Home > Education > หมวก 2 ใบของนักบริหารเวลาขั้นเทพ ‘ฟรัง Hormones’ หรือ ‘นรีกุล เกตุประภากร’

ใครที่ติดตามซีรีส์ Hormones วัยว้าวุ่น ซีซั่น 2 และ 3 คงจะสะดุดสายตากับ หญิงสาวหน้าตาจิ้มลิ้มที่รับบท ‘ออย’ ( ฟรัง Hormones ) ซึ่งเป็นบทที่แจ้งเกิดให้กับ ‘คุณฟรัง-นรีกุล เกตุประภากร’ ดังเป็นพลุแตกเทียบเท่า นักแสดงรุ่นพี่ๆ ซึ่งในวันที่นักเรียนห้องคิงแห่งโรงเรียน เตรียมอุดมศึกษาตัดสินใจเข้าวงการบันเทิงนั้น ก็เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เธอสอบเข้าเป็นนักเรียนแพทย์แห่ง คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พอดี ซึ่งเธอต้องแบ่งเวลาให้กับกิจกรรมทั้งสองอย่างนี้ด้วยความระมัดระวัง

ฟรัง Hormones

“ช่วงนั้นฟรังทั้งติวสอบเข้าหมอทุกวิชา ทั้งเป็นดรัมเมเยอร์ ทั้งเล่นฮอร์โมนส์ไปด้วย เพราะเราเล่นซีซั่น 2 ไปแล้ว เลยต้องเล่นซีซั่น 3 ด้วยถอนตัวไม้ได้ สี่ทุ่มเลิกกองถ่ายก็ต้องรีบกลับไปอ่านหนังสือต่อ บางวันถ่ายซีนตอนเช้าเสร็จ ถ่ายอีกทีตอนเย็น พอมีเวลาว่างก็ต้องอ่านหนังสือ เคยร้องไห้เหมือนกัน ‘ว่าทำไมเราต้องเจอเงื่อนไขยากๆแบบนี้ด้วย’ จนวันนี้ฟรังเรียนหมอมาสามปี ยังรู้สึกว่าตอน ม.6 เป็นช่วงเวลาที่เหนื่อยสุดแล้วในชีวิตนี้ เพราะเป็นความเหนื่อยทางด้านจิตใจด้วยว่า เราทุ่มขนาดนี้แล้วไม่รู้วาจะสอบติดหรือเปล่า เราจะเสียใจขนาดไหน ไม่มีทางรู้เลย เราแค่ทำให้ดีที่สุด”

“แต่การได้เล่นเรื่องฮอร์โมนส์เป็นโอกาสที่ดีมากๆ เพราะก่อนหน้านั้น ฟรัง ยังมีความเป็นเด็กมากทั้งเรื่องความคิด และความรับผิดชอบ แต่ที่นาดาวสอนว่าเราไม่ใช่เด็ก เราเป็นคนทำงาน ทำให้เรารู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่มาตั้งแต่นั้น และคุ้มค่ากับความเหนื่อยเพราะเป็นเส้นทางที่ดีต่อชีวิตเราทั้งสองทาง”

ฟรัง Hormones

มุ่งมั่นแน่วแน่ที่จะสวมเสื้อกาวน์

ส่วนเหตุผลที่ทำให้ฟรังมุ่งมั่นที่จะเรียนแพทย์ โดยเลือกสอบเข้าคณะนี้มากถึง 3 อันดับแรก และเผื่อใจให้กับ”คณะทันตแพทยศาสตร์” เป็นอันดับสุดท้าย ก็เพราะ “ที่อยากเป็นหมอ เพราะฟรังชอบเรียนชีววิทยา ประกอบกับเราเป็นคนขี้สงสาร ชอบช่วยเหลือคนอื่น” 

ในวันประกาศผลสอบ ปรากฏว่า ฟรังสอบติดแพทย์อันดับหนึ่งที่เลือกไว้ ทำให้เป็นข่าวดังขึ้นหน้าหนึ่งทุกสำนัก และยังคงเรียนไปด้วยทำงานวงการบันเทิงไปด้วยเหมือนเคย “ถึงจะเรียนหนักและทำงานไปด้วยฟรังก็สู้ค่ะ เพราะเรามีเป้าหมายชัดเจนว่าต้องเป็นหมอให้ได้ เราเห็นรุ่นพี่ๆที่เขาเรียนหนักเหมือนเราตอนนี้ เขาก็ยังผ่านไปได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ สู้หน่อยแล้วกัน”

ฟรัง Hormones

สำหรับการผ่าตัดอาจารย์ใหญ่ที่เป็นเหมือนไฮไลต์ ของการเป็นนักเรียนแพทย์ เธอรู้สึกเช่นไรกับวิชานี้ เจ้าของเกรด 3.5 เล่าบรรยากาศการเรียนให้เราฟังว่า “ฟรังไม่กลัวนะคะ ขนาดเพื่อนที่กลัวผีก็ไม่เป็นลม ประกอบกับเราอยู่กับสิ่งนี้อยู่แล้วด้วย เลยชินไปเอง เพราะถ้ากลัวคงไม่ได้เรียนรู้อะไร” เธอเล่าว่ากำลังจะได้ใส่เสื้อกาวน์สีขาวขึ้นวอร์ด เพื่อเรียนรู้จากผู้ป่วยจริงในโรงพยาบาล เป็นครั้งแรก ต้อนรับการเป็นนักเรียนแพทย์ปี 4 และจะเวียนไปตามแผนกต่างๆจนจบปี 6″

สำหรับการถอดใจกลางคันที่พบมากจนเป็น เรื่องธรรมดาของบรรดานักเรียนแพทย์ เธอบอกว่านั่นเป็นปัญหาของเด็กไทย ที่สมองดีเรียนได้ก็จริงแต่ใจไม่รักทำให้ คณะแพทย์ของเกือบทุกมหาวิทยาลัยแทบจะเป็นดงเด็กซึมเศร้า

“เป็นปัญหาของเด็กไทยบางคนที่ไม่รู้จักตัวเอง แต่เรียนตามเพื่อนหรือตามความต้องการของผู้ปกครอง ทำให้คณะแพทย์แทบเป็นดงเด็กซึมเศร้า ฟรังว่าคนที่จะเรียนแพทย์ได้ ต้องทุ่มเทจริงๆ เพราะแค่เรื่องเรียนก็กินเวลา 70% ของชีวิตไปแล้ว ถ้าเรียนหนักแล้วไม่ชอบอีกยิ่งจะไปกันใหญ่”

หมวก 2 ใบ ‘แพทย์ ‘กับ ‘นักแสดง’ 

แม้จะยังเรียนไม่จบ แต่ก็มีคนเรียกฟรังว่า’คุณหมอฟรัง’แล้ว ทำให้เธอต้องรีบปฏิเสธพัลวันว่าอย่าเรียกอย่างนั้น “ยังไม่อยากให้คนเรียกเราว่าหมอ เพราะถ้าเรียนไม่จบขึ้นมาจะทำยังไง” สาวฟรังพูดพลางหัวเราะร่วน “แต่คนก็เรียกจนเราชิน ทั้งข่าว ทั้งคอมเมนต์ในไอจีก็ตาม”

และการที่ยกให้เธอเป็นไอดอลเด็กเรียนเก่ง “ฟรังว่ามันขึ้นอยู่กับว่าเราใช้อะไรเป็นมาตรฐาน ถ้าวัดความเก่งเรื่องบินระหว่างปลากับนก ปลาก็คงโง่ตลอดกาล แต่ละคนก็มีพรสวรรค์และความถนัดต่างกัน สังคมไทยเน้นเรื่องเรียน ผลการเรียนใครดี คนจะชื่นชมว่าเป็นเด้กเก่ง เราไม่ควรคิดว่าตัวเองเก่งด้วย เพราะจะไม่พัฒนาตัวเอง”

แต่เมื่อถามฟรังว่าเธอยังอยากเป็นนักแสดงอยู่อีกไหม ฟรังหัวเราะพลางออกตัวว่า “ก็ยังทำงานได้อยู่ เพราะเสียดายน่ะค่ะ ฟรังสนุกที่ได้แสดง มันเป็นอีกชีวิตไปเลย ต่างจากการเรียนหมอ เราได้เจอคนอีกสังคมหนึ่ง คนอีกนิสัย การทำงานอีกแบบ งานแสดงให้โอกาสฟรังเยอะมาก ถ้าเรารักษางานแสดงเอาไว้ เวลาเป็นหมอกก็จะสามารถใช้ประโยชน์จากชื่อเสียงได้ เพราะเสียงเราจะดังกว่าคนทั่วไป มันมีอิทธิพลที่จะสร้างสิ่งดีๆได้ หมอที่เป็นที่รู้จักจะเสียงดังกว่าในความคิดของฟรัง”

แต่…ทุกอย่างต้องมีแต่ ฟรังบอกเราว่า ที่ผ่านมามีละครติดต่อมาหลายเรื่อง แต่เธอไม่สามารถรับงานได้ เพราะไม่สามารถขาดเรียนบ่อยๆได้ จึงเลือกรับเฉพาะงานแบบวันเดียวจบ

เคล็ดลับการแบ่งเวลาขั้นเทพของฟรัง

สำหรับการเรียนหมอไปด้วยทำงานแสดงไปด้วย ซึ่งล้วนเป็นกิจกรรมที่ต้องอาศัยความทุ่มเทและความสามารถ เราจึงขอให้สาวเก่งอย่างฟรังเผยเคล็ดลับให้น้องๆและผู้ปกครองสามารถนำไปปฏิบัติตามได้

“ด้วยความที่ฟรังนอนน้อยไม่ได้ เพราะจะเบลอไปเลยทั้งวัน ก็เลยต้องใช้วิธีทยอยอ่านหนังสือเอา และตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้มาก และหาแพสชั่นของตัวเองให้เจอ ทุกวันนี้ฟรังเสียดายที่ไม่เรียนดนตรีให้เก่งสักอย่าง ทั้งที่ตอนเด็กๆ เล่นหลายอย่างมาก พอโตขึ้นเรียนวิชาการหนัก เลยทิ้งดนตรีไปเลย

“ฟรังว่าสังคมไทยไม่เห็นความสำคัญของกิจกรรมนอกเวลา ไม่ว่าจะเป็นดนตรี กีฬา ศิลปะ หรือการทำอาหาร เราลองทำทุกอย่างให้สุดทางก็ย่อมได้ แต่สังคมไทยอาจไม่ได้มองว่าเป็นความสามารถ เรามองแค่เรื่องความเก่งทางวิชาการ เช่นพ่อแม่ของลูกที่ชอบเล่นเกมมักจะมองลูกอย่างห่วงๆ ว่าลูกติดเกม ทั้งที่ในบางแง่เกมก็มีประโยชน์ ก็ต้องเปิดใจคุยกันในครอบครัว เพราะฟรังเชื่อว่าสุดท้ายแล้วพ่อแม่ทุกคนต่างก็ อยากให้ลูกมีความสุขด้วยกันทั้งนั้น”

สำหรับนักเรียนแพทย์ปี 3 อย่างฟรัง เธอรู้สึกอย่างไรที่ผ่านพ้นช่วงเวลาอันแสนสาหัสมาได้อย่างไม่บุบสลาย “ต้องขอชมตัวเองบ้างค่ะว่า เก่งมากที่ผ่านมาได้ จนวันนี้เรียนหมอมาได้สามปีแล้ว อุปสรรคเยอะแต่เราก็สู้มาจนได้ ขอบคุณตัวเองที่อดทน ฟรังภูมิใจกับก้าวเล็กๆ ที่เราก้าวข้ามมาได้ค่ะ” ฟรัง Hormones

Never miss an update

Subscribe to our newsletter to get the latest updates.

No Thanks
You’re all set

Thank you for your subscription.