ แล้วจากนั้นก็เลยเบนเข็มมาที่สัตว์เลื้อยคลานเพราะไม่ต้องการการดูแลมาก และเขาก็ชอบด้วย ก็เลยอนุญาต” คุณกระแตบอกกับเรา
“ทีแรกก็ขอเลี้ยงกิ้งก่าก่อน แล้วมันตายเพราะถูกกัดลิ้นขาด ทำให้เซนเสียใจโทษตัวเองว่าไม่รอบคอบปล่อยให้มันหลุดไปโดนกัด ตั้งแต่เขาเกิดมาเราไม่เคยเห็นเขาร้องไห้หนักมากขนาดนั้นมาก่อนเลย” แต่จากนั้นน้องเซนก็ยังคงเลี้ยงเต่า เลี้ยงตุ๊กแกเสือดาว เรื่อยมาจนกระทั่งเลี้ยงงู ทั้งงู Corn Snake ชื่อคิริ กับคาปูที่ได้ชื่อจากสีน้ำตาลเหมือนคาปูชิโน ซึ่งเป็นพันธุ์ Western Hognose Snake
“เรากับงูของเขาอยู่แบบมีระยะห่าง และเซนก็ไม่ได้เอางูมานั่งเล่นกลางบ้าน ไม่ได้มาแหย่คนอื่น ถึงเวลาเขาก็ไปอยู่ในมุมของเขา ให้อาหารและเล่นกับมันบ้าง แต่สัตว์พวกนี้ไม่จำเป็นต้องเล่นบ่อย พอจบกิจกรรมปุ๊บเขาก็ไปทำอย่างอื่น เรียกว่าเป็นส่วนหนึ่งในกิจวัตรประจำวันของเขาไปแล้ว ซึ่งก็เป็นกิจกรรมที่ดีกว่าไปดูทีวีหรือเล่นเกมส์ ถึงแม้ว่ามันจะไม่ใช่สัตว์เลี้ยงน่ารัก”

Tips from the Experts
เลี้ยงสัตว์ให้โตไปพร้อมลูกดีหรือไม่
สำหรับผู้ปกครองที่ต้องการเลี้ยงสัตว์ให้โตไปพร้อมกับลูก จากข้อเขียนของคุณหมอต้าบอกว่า การเลี้ยงสัตว์พร้อมกับลูกมีทั้งดีและไม่ดี ขึ้นอยู่กับเจ้าของ ขึ้นชื่อว่าข้อดีแน่ๆเลยคือช่วยให้ลูกมีจิตใจอ่อนโยน มีภูมิคุ้มกันจากเชื้อโรคอ่อนๆที่อยู่ในสัตว์เลี้ยง และอย่าไปเชื่อว่าขนสัตว์จะทำให้ลูกเป็นภูมิแพ้ ซึ่งความจริงแล้วภูมิแพ้มาจากกรรมพันธุ์
ส่วนข้อเสียก็เช่น หากไม่ดูแลอาบน้ำแปรงขนก็อาจทำให้มีเชื้อแบคทีเรียมาก จนลูกมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ รวมทั้งเห็บหมัดที่อาจกัดทำให้เป็นแผลติดเชื้อได้ ควรให้ช่วงเวลาที่ลูกคุณอยู่กับหมาแมวไม่ห่างสายตาได้ จะดีที่สุด เพราะใครจะรู้วาหมาแมวที่เลี้ยงมาพร้อมกับลูกโตขึ้นจะมีนิสัยอย่างไร หากหมาแมวถูกละเลยบ่อยๆ ก็จะมีนิสัยก้าวร้าว

5 เรื่องที่ผู้ปกครองควรทราบก่อนเซย์เยสให้ลูกเลี้ยงสัตว์
แต่หากปล่อยให้ลูกคุณโตขึ้นอีกนิด แล้วค่อยมาพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งดร.สุพาพร เทพยสุวรรณ ให้ความเห็นว่า การจะไฟเขียวให้ลูกเลี้ยงสัตว์หรือไม่นั้น มี 5 เรื่องที่ผู้ปกครองต้องรับทราบดังนี้
1.ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้น ต้องมีความพร้อมในเรื่องของเวลา การเงินและสถานที่ ต้องมั่นใจว่าจะสามารถดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ไปสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้อื่น
2.ให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย ต่อสุขภาพของเจ้าของ และต่อสัตว์เลี้ยงเอง
3.ต้องทดสอบใจลูกก่อนว่าพร้อมจะรับมือกับความรับผิดชอบที่เพิ่มเข้ามาได้หรือไม่ อาจเริ่มชิมลางด้วยการให้ลูกรับผิดชอบเรื่องงานบ้านบางอย่าง เพื่อทดสอบความตั้งใจในการเลี้ยงสัตว์ของเขา
4.ควรให้เด็กได้มีส่วนตัดสินใจว่าจะเลี้ยงสัตว์พันธุ์อะไรด้วยตัวเอง เพื่อให้ได้สัตว์ที่เขาชอบจริงๆ ไม่อย่างนั้นเขาจะทิ้งขว้างไม่ดูแล
5.การมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนเล่น สามารถกล่อมเกลาจิตใจและเสริมสร้างพัฒนาการทางด้านอารมณ์ ความคิด และจิตใจเด็กได้เป็นอย่างดี ทำให้เด็กเรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจ เห็นคุณค่าในตัวเองและผู้อื่น ซึ่งเป็นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ดียิ่งขึ้น
ที่มา: becommon.co , mgronline.com